xs
xsm
sm
md
lg

ปึ้งตะแบงกอดเก้าอี้รองนายกฯ หลวงปู่ฯร่นวันไปหัวหิน12พ.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครม.ถกแบ่งงานรองนายกฯแทนรมต.ที่ถูกสอย "ปึ้ง" ดื้อตาใส กอดเก้าอี้รองนายกฯต่อ อ้างช่วงลงมติเด้ง "ถวิล" ตามคำวินิจฉัยศาล รธน. เป็นแค่ รมว.ต่างประเทศ อาฆาตศาลฯหลังเลือกตั้งเจอปฏิรูปแน่ ด้าน พท.ออกแถลงการณ์ถล่มศาลรธน. ขณะที่ กอ.รมน.ห่วง ผอ.ศอ.รส.ไม่มีอำนาจสั่งการคุมม็อบ แฉ"เหลิม" เซ็นต์ใบลาออกล่วงหน้าแล้ว "ธาริต" ยัน คำตัดสินศาลรธน.ไม่กระทบงาน ศอ.รส. ระบุ"ชัยเกษม" ทำหน้าที่ต่อได้ "สุเทพ" ดีเดย์ชุมนุมใหญ่วันนี้ "หลวงปู่ฯ" ยันช่วยกำนันปิดเกมให้เสร็จ คาดภายใน 11 พ.ค. พร้อมเลื่อนวันไปหัวหินเป็น 12 พ.ค. เพื่อเจริญพุทธมนต์ แต่หากเกมยื้อ คงกำหนดเดิม16 พ.ค. ถวายคืนพระราชอำนาจ

หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นสถานภาพการเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มิชอบ

เมื่อวานนี้ (8พ.ค.) ได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีในส่วนที่เหลือ เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องการกำกับ การบริหารราชการ และการสั่งการปฏิบัติราชการ

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังประชุมว่า เนื่องจากมีรองนายกรัฐมนตรี 4 ท่าน ที่เป็นประเด็น ตามคำวิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ถือว่าพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ โดยอยู่ในขั้นตอนที่มอบให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้การบริหารราชการแผ่นดินติดขัด จึงได้มีการมอบหมายงาน โดย นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล จะดูงานด้านเศรษฐกิจ ในส่วนของ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง นายยุคล ลิ้มแหลมทอง จะดูงานด้านสังคม ในส่วนของ นายปลอดประสพ สุรัสวดี ส่วนตนจะดูงานด้านความมั่นคง ด้านต่างประเทศ ในส่วนของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก และ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รวมทั้งตำแหน่ง รมว.กลาโหม และประธานที่ปรึกษาศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ศอ.รส.) ซึ่งภาระของรองนายกฯทั้ง 4 คน จะมีผู้ดูแลต่อเนื่อง ในขณะที่คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาความเป็นรัฐมนตรีของรองนายกฯเหล่านี้

สำหรับตำแหน่งเลขาธิการนายกฯนั้น ที่ประชุมเห็นชอบคือ นายสุรนันท์ เวชชาชีวะ รวมทั้งตำแหน่งรองเลขาฯ คือ พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง ซึ่งต้องส่งเรื่องและรอความเห็นชอบจาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

**"ปึ้ง" ดื้อตาใสกอดเก้าอี้รองนายกฯต่อ

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) กล่าวว่า วันนี้ตนเดินทางมาร่วมประชุม และสังเกตการณ์ที่ ศอ.รส. ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ถึงแม้การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญให้ตนพ้นสภาพการเป็นรัฐมนตรีก็ตาม และอาจจะมีการแต่งตั้งให้ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รักษาการรองนายกรัฐมนตรี มาช่วยที่ ศอ.รส.อีกตำแหน่งหนึ่งก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในวันที่ 6 ก.ย.54 ซึ่งขณะนั้นตนเป็น รมว.ต่างประเทศ เพียงตำแหน่งเดียว หลังจากนั้น มีการปรับครม. ในวันที่ 28 ต.ค.55 ตนได้รับการโปรดเกล้าฯให้เป็นรองนายกรัฐมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่ง เพราะฉะนั้น การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า ตนพ้นจากตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศเพียงตำแหน่งเดียว แต่ยังคงเป็นรองนายกรัฐมนตรี เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรี ที่ศาลตัดสินให้พ้นสภาพ แต่ท่านยังคงมีตำแหน่ง รมว.กลาโหม อีกตำแหน่งหนึ่งอยู่

