xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมนูญชั่วคราวเสร็จ คาดตั้งสนช.200-สภาปฏิรูป250

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (30มิ.ย.) นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คสช.ฝ่ายกฎหมาย ในฐานะหัวหน้าทีมร่างธรรมนูญปกครองชั่วคราว เปิดเผยว่า การจัดทำร่างธรรมนูญปกครองชั่วคราวดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ขณะนี้รอเพียง คสช. เรียกไปอธิบายรายละเอียดและชี้แจงในกรณี คสช.มีข้อสงสัย เนื่องจากคสช.ยังไม่เคยเห็นรูปร่างหน้าตาของธรรมนูญปกครองชั่วคราวเลย แต่ยังไม่รู้ว่าคสช.จะเรียกให้เข้าชี้แจงในวันไหน หรือเป็นไปได้ตนอาจไม่ต้องเข้าไปชี้แจงเองก็ได้ เพียงส่งร่างธรรมนูญปกครองชั่วคราวไป หากมีข้อสงสัยก็จะมีการสอบถามมา ซึ่งเบื้องต้นกำหนด ร่าง ธรรมนูญปกครองชั่วคราวไว้ 45 มาตรา แต่ก็ได้มีการเผื่อมาตราอื่นๆ สำรองไว้ส่วนหนึ่ง ถ้า คสช.เห็นว่าไม่จำเป็น ก็ตัดไป ซึ่งหากรวมกับที่สำรองไว้ไม่เกิน 50 มาตรา ส่วนจำนวนสัดส่วนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูป ก็มี 2 ตัวเลขให้ทาง คสช.พิจารณาข้อดีข้อเสียงและเพื่อตัดสินใจ โดยจำนวน สนช. 200 คน และสภาปฏิรูป 250 คน เป็นหนึ่งในตัวเลือก ทั้งนี้รายละเอียดของร่างธรรมนูญปกครองชั่วคราว คสช.จะเป็นผู้ชี้แจงเองทั้งหมด
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับร่างธรรมนูญชั่วคราวที่จัดทำเสร็จแล้วนั้นจะนำเข้าที่ประชุม คสช.ในวันที่ 2 ก.ค.นี้ และหากที่ประชุมพิจารณาแล้วไม่มีข้อแก้ไข ก็จะเตรียมขั้นตอนเพื่อดำเนินการนำขึ้นทูลเกล้าฯก่อนให้มีการประกาศใช้ต่อไปทันที โดยก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ได้เปิดเผยผ่านรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ”เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่าได้ดำเนินการยกร่างธรรมนูญฉบับชั่วคราวเสร็จสิ้นแล้ว กำลังพิจารณาตรวจสอบแก้ไขโดยผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ และนำเข้าพิจารณาในคณะคสช. อีกครั้งหนึ่ง โดยจะดำเนินการให้รวดเร็ว หากแก้ไขปัญหาข้อต่างๆ เสร็จ บ้านเมืองสงบเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ขึ้นทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อทรง พระปรมาภิไธย ให้มีผลบังคับใช้ภายในเดือนก.ค.นี้

**ประชาชนตอบรับแผนปรองดอง

เมื่อเวลา 14.00 น. วันเดียวกันนี้ ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก ฝ่ายยุทธการ (ผช.เสธ.ทบ.ฝยก.)ในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการทำงานของ ศปป. ว่า ศูนย์ปรองดองฯ มีการดำเนินการตามแผนงานที่ได้วางไว้ ซึ่งมีกิจกรรมหลัก 4 ประการ คือ
1. การคืนความสุขให้กับคนไทย ซึ่งจะได้เห็นว่ามีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งดนตรี กีฬา ขนบธรรมเนียบประเพณี
2.การลดหรือยุติความขัดแย้ง โดยได้มีการเชิญบุคคล และ กลุ่มดังกล่าวมาพูดทำความเข้าใจ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของความปรองดองสมานฉันท์ ทั้งที่เป็นรายบุคคล และกลุ่มก้อน ทั้งจัดเวทีสัมมนา และดำเนินการอย่างต่อเนื่องตามแบบแผน
3.ขยายความร่วมมือไปยังภาคประชาสังคม ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งคนไทยทุกคนต่างเห็นด้วยที่จะให้ประเทศไทยกลับไปมีความรักความสามัคคีเหมือนเดิม
4. การเก็บรวบรวมข้อมูล พร้อมกับส่งข้อมูลมายังส่วนกลางตามนบายของหัวหน้าคสช. และไม่ได้ชี้ถูกผิดเพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามแผนงาน คือสิ้นเดือนก.ค. จะรวบรวมข้อมูลให้เป็นหมวดหมู่ส่งไปให้กับสภาปฏิรูป
ทั้งนี้ ศปป. มีการประเมินผลและอยู่ในเกณฑ์พอใจ ทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือ ส่วนคลื่นใต้น้ำ ก็จะต้องอาศัยการพูดคุยและการทำความเข้าใจ ซึ่งตั้งเป้าหมายเอาไว้ ถ้าหากศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปสำเร็จ เราก็จะได้เห็นว่า นายกรัฐมนตรี นักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หรือ ฝ่ายค้าน ทุกคนต้องเดินได้ทุกตารางนิ้วในประเทศไทยนี้ ไม่ใช่เดินได้เฉพาะในภาคใดภาคหนึ่ง ต้องเดินให้ได้ในทุกพื้นที่ นายกรัฐมนตรี ต้องบริหารราชการได้ ส่วนส.ส.ก็จะต้องลงพื้นที่ดูแลประชาชนทุกกลุ่มก้อน นี่คือสิ่งที่เราปารถนา

