xs
xsm
sm
md
lg

ไฟใต้ในอุ้งมือ “คสช.” ?! / เมือง ไม้ขม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...เมื่อง  ไม้ขม
 
ภายหลังที่มีการรัฐประหารนั้น สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง แถมมีลักษณะที่เข้มข้นขึ้นเสียด้วย อันเป็นความรุนแรงที่มีการพุ่งเป้าหมายในยังทุกพื้นที่ที่เป็นสัญลักษณ์ทางเศรษฐกิจการค้า ทั้งในตัวเมือง และในชุมชน
 
เช่นเดียวกับที่เป้าหมายบุคคลก็ยังคงเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ อาสาสมัคร ชรบ. และอื่นๆ ร่วมทั้งเป้าหมายอ่อนแอที่เป็นประชาชนทั่วๆไป ทั้งที่เป็นไทยพุทธ และมุสลิม ซึ่งส่วนใหญ่ถูกมองว่าเป็นผู้ให้การช่วยเหลือต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ก็เป็นเครือญาติ หรือมีสายสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่รัฐ
 
แม้ว่า พล.ท.วิลิต โรจนภักดี แม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ ในฐานะ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะฉกฉวยโอกาสที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ เปิดเกมรุกต่อฝ่ายตรงข้ามในทุกพื้นที่ มีการจับกุมผู้ต้องสงสัย และผู้ที่มีหมายจับติดตัวจำนวนหนึ่งไปแล้ว
 
แต่ก็ยังไม่สามารถที่ทำให้การก่อเหตุร้ายเบาบางลง สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ยังเกิดขึ้นแบบรายวันๆ ละ 2-3 เหตุ ซึ่งสื่อนัยที่ชัดเจนว่า “ยุทธวิธี” และ “ยุทธการ” ต่างๆ ที่หน่วยงานความมั่นคงใช้อยู่ ณ ขณะนี้ ถือว่ายังไม่สามารถทำให้เป็นยาแก้โรคเรื้อรังที่เกิดขึ้นในชายแดนใต้ได้
 
ถ้าจะให้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ไฟใต้ ซึ่งเวลานี้นับเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะผู้บริหารประเทศชั่วคราว กำลังจะสรรหารัฐบาลชั่วคราวมารับไม้ต่อนั้น ต่อแต่นี้สถานการณ์ความไม่สงบในชายแดนใต้จะเดินไปในทิศทางไหน?!
 
สิ่งที่มองเห็นน่าจะเชื่อได้ว่า การใช้ “ยาแรง” โดยหน่วยงานความมั่นคงจะยังไม่สามารถทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้แน่นอน แต่กลับจะกลายเป็นช่องทางให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนนำไปขยายผลปลุกระดมต่อบรรดาแนวร่วมในพื้นที่ให้ก่อเหตุร้ายเพิ่มขึ้น
 
วิธีการที่เคยปฏิบัติการสืบต่อกันมานั่นคือ การวางกำลังป้องกันเหตุในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญๆ อย่างในเขตเทศบาลนคร หรือเทศบาลเมือง ซึ่งต้องมีแผนในการป้องกันเหตุร้ายหรือป้องกันพื้นที่ชนิดไม่ให้มีช่องว่างให้แนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนสามารถก่อเหตุร้ายได้นั้น ควรจะต้องมีการปรับรื้อโครงสร้างต่างๆ แบบไหน? หรืออย่างไร? เรื่องนี้เป็นสิ่งที่หน่วยงานความมั่นคงจะต้องดำเนินการให้สำเร็จโดยเร็ว!!
 
เนื่องเพราะหากยังปล่อยให้มีการปิดช่องว่าง หรือช่องโหว่อย่างที่ผ่านๆ มา การก่อเหตุร้ายถึงขั้นใช้คาร์บอมบ์ มอเตอร์ไซค์บอมบ์ หรือลอบวางเพลิงในพื้นที่เศรษฐกิจ และในย่านชุมชนเมือง ความเลวร้ายต่างๆ เหล่านี้ก็ยังจะเกิดขึ้นได้อีกแน่นอน
 
ประเด็นที่ต้องจับตามองใกล้ชิด และอาจจะเป็นตัวแปรสำคัญด้วย นั่นคือ ภาคประชาชนที่เคยรับบทเป็นมวลชนที่ดีให้แก่ภาครัฐนั้น ต่อไปอาจจะกลายเป็นวางเฉยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้สถานการณ์มีแต่จะลงเหวลงไปอีก
 
สิ่งที่ว่านี้เกิดขึ้นได้จากมีการปรับรื้อใหญ่ใน ศอ.บต. ซึ่งเบื้องต้นนี้ก็มีการย้าย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง พ้นจากเลขาธิการ ศอ.บต.ไปแล้ว โดยให้ไปกินตำแหน่งประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แล้วโยก นายภานุ อุทัยรัตน์ ย้อนกลับมานั่งเลขาธิการ ศอ.บต.เป็นคำรบสอง
 