"ศาลควรชี้ให้ชัด ที่ศาลบอกว่าถ้าผมไปฆ่าคน เท่ากับมีคดีติดตัว แต่จะไปเปรียบเทียบกับคดีอาญาไม่ได้ การตัดสินของศาลไม่ชัดเจน เพราะผมยังคงเป็นรองนายกรัฐมนตรีอยู่ ที่กำกับดูแล กระทรวงวิทยาศาสตร์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานควบคุมการวิจัย และกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งต้องทำหน้าที่ต่อไป ถ้าไม่ทำ ก็จะมีคนไปร้องเรียนอีกว่า ผมละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ทุกวันนี้ก็สงสัยตัวเองอยู่เหมือนกันว่า จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ทั้งการเป็นประธานที่ปรึกษา ศอ.รส. นั้น เป็นการแต่งตั้งโดยตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี"

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ขอฝากถึงคนที่คิดล้มรัฐบาล เมื่อได้ฟังที่ตนให้สัมภาษณ์ คงต้องไปร้องเรียนแน่นอน ก็เป็นเรื่องดี ที่ตนจะได้มีโอกาสไปชี้แจง เพราะที่ผ่านมานายกฯ และรัฐมนตรีที่ถูกตัดสินให้พ้นสภาพ ทั้ง 10 คนนั้น ก็ไม่เคยมีโอกาสได้ไปชี้แจง และขอถามศารัฐธรรมนูญด้วยว่า อย่างตนได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นรองนายกฯ แต่พวกท่านได้รับการโปรดเกล้าฯ หรือไม่ ที่มาตัดสินพวกตน

นายสุรพงษ์ อ้างว่า ได้อ่านศึกษากฎหมายแล้ว มั่นใจว่า ต้องทำหน้าที่ต่อไป รวมถึงรัฐมนตรีอีก 7 คน เพราะขณะนั้นดำรงตำแหน่งที่ศาลพิจารณาให้พ้นตำแหน่ง แต่เมื่อปรับครม.ได้มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งไปแล้ว มีเพียง น.อ.อนุดิษฐ์ นาคาทรรพ รมว.ไอซีที เท่านั้น ที่ดำรงตำแหน่งเดียวมาโดยตลอด ที่ต้องพ้นไป และนอกจากนี้ ตนมีความกังวลมาก เพราะคนเสื้อแดงจำนวนมาก แสดงความไม่พอใจ และในการชุมนุมพร้อมกัน เกรงว่าจะมีการปะทะ หรือเกิดเหตุรุนแรงขึ้น

"ระหว่างนี้ ขอเตือนนักลงทุน นักธุรกิจไว้ว่า ต่อไปจะต้องเผชิญกับวิบากกรรม เนื่องจากนานาประเทศ อาจจะขาดความเชื่อมั่นในการลงทุนในประเทศไทย จะทำให้เศรษฐกิจเสียหาย ส่วนหนึ่งจากการที่สื่อต่างชาติรายงานข่าวออกไปตลอดเกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องต่างๆ ของกระบวนการยุติธรรมไทย ถึงอย่างไรก็ยังดี ที่ยังมีรัฐบาลรักษาการอยู่จนกว่าจะจัดการเลือกตั้งเสร็จสิ้น ปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ และได้มีการพูดคุยกับกฤษฎีกาแล้วว่า ทำได้ แต่กฤษฎีกาไม่ได้ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร หากหลังการเลือกตั้งเรื่องแรกที่ทางพรรค ผมจะทำคือ ต้อง ปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม ควบคู่ไปกับการปฎิรูปประเทศ ทุกอย่างจะได้เกิดความใสสะอาดขึ้น" นายสุรพงษ์ กล่าว