** ปลดเปลื้อง"ฝังชิป"หมู่บ้านแดง

พล.ท.กัมปนาท กล่าวอีกว่า การดำเนินการสร้างความปรองดองอยู่ที่ความเชื่อใจ และเรามีการตรวจสอบอยู่ไม่ใช่เฉพาะกระทรวงมหาดไทย หรือ กระทรวงสาธารณสุข ในส่วนกองทัพเองก็มี ซึ่งจะลงพื้นที่ในแต่ละหมู่บ้าน 2-3 ครั้งว่ากลุ่มเป้าหมายดังกล่าวมีความจริงใจในการปรองดองหรือไม่ สิ่งที่ทำอยู่เป็นจุดเริ่มต้นของความปรองดองสมานฉันท์ เพราะเปิดโอกาสให้คนมาพูดคุยกันตั้งแต่กลุ่มเล็กๆ มาจนถึงกลุ่มใหญ่ ซึ่งขณะนี้จะไม่มีการเรียกให้ใครมารายงานตัวอีก เพราะงานทุกอย่างมีความก้าวหน้าไป 60-70 เปอร์เซ็นต์แล้ว และเราพยายามปรับไปตามสถานการณ์ โดยในส่วนของหมู่บ้านเสื้อแดง ก็มีการลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจ ซึ่งมองว่าชาวบ้านไม่ได้มีปัญหาแต่ที่สำคัญอยู่ที่แกนนำไปบอกข้อมูลที่ผิดๆ หรือ เป็นการฝังชิพในหัวของชาวบ้าน ทำให้เขาเข้าใจบางสิ่งบางอย่างที่คาดเคลื่อนไป
พล.ท.กัมปนาท กล่าวอีกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมามีการฝังข้อมูลด้านเดียว และปฏิเสธข้อมูลด้านอื่นๆ จึงต้องเข้าไปชี้แจงกับชาวบ้านเพื่อให้รับข้อมูลข่าวสารในหลายทาง ในส่วนของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยก็เช่นกันที่จะต้องไปอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจ ว่าประชาธิปไตยที่ถูกต้องคืออะไร ไม่ใช่เฉพาะแค่การเดินไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง หรือต้องเคารพเสียงข้างมาก นี่ถือเป็นเปลือกนอกของระบอบประชาธิปไตย แต่ในส่วนของเปลือกในของระบอบประชาธิปไตยคืออะไร
"สิ่งเหล่านี้จะต้องให้เขาเรียนรู้เหมือนกับเรื่องสถาบันก็จะต้องเข้าไปชี้แจง ว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องและอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง ท่านไม่ได้เลือกที่รักมักที่ชัง แต่ปัญหาต่าง ๆ มีคนเอาสถาบันฯ และ ม.112 ไปเกี่ยวข้อง และสร้างความเกลียดชังจนทำให้เกิดความขัดแย้ง และจากการรับฟังความคิดจากทุกฝ่ายก็ไม่มีใครเสนอให้แก้ไข ม.112 อย่างกรณีของนายโจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าว บีบีซี ที่มาสัมภาษณ์ เขาก็ได้สอบถามในประเด็น ม.112 ซึ่งผมได้ถามไปว่า ในประเทศของคุณมีกฎหมายที่ปกป้องประธานาธิบดีหรือไม่ ซึ่งทุกประเทศมีกฎหมายที่คุ้มครองผู้นำทั้งหมด แต่พอประเทศของผมมี คุณก็มาว่า ซึ่งผมว่ามันไม่ถูกต้อง มันไม่ใช่ ในแต่ละประเทศก็จะต้องมีศักดิ์ศรีของประเทศเขา ไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องเป็นแบบนี้หมดมันไม่ใช่การจัดระเบียบโลก บ้านเรามีสติปัญญาคิดเองเป็น แก้ปัญหาเองได้ และก็มีความเป็นประชาธิปไตย" พล.ท.กัมปนาท ระบุ