สำหรับ นายภาณุ อุทัยรัตน์ เป็นที่คุ้นเคยกับปัญหาชายแดนใต้เป็นอย่างดี เพราะอยู่ในพื้นที่มาโดยตลอด เคยเป็นทั้ง ผอ.ศอ.บต.และเป็นเลขาธิการ ศอ.บต.คนแรก ที่ผ่านมา ก็ปฏิบัติการแก้ปัญหาไฟใต้ได้อย่างโดดเด่นมาโดยตลอด
 
เพียงแต่การหวนคืนสู่แผ่นดินปลายด้ามขวานของ นายภาณุ อุทัยรัตน์ ในครั้งนี้ โครงสร้างการบริหารงานภายในของ ศอ.บต.ไม่ได้เป็นเช่นที่เคยสัมผัสมาแล้ว แถมอำนาจ และงบประมาณภายใต้การกำกับของเลขาธิการ ศอ.บต.ก็ใช่ว่าจะเหมือนเดิม
 
มีสิ่งที่ชี้ให้เห็นในประเด็นของการเปลี่ยนแปลง คือ ต่อไปตัวของเลขาธิการ ศอ.บต.อาจจะต้องนั่งบริหารราชการอยู่ในส่วนกลาง โดยมี รองเลขาธิการ ศอ.บต.เป็นผู้รับผิดชอบภารกิจในพื้นที่แทน ทั้งนี้ ก็เพื่อปฏิบัติตามนโยบายอันเป็นไปตามความต้องการของ “ส่วนกลาง” นั่นเอง
 
รวมทั้ง ศอ.บต.ยุคที่ต้องอยู่ภายใต้อุ้งมือของ คสช.เวลานี้นั้น อาจจะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลในด้านนโยบายการแก้ปัญหาความไม่สงบของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งจะทำให้ ศอ.บต.มีลักษณะในการปฏิบัติการที่ไม่เหมือนเดิมเฉกเช่นในยุคของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ทั้งในเรื่องของนโยบาย งบประมาณ และอำนาจของเลขาธิการ ศอ.บต.
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสวมบทบาทของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง สมัยเป็นเลขาธิการ ศอ.บต.ได้สร้างมาตรฐานไว้สูงมากในทุกๆ ด้าน ที่จัดว่าโดดเด่นคือ เรื่องของการเยียวยาหรือให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน เขาทำได้อย่างทันท่วงที และเต็มที่ด้วย
 
ยังมีประเด็นที่สำคัญอีกคือ โดยบุคลิกส่วนตัวของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ที่เคยลุยงานในหน้าที่เลขาธิการ ศอ.บต.ได้แบบถึงลูกถึงคน และติดดินนั้น สิ่งนี้ได้กลายเป็นภาพลักษณ์ที่ติดตาคนชายแดนใต้ไปแล้ว จนถึงกับเรียกขานกันแบบติดปากว่า “เลขาของเรา”
 
เมื่อโครงสร้าง ศอ.บต.เปลี่ยนไป แถมอำนาจ หน้าที่ และงบประมาณที่ไม่เหมือนเดิม จนแทบจะเรียกได้ว่าไม่อาจที่จะใช้ พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 หรือที่มักเรียกกันว่า พ.ร.บ.ศอ.บต.ได้อย่างเต็มที่เหมือนในอดีต สิ่งเหล่านี้อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อคนในพื้นที่ขึ้นได้
 
เนื่องเพราะคนบนแผ่นดินปลายด้ามขวานต่างเชื่อกันไปแล้วว่า ศอ.บต.ในยุคที่อยู่ใต้ปีกโอบของ คสช. องค์กรที่ใกล้ชิดกับพวกเขาจะถูกทำให้ไม่เหมือนเดิมเป็นแน่
 
นอกจากนี้แล้ว ประเด็นของการ “พูดคุยสันติภาพ” ระหว่าง สมช.กับบีอาร์เอ็นฯ รวมถึงขบวนการอื่นๆ ที่มีอันต้องหยุดชะงักลงไปแล้วนั้น สิ่งนี้ก็อาจจะเป็นตัวแปรให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนในต่างประเทศที่ยังไม่สมประโยชน์หยิบไปเป็นเงื่อนไขปลุกระดมครั้งใหม่ขึ้นมาให้ อันจะนำไปสู่การสั่งการให้แกนนำ และแนวร่วมในพื้นที่ก่อเหตุร้าย เพื่อบีบให้มีการพูดคุย หรือเจรจารอบใหม่เกิดขึ้นให้ได้
 
ทั้งหมดเป็นเพียง “โจทย์” ที่ผู้รับผิดชอบในการดับไฟใต้ต้องนำไป “วิเคราะห์” ให้ชัดเจนในทุกประเด็น เพื่อที่จะทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างถูกทิศทาง ลดความสูญเสียต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนให้ได้มากที่สุด เพราะนั่นคือจุดหมายที่ประเทศชาติและประชาชนต้องการที่จะเห็น
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น