**พท.โวยศาลรธน.เหมาเข่งตัดหัวรมต.

เวลา 12.30 น. วานนี้ ที่พรรคเพื่อไทย แกนนำพรรคเพื่อไทย พร้อมคณะกรรมการกิจการรพรรค ร่วมกันแถลงการณ์พรรคเพื่อไทย โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีเนื้อหาสรุปว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และกฎหมายหลายประการ อาทิ การกล่าวหารัฐมนตรี ที่จะเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัว รัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) นั้น ต้องมีการยื่นคำร้องกล่าวหารัฐมนตรีคนนั้นเป็นคนๆไป หรือถ้าเห็นว่าร่วมกันทำผิด ก็ต้องกล่าวหาร่วมกันมาในคำร้อง เมื่อในคดีนี้ในคำร้องไม่มีการกล่าวหารัฐมนตรีคนอื่นๆ ว่าร่วมกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญด้วยแล้ว จึงถือว่ารัฐมนตรีเหล่านั้นเป็นบุคคลนอกคดี และไม่มีโอกาสต่อสู้คดีในศาล

ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้รัฐมนตรีเหล่านั้นสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีไม่ได้ นอกจากนี้ รัฐมนตรีที่ได้ร่วมลงมติบางคนได้ถูกปรับเปลี่ยนโยกย้ายตำแหน่ง ความเป็นรัฐมนตรีของบุคคลเหล่านั้นในตำแหน่ง ที่เกิดขึ้นภายหลัง ย่อมจะไม่พ้นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะตำแหน่งเดิมได้หมดสิ้นไปแล้ว มีการโปรดเกล้าฯ ใหม่ ถวายสัตย์ใหม่ จึงเป็นเรื่องของคณะรัฐมนตรีต่างคณะ การทำหน้าที่ก็ต่างกรรมต่างวาระ สร้างบรรทัดฐานมืดดำแต่งตั้งโยกย้าย

การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนายกรัฐมนตรี เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งข้าราชการนั้น เป็นการใช้ และตีความกฎหมายคลาดเคลื่อน จะทำให้เกิดปัญหาต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ต่อไปเมื่อมีการโอนย้ายข้าราชการ หากผู้ถูกย้ายไม่พอใจ ก็จะอาศัยช่องทางยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมืองในที่สุด คดีนี้จึงเป็นครั้งแรกที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและเป็นการดำเนินคดีและดำเนินกระบวนการพิจารณาซ้ำกับศาลปกครอง จึงเป็นที่น่าสงสัยว่า มีเหตุผลทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ มีข้อน่าสงสัยว่าเหตุใดนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ผู้ยื่นคำร้องจึงได้กล่าวในหลายเวที ถึงความมั่นอกมั่นใจในผลของคำวินิจฉัยที่จะเกิดขึ้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจรับข้อเสนอของตนเองก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย คนพวกนี้แสดงออกเสมือนรู้ผลการวินิจฉัยล่วงหน้า ว่าจะเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม หลังจากมีคำวินิจฉัยส่วนตัวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกมา ฝ่ายกฎหมาย จะศึกษาอย่างละเอียด อาจจะมีการฟ้องร้องในประเด็นที่ศาลวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีทั้ง 9 คน สิ้นสุดลง เพราะถือว่าเป็นเรื่องเฉพาะตัว ไม่ได้อยู่ในคำร้องไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องชี้แจง การวินิจฉัยเช่นนี้น่าจะเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

** "เหลิม"ลาออกผอ.ศอ.รส.ล่วงหน้า

พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษก กอ.รมน. กล่าวถึงการทำงานของ กอ.รมน. ภายหลังที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.รมน. ถูกศาลฯวินิจฉัยให้พ้นสภาพการดำรงตำแหน่ง ว่า จากโครงสร้างของ กอ.รมน. กำหนดไว้ว่านายกรัฐมนตรี เป็น ผอ.รมน. โดยตำแหน่ง เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. เป็น รอง ผอ.รมน.โดยตำแหน่ง รวมไปถึง พล.อ.อักษรา เกิดผล เสธ.ทบ. ก็เป็นเลขาธิการ กอ.รมน.โดยตำแหน่งเช่นกัน ซึ่ง กอ.รมน.ไม่ได้ยึดตัวบุคคล และในการบริหารงานส่วนใหญ่ใน กอ.รมน. ดำเนินการโดย รอง ผอ.รมน. และเลขาธิการ กอ.รมน. อยู่แล้ว

