xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายปฏิรูปแถลง 4 ข้อ “สุรเกียรติ์” ชี้ต้องให้คู่ขัดแย้งรู้สึกได้ร่วม “กิตติพงษ์” แนะ คสช.อย่าสร้างปมเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เครือข่ายปฏิรูปแถลง 4 ข้อ ชี้คนออกแบบต้องเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างปฏิรูปกับปรองดอง ให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ยันเดินหน้าต่อร่วมกับภาคสังคม สร้างเวทีกลางระหว่างภาคี “สุรเกียรติ์” ระบุต้องฟังเหตุผล มองทุกคนเท่าเทียม ให้คู่ขัดแย้งรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกระบวนการ “กิตติพงษ์” หวัง คสช.ไม่สร้างปมเพิ่ม

วันนี้ (11 มิ.ย.) ที่โรงแรมเดอะสุโกศล เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป นำโดยนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ, นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และเครือข่ายจากภาคส่วนต่างๆ ร่วมจัดเวทีความคิดเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 6 หัวข้อ “พลังสังคมเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปอย่างมีส่วนร่วม”

ก่อนเริ่มเวทีเสวนา นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ในฐานะสมาชิกเครือข่าย อ่านแถลงการณ์ของเครือข่าย ว่า 1. เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปมีจุดยืนต่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศให้เดินหน้า เพื่อสร้างความเป็นธรรม สร้างความปรองดอง สร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งให้เศรษฐกิจและสังคม และสร้างรากฐานที่เข็มแข็งสำหรับการพัฒนาประเทศในอนาคต 2. การปฏิรูปที่จะเกิดขึ้นอยู่ในระหว่างความขัดแย้ง ดังนั้นการออกแบบการปฏิรูปต้องเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ดังนั้นต้องมีการออกแบบกระบวนการปฏิรูปที่เหมาะสม เพื่อเป็นความหวังร่วมกันของคู่ขัดแย้งทุกฝ่าย

3. ต้องยึดหลักการของการปฏิรูปประเทศที่สำคัญคือให้ทุกฝ่ายและทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นและขับเคลื่อนการปฏิรูป เพื่อให้การปฏิรูปอยู่บนพื้นฐานความปรองดองและบูรณาการ รวมถึงองค์กรหลักระดับชาติที่รับผิดชอบงานด้านการปฏิรูปต้องมีสมาชิกที่หลากหลายที่สะท้อนถึงความแตกต่างทางความคิดในสังคมไทยอย่างมีสมดุลและร่วมทำงานกับภาคีเครือข่ายด้านการปฏิรูปต่างๆ 4. เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนการปฏิรูปโดยร่วมกับภาคสังคม และมีความเป็นอิสระจากภาคการเมืองหรือภาครัฐ ทั้งนี้มีแนวทางทำงานที่สำคัญ คือ นำเสนอองค์ความรู้ ข้อมูล ความเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดตั้งองค์กรและกลไกการปฏิรูป เพื่อให้ข้อมูลและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสาธารณะ สื่อมวลชนรวมทั้งสังคมระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้นจะสร้างเวทีกลางระหว่างภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนการปฏิรูปต่างๆ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความเห็น และแสวงหาข้อสรุปสำหรับการปฏิรูปด้านต่างๆ ร่วมกันก่อนนำเสนอต่อสาธารณะและองค์กรปฏิรูประดับชาติ และที่สำคัญทางเครือข่ายจะติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลความก้าวหน้าและผลสัมฤทธิ์ของการขับเคลื่อนการปฏิรูปขององค์กรปฏิรูประดับชาติและข้อเสนอแนะอย่างสร้างสรรค์

นายสุรเกียรติ์กล่าวว่า การรวมตัวของ 70 องค์กรเป็นเครือข่ายปฏิรูปนั้นเห็นด้วยกับแนวทางการปฏิรูปประเทศ โดยพื้นฐานสำคัญของการปฏิรูปต้องมีความปรองดองก่อน ทุกคนต้องมองคนอื่นอย่างเท่าเทียม อยู่ร่วมกันได้บนความเห็นที่ต่างกัน รับฟังเหตุและผล เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปเห็นว่าคนทุกคนต้องรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการในการปรองดอง ผู้นำการเจรจาต้องได้รับการยอมรับโดยอาจนำโดยเครือข่ายหรือองค์กร

“การปฏิรูปครั้งนี้เป็นการปฎิรูปบนความขัดแย้งที่ยาวนานและยังไม่ได้ข้อยุติ และต่างจากการปฏิรูปในสมัยอดีตที่ผ่านมา เพราะทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าประเทศไทยต้องการปฏิรูป โดยมีหลักการ คือ ภาคประชาสังคม ต้องทำให้เห็นว่าประชาชนที่เป็นคู่ขัดแย้งรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของในการเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความปรองดอง และกระบวนการปรองดองต้องมีรูปแบบหลากหลาย เพื่อสอดคล้องกับความแตกต่างทางสังคม” นายสุรเกียรติ์กล่าว

ด้านนายกิตติพงษ์กล่าวว่า ปัญหาที่ผ่านมาของประเทศไทยคือ การไม่มีความพร้อมและไม่มีบรรยากาศในการพูดคุยกับความเห็นที่แตกต่าง จึงต้องทำให้ทุกฝ่ายร่วมกันให้ความสำคัญต่อการปฏิรูปในระยะยาว การออกแบบการปฏิรูปจึงต้องยึดจุดเด่น คือให้การปฏิรูปเป็นความหวังของคนทุกฝ่าย ทำความเข้าใจกระบวนการที่จะนำประเทศไปสู่ความปรองดอง อาจต้องยอมให้อภัยในบางเรื่องและต้องมีบทลงโทษในเรื่องที่ให้อภัยไม่ได้ ซึ่งทางออกที่ดีในขณะนี้คือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะต้องไม่เป็นคู่ขัดแย้งเพิ่มเติม แต่ต้องเข้ามาเพื่อแสวงหาทางออกและจัดการปัญหาให้ก้าวไปข้างหน้า

ขณะที่นายแพทย์สมศักดิ์เห็นว่า โรดแมปของการปฏิรูปต้องไม่มองเป้าหมายเพียงแค่ปฏิรูปการเมือง แต่ต้องมองไปถึงการแก้ปัญหาโครงสร้างความเดือดร้อนของประชาชน ที่ต้องไม่ถูกอำนาจรัฐรังแก ส่วนกลไกการปฏิรูปต้องดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง











กำลังโหลดความคิดเห็น