ตรัง - กลุ่มอนุรักษ์หอยนางรมบ้านแหลม ประสบความสำเร็จเรื่องคุณภาพ จนเป็นที่นิยมในท้องตลาดระดับประเทศ หลังจาก ม.ราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง เข้ามาช่วยหาวิธีการเพาะขยายพันธุ์ให้เพิ่มขึ้น ทำให้มีหอยนางรมส่งขายได้ตลอดทั้งปี มีรายได้งาม
นายมะเสน เตะเส็น ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 3 บ้านแหลม ตำบลวังวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง กล่าวว่า กลุ่มอนุรักษ์หอยนางรมบ้านแหลม จัดตั้งขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 2537 ปัจจุบันมีประมาณ 100 กระชัง แต่ถึงแม้จะเป็นที่นิยมของท้องตลาด ทั้งในจังหวัดตรัง เมืองท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต รวมทั้งกรุงเทพฯ หรือไปไกลถึงต่างประเทศ แต่ทิศทางการเติบโตของกลุ่มยังไม่เดินหน้าไปก้าวไกลมากพอ เนื่องด้วยข้อจำกัดในหลายอย่าง เช่น ชุมชนตั้งอยู่ห่างไกลตัวเมือง สภาพน้ำทะเลที่ขึ้นลงแตกต่างกันมากถึง 2 เมตร หรือเกิดภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง
ดังนั้น จึงส่งผลให้ลูกพันธุ์หอยนางรมมีจำนวนลดลง และทำให้มีผลผลิตเพื่อจำหน่ายลดลง จากปีละหลายหมื่นตัว กลับเหลือปีละไม่เกิน 10,000 ตัว สร้างความเดือนร้อนต่ออาชีพการเลี้ยงหอยนางรมของชาวบ้านแหลม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง นำโดย รศ.ดร.สุวัจน์ ธัญรส ซึ่งได้ลงมารับฟังปัญหาจากชุมชนอย่างต่อเนื่อง และเล็งเห็นว่าลูกพันธุ์หอยนางรมในธรรมชาติไม่เพียงพอต่อการใช้ประโยชน์ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพน้ำในลุ่มน้ำปะเหลียน
เนื่องจากได้ทำให้เกิดผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของลูกหอยนางรมในระยะฟักตัว และมีอัตรารอดน้อยลงเมื่อเทียบกับในอดีต ด้วยเหตุนี้ การทดลองเพาะขยายพันธุ์หอยนางรม ในระบบโรงเพาะฟัก เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของชาวบ้านจึงเกิดขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณการศึกษาวิจัย จากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา จนค้นพบเทคนิคที่ทำให้หอยนางรมมีอัตรารอดสูง มีต้นทุนในการอนุบาลต่ำ และยังเพาะพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี แม้ไม่ใช้ฤดูกาลสืบพันธุ์
อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพอันอุดมสมบูรณ์อย่างมากของธรรมชาติ ในบริเวณหน้าอ่าวบ้านแหลม ที่กว้างประมาณ 500 เมตร ซึ่งเป็นแหล่งอนุรักษ์ป่าชายเลนผืนใหญ่ที่สุดของอำเภอกันตัง ช่วยให้เกิดการขยายพันธุ์ และเจริญเติบโตของหอยนางรม จนขายได้ในราคาส่งตัวละ 15-20 บาท แต่หากไปอยู่ตามร้านอาหารชื่อดังแล้ว จะมีราคาเพิ่มขึ้นเป็นตัวละ 80-100 บาทเลยทีเดียว ทำให้มียอดการสั่งซื้อหอยนางรมบ้านแหลม เข้ามาอย่างต่อเนื่อง วันละ 400-500 ตัว โดยเฉพาะช่วงเทศกาล จึงสร้างรายได้ให้แต่ละครอบครัวไม่ต่ำกว่าวันละ 500-1,000 บาท