เมื่อถามว่า หากสถานการณ์การชุมนุมต่อจากนี้ มีความรุนแรง จนต้องเพิ่มกำลังดูแล จะมีปัญหาหรือไม่ พ.อ.บรรพต กล่าวว่ามั่นใจว่าการดูแลความสงบเรียบร้อยตามกรอบเดิม ที่มีกำลังพลทั้งหมด 60,717 นาย ที่ประกอบด้วย กำลังตำรวจ 112 กองร้อย กำลังทหาร 57 กองร้อย จัดจากสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 1 กองร้อย กองบัญชาการกองทัพไทย 1 กองร้อย กองทัพบก 46 กองร้อย กองทัพเรือ 7 กองร้อย กองทัพอากาศ 2 กองร้อย นั้นน่าจะเพียงพอในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยได้ตาม พ.ร.บ. ความมั่นคง เพราะในปัจจุบันมีการใช้กำลังจากตำรวจและทหาร อย่างละ 40 กองร้อย ซึ่งไม่ถึง 1 ใน 3 ของกำลังที่จัดไว้ด้วยซ้ำ

แต่หากสถานการณ์ลุกลาม และบานปลาย จนต้องปรับเปลี่ยนอัตรากำลังใหม่ และยังยืนยันที่จะใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง เหมือนเดิม ก็ต้องขอมติจากครม. ให้สามารถเรียกประชุม คณะกรรมการของ กอ.รมน. เพื่อพิจารณาอัตรากำลังใหม่รอบรับสถานการณ์ ส่วนกรณีที่คณะกรรมการบางคนที่หลุดจากตำแหน่งรัฐมนตรี ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ นั้น สามารถให้ปลัดกระทรวง รองปลัดกระทรวง หรือ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงต่างๆเข้าประชุมแทนได้

"ขณะนี้ ยังไม่มีใครกล้าออกมาชี้ชัดว่า รัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ยังมีอำนาจในการสั่งการใน ศอ.รส.ได้หรือไม่ โดยเฉพาะคำสั่งใหม่ ที่จะมีต่อจากนี้ ใครจะเป็นผู้ออกคำสั่ง และผู้ปฏิบัติงาน จะกล้าปฏิบัติงานตามคำสั่งนั้นหรือไม่ เพราะหากมีการข้อผิดพลาดขึ้นมา ผู้ปฏิบัติงานจะต้องรับผิดชอบ การดำเนินการทั้งหมดและทราบว่าแม้แต่ ร.ต.อ.เฉลิม ยังลงนามลาออกจากตำแหน่ง ผอ.ศอ.รส. ไว้ล่วงหน้า" แหล่งจาก กอ.รมน.กล่าว

** "ธาริต"ยันไม่กระทบศอ.รส.

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะเลขานุการ ศอ.รส. กล่าวว่า เวลา 14.00 น. (8พ.ค.) นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม ในฐานะ รอง ผอ.ศอ.รส. จะเรียกประชุม ศอ.รส.เอง โดยจะทำหน้าที่แทนร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีต รมว.แรงงาน และ ผอ.ศอ.รส. ที่ได้แจ้งลาตั้งแต่เมื่อวันที้ 7 พ.ค.

