xs
xsm
sm
md
lg

ชม “กิวอ่องเอี่ย” ศาลเจ้าที่เก่าแก่ที่สุดของตรัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถือเป็นศาลเจ้าที่ใหญ่ และเก่าที่สุดของจังหวัดตรัง สำหรับ “ศาลเจ้ากิวอ่องเอี่ย” ตามภาษาจีนฮกเกี้ยน แต่ผู้คนโดยทั่วไปมักจะเรียกกันว่า “กิวอ๋อง” หรือ “กิวอ๋องเอี๋ย” ตั้งอยู่บนถนนท่ากลาง ในเขตเทศบาลตรัง หรืออยู่ตรงข้ามกับวัดตันตยาภิรม บนเนื้อที่ประมาณ 8 ไร่เศษ

 
ว่ากันว่า เมื่อประมาณ 160 ปี มาแล้ว ชาวจีนฮกเกี้ยนได้พากันอพยพเข้ามาทางเรือตามแม่น้ำตรัง ซึ่งเดิมเรียกว่า “คลองท่าจีน” ตามชื่อหมู่บ้านที่มาตั้งหลักฐาน คือ “หมู่บ้านท่าจีน” ก่อนที่ทางราชการจะเปลี่ยนมาเป็น “ตำบลบางรัก” ในเวลาต่อมา

 
ในหมู่บ้านแห่งนี้มี “วัดปอร์น” ตั้งอยู่ ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า “วัดประสิทธิชัย” หรือ “วัดท่าจีน” โดยชาวจีนฮกเกี้ยนได้ร่วมกันตกลงให้ “นายลิ่มก๊กจุ้ย” อัญเชิญกระถางธูปของเทพเจ้าเก้าองค์ ตามคัมภีร์สวดมนต์ “ปั๊กเต้าเก็ง” ของชาวจีน ได้แก่ พระพุทธเจ้า 7 องค์ และพระโพธิสัตว์ 2 องค์ มาไว้กระทำพิธีถือศีลกินเจ

 
สำหรับพระพุทธเจ้า 7 องค์ ได้แก่ พระวิชัยโลกมนจรพุทธะ พระศรีรัตนโลกประภาโฆษอิศวรพุทธะ พระเวปุลลรัตนะโลกสุวรรสิทธิพุทธะ พระอโศกโลกวิชัยมงคลพุทธะ พระวิสุทธิอาศรมโลกเวปุลลปรัชญาวิภาคพุทธะ พระธรรมมติธรรมสาครจรโลกมโนพุทธะ และพระเวปุลลจันทรโภคไภสัชชไวฑูรย์พุทธะ

 
ส่วนพระโพธิสัตว์ 2 องค์ ได้แก่ พระศรีสุขโลกปัทมครรภอลังการมหาโพธิสัตว์ และพระศรีเวปุลภสังสารโลกสุขะอิศวรมหาโพธิสัตว์

อย่างไรก็ตาม เมื่อการถือศีลกินเจ ได้มีชุมชนเข้าร่วมมากขึ้นทุกปี ทางชมรมชาวจีนต่างเห็นว่า สมควรที่จะต้องจัดหาที่ให้เป็นสัดส่วน เมื่อ พ.ศ.2532 จึงได้ซื้อที่ดินขึ้น 1 แปลง ในเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่เศษ เพื่อสร้างศาลเจ้าขึ้น และได้จดทะเบียนถูกต้องตามประกาศทางราชการเมื่อ พ.ศ.2463

 
เดิม “ศาลกิวอ่องเอี่ย” เป็นเพียงศาลเจ้าขนาดเล็ก ที่มีหลักฐานปรากฏอ้างอิงตามแผ่นป้ายนำกระบวนในวันที่พระพุทธเจ้าเก้าองค์ เสด็จออกโปรดให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุข ในงานถือศีลกินเจ ซึ่งตรงกับวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 9 จีน โดยป้ายนำกระบวนแห่งนี้ ได้ทำขึ้นภายหลังจากการสร้างศาลเจ้าแล้ว 7-8 ปี

 
เมื่อกาลเวลาผ่านไป ศาลเจ้าซึ่งสร้างขึ้นด้วยไม้ ก็เริ่มจะผุพัง ดังนั้น เมื่อ พ.ศ.2495 ทางคณะกรรมการศาลเจ้า ประกอบด้วย “นายนิยม ข่ายม่าน” ซึ่งเป็นผู้ตรวจตราสอดส่อง “นายเอก วังตระกูล” (ครูตองเอ๊ก) “นายเทียนศรี ธรรมารักษ์” และบุคคลอื่นอีกประมาณ 36 คน จึงได้ร่วมกันตกลงสร้างศาลเจ้าขึ้นใหม่

 
“ศาลกิวอ่องเอี่ย” ในปัจจุบัน มีเนื้อที่ของอาคารต่างๆ กว้างขวางมากขึ้น มีโต๊ะบูชาเทพเจ้าองค์ต่างๆ โดยมีอักษรกำกับการกราบไหว้ไว้พร้อมมูล เช่น “องค์กิวอ่องไต่แต่” ให้บูชาธูป 9 ดอก และน้ำเต้าแชกุน ให้บูชาธูป 6 ดอก รวมทั้ง “ปั่กเต้าแชกุน”, “หลั่งกวนไต่เต่”, “ตั่วแป๊ะก๋ง”, “เจ้าพ่อเสือ" เป็นต้น

 
นอกจากนั้น ภายในศาลเจ้า ยังมีศาลเทวดาฟ้าดิน ศาลไท้ซือเอี๋ย ศาลเจ้าแม่กวนอิม และบริเวณลานกว้างเพื่อใช้ประกอบพิธีต่างๆ ซึ่งทุกวันนี้จะมีผู้มีจิตศรัทธาเดินทางไปกราบไหว้บูชาไม่ขาดสาย

โดยเฉพาะในงานประเพณีถือศีลกินเจ หรือที่ชาวตรังนิยมเรียกกันว่า “ถือศีลกินผัก” ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นระยะเวลา 10 วัน 10 คืน ช่วงประมาณเดือนตุลาคมของทุกๆ ปีนั้น จะมีผู้คนจากทั่วทุกสารทิศเดินทางมายังศาลเจ้าแห่งนี้กันเป็นจำนวนมากนับหมื่นๆ คน ไม่ว่าจะเป็นชาวไทย หรือชาวต่างชาติ ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0-7521-0701






ภาพ/เรื่อง โดย เมธี เมืองแก้ว
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น