** แห่ร้องคสช.ช่วยแก้ปัญหา

เมื่อเวลา 08.03 น. วานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินทางเข้ากองบัญชาการกองทัพบก เพื่อประชุมสรุปงานและติดตามงานฝ่ายต่างๆ ขณะเดียวกัน นางมณีรัตน์ ชาญชัยศิลป์ แกนนำสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด (สคจ.) พร้อมสมาชิกเดินทางยื่นหนังสือถึงหัวหน้าคสช. เนื่องจากมีสมาชิกกว่า 56,000 คน ที่เดือดร้อน เพราะ สคจ. ขาดสภาพคล่องรุนแรงจนถึงเป็นองค์กรที่มีหนี้สิน โดยสมาชิกทั้งหมดไม่สามารถเบิกถอนได้มาเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว ดังนั้นจึงขอให้คสช. เร่งเยียวยาสมาชิก พร้อมสั่งให้ธนาคารของรัฐ เข้ามากำกับดูแลสคจ. แล้วเปลี่ยนเป็นธนาคารรายย่อยเพื่อชุมชน ให้สมาชิกเบิกถอนตามปกติ ขอให้พิจารณาสอบสวนข้าราชการที่มีหน้าที่ตรวจสอบ กำกับดูแลกิจการ สคจ. ผู้มีส่วนได้เสีย ได้รับการลงโทษทั้งทางแพ่ง อาญา และทางวินัยต่อไป
นอกจากนี้ นายคึกฤทธิ์ เต็มฟอม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบึงนคร อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วยสมาชิกในตำบล เดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ให้เร่งแก้ไขปัญหาเร่งด่วน เพราะมีอำนาจสั่งการในขณะนี้ เนื่องจากไม่มีไฟฟ้าใช้มานานกว่า 50 ปี อีกทั้งไม่มีถนนลาดยางอำนวยความสะดวกด้านการสัญจรไปมา ทั้งที่ในตำบล มีสถานที่ราชการทั้งโรงเรียน สถานีอนามัย รวมถึงมีประชากรกว่า 2,200 ครัวเรือน จาก 12 หมู่บ้าน ทั้งนี้ มีการอ้างว่าพื้นที่ในตำบล เป็นเขตปลอดราชการทหาร ของค่ายธนรัตน์ ปราณบุรี จึงไม่มีหน่วยราชการเข้ามาติดตั้งระบบไฟฟ้าให้
ขณะเดียวกัน ชาวบ้านจากตำบลโนนหมากนุ่น อ.โคกสูก จ.สระแก้ว ซึ่งติดกับชายแดน เข้าเรียกร้องขอความเป็นธรรมต่อ คสช. ภายหลังมีบริษัทเอกชนของไทยและกัมพูชา เข้ามานำพื้นที่ทำนาไปเปิดตลาดจุดผ่อนปรนแบบถาวร โดยไม่สอบถามหรือติดต่อขอซื้อแปลงนากว่า 100 ไร่
ขณะที่ นายสุนทร นิคมรัชน์ นายกสมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย และสหกรณ์เครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อโคขุน ทั่วประเทศ ได้เข้ายื่นหนังสือถึง หัวหน้าคสช. ให้เร่งรัดแก้ปัญหาการขาดแคลนโคเนื้อในประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อโคขุน ผู้ประกอบการแปรรูปโรงฆ่าสัตว์ และผู้ขายเนื้อโค ไม่ได้รับการดูแลจากรัฐบาล จึงทำให้ขาดแคลนโคเนื้ออย่างรุ่นแรง จนทำให้มีราคาแพงจนเกษตรกรไม่สามารถซื้อโคเนื้อ และโคขุนมาเลี้ยงได้ จนต้องนำเข้าเนื้อวัวจากต่างประเทศ จึงขอร้องเรียนให้หัวหน้าคสช. แก้ไขปัญหาการขาดแคลนโคเนื้อ โดยกำหนดให้ มีการพัฒนาอุตสาหกรรมโคเนื้อทั้งระบบให้เป็นว่าระแห่งชาติ และจัดตั้งกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมโคเนื้อ ปรับปรุง แก้ไขกฎหมาย และระเบียบต่างๆ ให้สอดคล้อง และเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างแท้จริง โดยมี ร.อ.ชวลิต บุญมณี นายทหารเวร เป็นผู้รับหนังสือดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น