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวความคิดของตน และนายชัยเกษม เห็นตรงกันว่า ร.ต.อ.เฉลิม ไม่ได้พ้นจากตำแหน่ง รมว.แรงงาน ด้วยเหตุผลว่า คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ เจาะจงถึงรัฐมนตรี ที่ร่วมพิจารณาในการโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ขณะนั้น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่ในตำแหน่งรองนายกฯ ซึ่งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พ้นตำแหน่งไปแล้ว

ฉะนั้น จากตำแหน่งรมว.แรงงาน จึงไม่มีส่วนในการโยกย้ายนายถวิล ตนทราบว่า ขณะนี้รัฐบาลได้กำลังหาทางออกในเรื่องดังกล่าวอยู่

อย่างไรก็ตาม หากในที่สุด ร.ต.อ.เฉลิม จะต้องพ้นการเป็น ผอ.ศอ.รส.ไป นายชัยเกษม ในฐานะ รอง ผอ.ศอ.รส. สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จึงทำให้ไม่กระทบต่อการทำงานของ ศอ.รส.


**วางกำลังป้องกัน 2 ม็อบปะทะกัน

พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รอง.ผบ.ตร. กล่าวถึงการดูแลกลุ่มผู้ชุมนุมกปปส. และ นปช. ที่จะออกมาชุมนุมในวันที่ 9 พ.ค. ว่า ศอ.รส. ได้มีการคาดการณ์ถึงเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งได้มีการวางแผนป้องกันไว้ในระดับหนึ่งแล้ว สิ่งแรกที่กังวลมากที่สุดคือ กรณีที่สองฝ่ายมาเผชิญหน้ากัน ซึ่งกองกำลังทั้งทหาร และตำรวจ ได้เตรียมวางกำลังไว้ตรงกลาง ระหว่างสองฝ่าย ประมาณ 7- 8 จุด โดยบริเวณการชุมนุมของ กปปส. ที่สวนลุพินี จะมีแนวกองร้อยวางไว้ไม่ให้เคลื่อนไปฝั่งธนบุรี ขณะเดียวกันทางฝั่งธนบุรี จะมีกำลังกองร้อยไว้ในเส้นทางที่ทั้งสองฝ่ายอาจมาเผชิญหน้ากัน โดยเบื้องต้นใช้กำลังผสมทหารและตำรวจประมาณ 100 กองร้อย

ส่วนกรณีที่ก่อนหน้านี้ จะการถอนกำลังทหารออกบางส่วนนั้น สถานการณ์ขณะนี้คงจะต้องมีการทบทวน โดยในแง่ฝ่ายความมั่นคงจะต้องประเมินสถานการณ์ให้หนักที่สุดในสิ่งที่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุ เพื่อที่จะวางแผนป้องกัน และระงับ เพื่อให้เกิดในสิ่งที่ประเมินไว้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้ามีการเผชิญหน้าอย่างรุนแรงเกิดขึ้น ห่วงว่าจะมีการรัฐประหาร หรือไม่ พล.ต.อ.วรพงษ์ กล่าวว่า ยังประเมินไม่ถึงจุดนั้น ขณะนี้ ศอ.รส.ยังดูแลสถานการณ์ได้ โดยเวลานี้ได้ให้เจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามการเคลื่อนกลุ่มผู้ชุมนุม ตามจุดต่างๆ ที่จะเดินทางเข้ามา ส่วนข้อมูลการขนอาวุธหนักเข้ามาในพื้นที่ชุมนุม ฝ่ายความมั่นคงยังไม่ได้รายงาน เพียงแต่มีรายงานว่า ห่วงทั้งสองกลุ่มปะทะกัน ซึ่งจะต้องเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังเป็นพิเศษในช่วงวันหยุดยาวนี้

พล.ต.อ.วรพงษ์ กล่าวอีกว่า อยากจะสื่อไปยังผู้ชุมนุมทั้งสองกลุ่ม ที่แกนนำได้ประกาศไว้ชัดเจนว่า จะไม่มีอาวุธ ใครมีอาวุธ จะไล่กลับ ซึ่งจะให้ผู้ชุมนุมดูแลกันเอง ทาง ศอ.รส.ต้องขอบคุณ ขณะเดียวกันเราจะช่วยเรื่องการตรวจค้นอาวุธ ส่วนกรณีการยิงระเบิดเอ็ม 79 ในสถานที่สำคัญ เมื่อคืนวันที้ 7 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น ขณะนี้ได้มีการเฝ้าระวัง และจะเพิ่มมาตรการ โดยตนได้เชิญผู้บัญชาการตำรวจนครบาล มาพูดคุยแล้ว

