ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - การรถไฟฯ มีคำสั่งรับ 6 พนักงานรถไฟประจำสาขาหาดใหญ่ ที่ถูกไล่ออกจากกรณีออกมาชุมนุมเรียกร้องด้านความปลอดภัยการเดินรถไฟ เมื่อปี 2552 กลับเข้าทำงานตามเดิม ตามมติของคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์การรถไฟแห่งประเทศไทย ที่เห็นว่าทั้ง 6 คนทำไปเพื่อปกป้องภาพลักษณ์ของการรถไฟฯ และเพื่อความปลอดภัยของขบวนรถ มิใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตน ขณะที่แกนนำภูมิใจที่ได้ต่อสู้เพื่อความถูกต้อง และได้รับความเป็นธรรมหลังต่อสู้มานาน 4 ปี 7 เดือน และสวมเครื่องแบบกลับเข้าทำงานเป็นวันแรก
วันนี้ (19 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มีคำสั่งรับ 6 พนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ประจำสาขาหาดใหญ่ กลับเข้าทำงานตามเดิมแล้ว ประกอบด้วย นายธวัชชัย บุญวิสูตร ช่างเครื่อง 5 นายสรวุฒิ พ่อทองคำ ช่างเครื่อง 5 นายสาโรจน์ รักจันทร์ ช่างเครื่อง 5 นายประชานิวัฒน์ บัวศรี พนักงานรถจักร 6 นายวิรุฬห์ สะแกคุ้ม พนักงานรถจักร 6 และนายนิตินัย ไชยภูมิ นายสถานีบางกล่ำ
หลังที่การรถไฟฯ มีคำสั่งไล่ออกเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2552 ฐานละทิ้งหน้าที่ ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่สั่งการโดยชอบ และประพฤติชั่วรายแรง กรณีที่ออกมารวมตัวชุมนุมเรียกร้องให้การรถไฟฯ ปรับปรุงระบบความปลอดภัยการเดินรถ โดยเฉพาะหัวรถจักร เมื่อเดือนตุลาคม 2552 ส่งผลให้การเดินรถไฟสายใต้บางขบวนต้องหยุดชะงักนานนับเดือน และเป็นข่าวใหญ่ในช่วงดังกล่าว ทั้งนี้ การรถไฟฯ ได้มีคำสั่งให้ทั้ง 6 คนกลับเข้าทำงานตามเดิมเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
และในวันนี้เป็นวันแรกที่พนักงานรถไฟ 5 คนได้สวมเครื่องแบบเข้าทำงานตามปกติที่ต้นสังกัดเดิม สาขาหาดใหญ่ ในตำแหน่งเดิม และอัตราเงินเดือนเท่าเดิม ยกเว้น นายนิตินัย ไชยภูมิ นายสถานีบางกล่ำ ที่อยู่ระหว่างการเข้ารายงานตัว
โดยในคำสั่งของการถไฟฯ ที่รับพนักงานรถไฟทั้ง 6 คนกลับเข้าทำงาน เป็นผลมาจากที่ประชุมคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์การรถไฟฯ ครั้งที่ 9/2556 เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2556 ได้พิจารณาคำร้องอุทธรณ์ของทั้ง 6 คน เห็นว่าการกระทำของทั้ง 6 คน เกิดจากการร่วมชุมนุมรณรงค์ชี้แจงเกี่ยวกับระบบความปลอดภัยที่เรียกว่าระบบวิจิแลนด์ หรือระบบเบรกอัตโนมัติชำรุดไม่สามารถใช้การได้ เป็นการดำเนินการเพื่อเรียกร้องให้การรถไฟฯ ในฐานะนายจ้างปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และเพื่อมิให้พนักงานการรถไฟฯ ในฐานะลูกจ้างต้องปฏิบัติหน้าที่บนความเสี่ยง อันอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง ดังเช่นที่ อ.เขาเต่า จ.ประจวบคีรีขันต์
และเพื่อเป็นการปกป้องภาพลักษณ์ของการรถไฟฯ และพนักงานการรถไฟฯ อีกทั้งการดำเนินการดังกล่าวมิใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ประกอบกับเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2552 พนักงาน และสมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟสาขาหาดใหญ่ ได้ประชุมร่วมกับฝ่ายบริหารบ้านเมือง และฝ่ายบริหารงานของการรถไฟฯ สรุปสาระสำคัญว่า “เพื่อสร้างแรงงานสัมพันธ์อันดี การที่พนักงาน หรือสมาชิกสหภาพแรงงานรถไฟสาขาหาดใหญ่ ไม่ได้นำรถจักรออกไปทำขบวน และไม่ได้ขัดขวางการเดินรถ แต่พนักงาน และสมาชิกสหภาพฯ ปฏิบัติตามข้อบังคับ และระเบียบการเดินรถ พ.ศ.2549 และข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ข้อ 14 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2545 โดยมีเจตนาที่ดีกระทำไปเพื่อความปลอดภัยของขบวนรถ”
หลังจากที่มีบันทึกตกลงดังกล่าว ทางสหภาพแรงงานฯ และพนักงานได้ปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ดังนั้น จึงเห็นควรยกเว้นความผิดตามประมวลการลงโทษผู้ปฏิบัติงานฯ พ.ศ.2547 ข้อ 4 ฉะนั้นอาศัยอำนาจตามความในข้อบังคับการรถไฟฯ ฉบับที่ 3.1 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2529 ข้อ 8.2 จึงให้ยกเลิกคำสั่งไล่พนักงานของการรถไฟทั้ง 6 คนออก และให้กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิมอัตราเงินเดือนเท่าเดิม และให้ได้รับเงินเดือนในระหว่างที่ถูกไล่ออกจากงาน
นายวิรุฬห์ สะแกคุ้ม พนักงานรถจักร 6 หนึ่งในพนักงานรถไฟ และแกนนำชุมนุมเรียกร้องความปลอดภัย กล่าวว่า ดีใจที่ได้กลับเข้ามาทำงานอีกครั้ง และได้รับความเป็นธรรมจากการต่อสู้มาตลอดระยะเวลา 4 ปี 7 เดือน จนนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลง และพัฒนารถไฟไทยไปในทางที่ดีขึ้น เช่น รถไฟได้รับงบประมาณเพิ่มเติม มีการรับพนักงานเพิ่ม และพวกตนได้รับความเป็นธรรมจากการออกมาเรียกร้องในเรื่องของความปลอดภัย ซึ่งเป็นหัวใจของการเดินรถไฟ โดยหลังจากนี้จะตั้งใจทำงานเพื่อการรถไฟฯ สำหรับ นายวิรุฬ นอกจากจะได้กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิมแล้ว ยังได้แต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟด้วย