หน.ปชป.แจงถก “คริสตี” รับห่วงความสัมพันธ์สหรัฐฯ ไม่เข้าใจสถานการณ์ ยกเหตุอียิปต์เทียบ เชื่อฟังความเห็นน่าจะเข้าใจ คาดรายงานค้ามนุษย์เสร็จแล้วแต่ไม่ทราบผล ชี้ถูกลดอันดับกระทบส่งออกซ้ำเติมเพิ่ม โยนถาม คสช.เป็นเหตุให้จัดระเบียบแรงงานหรือไม่ ชี้วางระบบแก้ไฟใต้ไม่ชัด ย้ำใช้ กม.คู่กับพัฒนา ให้ทบทวนบทเรียนเจรจา แนะสภาปฏิรูปไม่ควรมีคนที่มีส่วนได้เสีย
วันนี้ (20 มิ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเข้าพบของนางคริสตี เอ. เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยเข้าพบว่า ได้มาพูดคุยถึงสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งตนได้เน้นว่าเป็นห่วงความสัมพันธ์สองประเทศที่อาจกระทบจากการแสดงท่าทีที่เหมือนกับไม่เข้าใจสถานการณ์ในไทย เมื่อเทียบกับท่าทีสหรัฐฯ กับการเปลี่ยนแปลงในประเทศอียิปต์ เพราะถ้าคนไทยเริ่มมีความรู้สึกไม่เข้าใจก็จะไม่เป็นผลดี อีกทั้งต่อจากนี้จะมีรายงานเกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์ด้วย จึงฝากเป็นข้อสังเกตว่า หวังว่าจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเดินหน้าต่อไปได้ และต้องติดตามว่า คสช.จะกลับสู่กระบวนการประชาธิปไตยปกติอย่างไร ทั้งนี้ตนเชื่อว่าทูตสหรัฐฯ มีโอกาสรับฟังความเห็นจากหลายฝ่ายน่าจะเข้าใจถึงความยากลำบากของสถานการณ์ที่นำประเทศมาสู่จุดนี้
สำหรับรายงานการค้ามนุษย์ที่สหรัฐฯ กำลังดำเนินการจะมีผลกระทบต่อการลดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ซึ่งจะกระทบต่อบัญชีรายชื่อสินค้าที่ถูกกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ กล่าวหาว่าเกี่ยวพันกับการค้ามนุษย์นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า รายงานในเรื่องนี้คงจัดทำเสร็จแล้วแต่ยังไม่ทราบว่าผลจะเป็นอย่างไร หากถูกลดอันดับลงก็จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้เกี่ยวข้องพยายามแก้ไขกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่ล่าสุดมีการนำเสนอรายงานเกี่ยวกับปัญหาการใช้แรงงานในภาคประมงในยุโรปด้วยทำให้มีความยากลำบากมากขึ้น ส่วนกรณีนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ คสช.เข้ามาจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวหรือไม่นั้นคงต้องถาม คสช.
“แต่ คสช.ก็มีภาระหนัก เพราะเมื่อมีการนำเสนอข้อมูลออกไปในต่างประเทศ การจัดระเบียบจึงหนีไม่พ้น หากถูกลดอันดับก็จะถูกลงโทษหรือตอบโต้ในแง่การค้า การลงทุน และอาจจะไม่จำกัดอยู่แค่ที่สหรัฐฯ เนื่องจากมีข่าวว่ายุโรปก็มีการนำเสนอในเรื่องนี้ด้วย ผมจึงได้แสดงความห่วงใยในเรื่องนี้และฝากให้ทูตสหรัฐฯ ไปพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความเข้าใจที่ดีต่อกันเพื่อให้ความสัมพันธ์ราบรื่น และได้ให้ข้อสังเกตไปแล้วว่าหากมีการลดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์อีกอาจจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์มากขึ้น” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ปรับโครงสร้างการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ใหม่ว่า ยังต้องติดตามดูว่าจะมีการวางระบบอย่างไร เพราะยังไม่ชัดเจนว่าความสัมพันธ์ในโครงสร้างดังกล่าวกับ ศอ.บต.เป็นอย่างไร เนื่องจากดูแล้วเหมือนเป็นการจัดโครงสร้างเฉพาะฝ่ายมั่นคงโดยยึดกฎหมายความมั่นคง แต่การทำงานจะต้องควบคู่กับการพัฒนา ซึ่งในส่วนของ ศอ.บต.มีกฎหมายรองรับให้บทบาทที่ครอบคลุมมากขึ้น แต่ในโครงสร้างใหม่ยังไม่ชัดเจนว่า ศอ.บต.อยู่ตรงไหน จึงอยากฝากว่าการแก้ปัญหาจำเป็นต้องไปด้วยกัน เพราะกฎหมาย ศอ.บต.มีกลไกหลายอย่างที่จะช่วยให้ประชาชนมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมได้รับความเป็นธรรมในหลากหลายมิติมากขึ้น
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า กฎหมาย ศอ.บต.มีกลไกที่จะดึงภาคประชาสังคมในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในหลายเรื่อง และมีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการให้เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติกับประชาชนอย่างเป็นธรรม เนื่องจาก ศอ.บต.มีอำนาจในการให้คุณให้โทษกรณีเจ้าหน้าที่ทำให้เกิดปัญหา ส่วนการเจรจานั้นก็ต้องดูว่ารูปแบบจะเหมือนและแตกต่างจากเดิมอย่างไร เป็นเรื่องที่คนทำงานต้องไปกำหนดแนวทางเพราะไม่ทราบว่าการพูดคุยไปถึงขั้นไหน เมื่อมีนโยบายว่าจะคุยทั้งในทางลับและทางเปิดเผยก็ต้องทบทวนจากบทเรียนที่ผ่านมาด้วย โดยหวังว่า คสช.จะเก็บเกี่ยวบทเรียนจากปัญหาที่ผ่านมา เพราะการเน้นเรื่องเจรจาเปิดเผย หรือพูดคุยเร็วเกินไปจนเปิดช่องให้มีการยื่นข้อเสนอที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนทำให้การเดินหน้าสร้างความไว้วางใจและการสร้างบรรยากาศในการพูดคุยในพื้นที่ทำได้ยาก แต่เมื่อเดินหน้ามาแล้วก็ต้องทบทวนว่าจะทำอย่างไรไม่ให้กระทบสิ่งที่ทำมาและแก้ไขสิ่งทีผิดพลาดด้วย
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวต่อถึงกรณีที่หัวหน้า คสช.ระบุถึงองค์ประกอบในสภาปฏิรูปว่าจะมีคู่ขัดแย้งร่วมด้วยว่า ยังไม่ทราบวิธีการได้มาและโครงสร้าง แต่เห็นว่าต้องระมัดระวังเพราะสภาปฏิรูปจะมาทำเรื่องกติกาใหม่ อย่างน้อยที่สุดใครจะเข้าไปทำงานในสภาปฏิรูปไม่ควรเป็นคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผลจากกติกาใหม่ในอนาคต คือใครก็ตามที่จะไปทำงานนี้ก็ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าจะต้องไม่มาดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นระยะเวลาเท่าไหร่ เพราะที่ผ่านมาข้อเรียกร้องของประชาชนต้องการให้การปฏิรูปประเทศปลอดจากคนที่มีส่วนได้เสีย ดังนั้นใครที่จะเข้าไปก็ต้องชัดว่าไม่มีส่วนได้เสียในการกำหนดกติกาใหม่ เพื่อสร้างหลักประกันในการปฏิรูปประเทศ หากยึดหลักนี้ก็จะไม่มีปัญหา