** สหรัฐฯขอไทยแก้ปัญหาอย่างสันติ

น.ส.เจน ซากี (Jen Psaki) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนสหรัฐอเมริกา ภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พร้อมคณะรัฐมนตรีบางส่วน พ้นสภาพความเป็นรัฐมนตรี ว่า ขอให้ไทยแก้ไขปัญหา โดยยึดหลักประชาธิปไตย เราได้ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ที่วินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ และรัฐมนตรีกลุ่มหนึ่ง พ้นจากตำแหน่ง เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันแก้ไขปัญหาความตึงเครียดทางการเมืองในประเทศไทย อย่างสันติวิธี และตามแนวทางประชาธิปไตย เพื่อให้ประชาชนชาวไทย สามารถเลือกผู้นำทางการเมือง ที่พวกเขาสมควรได้รับในการรักษาอุดมคติทางประชาธิปไตยของประเทศไทย หนทางแก้ปัญหาควรรวมถึงการเลือกตั้ง และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เราขอเรียกร้องทุกฝ่ายในเวลานี้ ให้อดทนอดกลั้น และขอย้ำอีกครั้งว่า การใช้ความรุนแรงเป็นหนทางที่ไม่อาจยอมรับได้ ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง

**จวก"ยิ่งลักษณ์"แถลงเท็จอำลาตำแหน่ง

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงปฏิกิริยาของแต่ละฝ่าย เกี่ยวกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่า ขอให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามโดยไม่มีข้อแม้ และไม่ควรดำเนินการปลุกระดมให้ประชาชนออกมาแสดงความเห็น หรือแสดงพลังไม่เห็นด้วยหรือคัดค้านคำวินิจฉัย เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าได้ โดยเห็นว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวมีผลต่อการรักษา หลักนิติรัฐ นิติธรรม และความถูกต้องของบ้านเมือง ผดุงระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของราชการเพิ่มมากขึ้น และ เป็นบทเรียนการใช้อำนาจโดยมิชอบหรือลุแก่อำนาจของผู้มีอำนาจทางการเมืองป้องกันการใช้ตำแหน่งหน้าที่ การเอื้อประโยชน์ตนเอง และพวกพ้อง และทำให้ข้าราชการที่มีจุดยืนซื่อสัตย์ สุจริต ทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมบ้านเมือง มีที่ยืนในสังคม จึงหวังว่า จะไม่มีการบิดเบือนคำวินิจฉัยเพื่อประโยชน์ตนเองและพวกพ้องอีกต่อไป

ส่วนคำแถลงก่อนออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นั้นตนรู้สึกเห็นใจที่ต้องพ้นตำแหน่ง แต่มีหลายประเด็นที่บิดเบือน ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ ควรเห็นใจคนไทย ที่ต้องทนทุกข์ทรมานตลอดสองปีกว่า เพราะวิกฤตในบ้านเมือง เป็นผลพวงจากการที่ทุ่มเททำงานเพื่อประโยชน์ของคนในครอบครัวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ทั้งสิ้น จึงอยากให้เห็นใจประชาชนด้วยการยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม ตามที่พูด เข้าสู่การตรวจสอบขององค์กรอิสระ โดยไม่ทำลายระบบตรวจสอบเพื่อพิสูจน์ความจริงใจในฐานะอดีตนายกฯ

**"สุเทพ"ดีเดย์ชุมนุมใหญ่วันนี้

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. พร้อมด้วยแกนนำ และผู้ชุมนุม ได้เดินขบวนรณรงค์ย่านสุขุมวิท เชิญชวนประชาชนเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อเข้าร่วมชุมนุมใหญ่ ที่สวนลุมพินี ในวันนี้ (9 พ.ค.) โดยการเดินขบวนรณรงค์ เริ่มต้นที่ สถานีรถไฟฟ้า บีทีเอสอ่อนนุช ไปย่านทองหล่อ พระโขนง บนถนนสุขุมวิท โดยได้รับการต้อนรับจากประชาชนอย่างคับคั่ง

นายสุเทพ ประกาศว่า การชุมนุมวันนี้ (9พ.ค.) หากไม่ชนะ จะไม่เลิก โดยจะปฏิบัติการยึดอำนาจ ไม่ให้รัฐบาลทำหน้าที่ต่อได้
อย่างไรก็ตาม กปปส. ยังไม่เปิดเผยวิธีการดำเนินการที่จะปฏิบัติการยึดอำนาจจากรัฐบาล แต่ขอให้มวลชนรอฟังคำสั่งจากแกนนำ และปฏิบัติอย่างเคร่งครัด รวมถึงห้ามพกอาวุธเข้ามาในบริเวณพื้นที่ชุมนุม

ด้านหลวงปู่พุทธะอิสระ ผู้ดูแลการชุมนุม กปปส. เวทีแจ้งวัฒนะ กลาวถึงการระดมมวลชนครั้งใหญ่ ของเวทีสวนลุมพินี ในวันนี้ว่า จะหารือกับนายสุเทพในช่วงเย็น ก่อนตัดสินใจว่าจะนํามวลชนร่วมชุมนุมด้วยหรือไม่ เพราะได้รับรายงานว่า คนเสื้อแดงเตรียมการก่อเหตุรุนแรงกับเวทีแจงวัฒนะเวลากลางคืน อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นคงต้องให้มวลชนเข้าร่วมกับเวทีสวนลุมพินี เพื่อช่วยนายสุเทพ ปิดเกมให้สําเร็จ โดยจะให้เวลาดําเนินการให้ลุล่วงภายในวันที่ 11 พ.ค. นี้

** หลวงปู่ฯร่นแผนไปหัวหิน12-13พ.ค.

หลวงปู่พุทธะอิสระ กล่าวว่า เวทีแจ้งวัฒนะจะขยับกําหนดการเคลื่อนขบวนมวลชน ไปถวายคืนพระราชอํานาจ จากเดิมกําหนดระหวางวันที่ 16-18 พ.ค. เป็นวันที่ 12-13 พ.ค. แต่หากนายสุเทพจบเกมได้ เวทีแจ้งวัฒนะ ก็จะเคลื่อนขบวนไปยังหัวหิน ตามกําหนดการเดิม แต่จะเปลี่ยนเป็นการไปเพื่อเจริญพระพุทธมนต์ ขณะนี้ได้ร่างฎีกาที่จะถวายคืนพระราชอํานาจเสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่จะไม่เปิดเผยเนื้อหาฎีกา เพื่อไม่ให้เป็นการก้าวล่วงพระราชอํานาจ

หลวงปู่พุทธะอิสระ กล่าวอีกว่า การขยับเวลาเคลื่อนมวลชนให้เร็วขึ้น เพราะถือเป็นจังหวะที่เหมาะสม มวลชนมีกําลังใจฮึกเหิมพร้อมพิชิตศึก ซึ่งเป็นผลมาจากคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรี และ ครม. สิ้นสภาพ หากพ้นช่วงนี้ไป จะปลุกกระแสยาก

หลวงปู่พุทธะอิสสระยังเตือน กกต. ที่จะนัดหารือเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง ว่า กําลังปรึกษาทีมกฎหมาย อาจจะดําเนินคดีกับการตั้งนายกรัฐมนตรีรักษาการของรัฐบาล โดยที่ไม่มีรัฐธรรมนูญยอมรับ โดยเฉพาะ กกต. ต้องระมัดระวัง การนัดหารือกับรักษานายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้มาจากการโปรดเกล้าฯ อาจสุ่มเสี่ยงกระทําผิดกฎหมายฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ เนื่องจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นตําแหน่งโปรดเกล้าฯ ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีจากการจัดตั้ง คนเสื้อแดงพูดมาตลอดว่าไม่เอานายกรัฐมนตรีพระราชทาน เราก็จะไม่เอานายกรัฐมนตรีจัดตั้ง เพราะไม่มีรัฐธรรมนูญมาตราใดยอมรับ สถานการณ์ขณะนี้เขาสู่ภาวะสุญญากาศแล้ว โดยคําว่าสุญญากาศไม่ได้หมายความว่าไม่มีใครเลย แต่หมายถึงการไม่มีอํานาจตามที่กฎหมายกําหนด ไม่มีรัฐบาลใดที่ยังหน้าด้านอยู่ได้เมื่อถูกศาลตัดสินความผิด ตราบใดที่รัฐบาลอ้างว่ามาจากประชาธิปไตย ก็ต้องยอมรับว่า กกต. ศาล และ ป.ป.ช. เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

ด้านกลุ่มวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป. ) นำโดยนายสมศักดิ์ ล้อเพชรรุ่งเรือง เลขาธิการ กวป. ได้นัดชุมนุมคนเสื้อแดง ที่อนุสาวรีย์ปราบกบฏ ย่านหลักสี่ ก่อนเคลื่อนขบวน โดยมีจุดมุ่งหมายไปยังที่ชุมนุมของ กปปส. แจ้งวัฒนะ เพื่อขอคืนพื้นที่นั้น แต่ต่อมาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสกัดไว้ เพื่อไม่ให้เกิดการเผชิญหน้า จึงต้องเดินทางกลับไปยังวงเวียนบางเขนตามเดิม

** "มาร์ค"หวั่นมวลชน 2 ฝ่ายปะทะ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองจากนี้ไปว่า อุณหภูมิคงจะร้อนแรงขึ้น เพราะทั้งฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มกปปส.มีการปลุกระดมมวลชน โดยต่างฝ่ายต่างก็ยังมีความมั่นใจในแนวทางของตัวเอง

"จะเห็นว่าเมื่อวานนี้ทั้งๆ ที่นายกรัฐมนตรีพ้น คือไม่อยู่แล้ว รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก็ยังท่องคาถาบอกว่า ไปเลือกตั้ง 20 ก.ค. เพราะฉะนั้นมันก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ฝ่าย กปปส. เองซึ่งต้องการเห็นการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง แล้ววันนี้เห็นว่าไม่มีนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็เดินหน้าในการที่จะเคลื่อนไหว ที่ใช้คำว่า ทวงคืนอำนาจของประชาชนกลับมา"

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ไม่มีนายกรัฐมนตรีแล้ว จะเข้าในขั้นตอนแผนทางออกของประเทศอภิสิทธิ์ ในการสรรหาตัวนายกฯ หรือไม่ นายอภสิทธิ์กล่าวว่า เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ เพราะบางฝ่ายคิดเช่นนั้น แต่บางฝ่ายไม่ยอมรับ ฝ่ายหนึ่งก็บอกว่า ต้องดำเนินการเพราะ รัฐธรรมนูญบอกว่านายกฯ นั้นเมื่อพ้นไปแล้วต้องมีการสรรหา อีกฝ่ายหนึ่งก็บอกว่า ไม่ได้ ต้องรอเลือกตั้ง มันก็จะเกิดความขัดแย้งกัน แต่แผนที่ตนสนอนั้น จะต้องไม่มีความขัดแย้ง คือทุกฝ่ายต้องยินยอมพร้อมใจ มาเดินด้วยกัน แต่วันนี้ถามว่าประเด็นที่จะเดินนี้มันยังเดินได้ แต่เดินแบบมีการโต้แย้งกันตลอดเวลา

ส่วนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แถลงลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยระบุถึงทำงานมา2 ปี 9 เดือน 2 วัน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า "เอาเป็นว่า พวกผมที่ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลมา 2 ปี 9 เดือน 2 วัน บอกได้แต่เพียงว่า คือได้ยินแล้วทำตัวไม่ถูกเลย จะตกใจ หรือจะหัวเราะ หรือจะร้องไห้นั้น ตอบยากจริงๆ ครับ เพราะยืนยันได้เลยว่า หลายสิ่งหลายอย่างที่บอกว่าไม่ได้ทำนั้น ทำ และหลายสิ่งที่บอกว่าได้ทำไปนั้น ไม่ได้ทำ”นายอภิสิทธิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น