xs
xsm
sm
md
lg

มหกรรมน้ำเสียรอบเกาะภูเก็ต เกิดจากใครกันเล่า? (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทยที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก คงหนีไม่พ้นหาดทราย ชายทะเลที่สวยงามของจังหวัดภูเก็ต วัดได้จากจำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 2 เเสนล้านบาทต่อปี ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ภูเก็ตเป็นหน้าด่านสำคัญในการรองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก และเมื่อเป็นเมืองเเห่งการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ในขณะที่โครงสร้างพื้นฐานไม่สามารถพัฒนาให้ทันต่อการเติบโตได้ จึงย่อมที่จะมีผลกระทบตามมาในหลายๆ ด้าน และโดยเฉพาะผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นจุดขายหลักของภูเก็ต

ที่เห็นได้ชัดในขณะนี้ คือ ปัญหาการลักลอบปล่อยน้ำเสียลงทะเล จนทำให้น้ำทะเลหลายๆ จุด ล้วนแต่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญๆ ของภูเก็ต กลายเป็นสีดำ ส่งกลิ่นเหม็น สร้างความเดือดร้อนให้แก่คนในพื้นที่ รวมถึงสร้างความตกตะลึงให้นักท่องเที่ยวที่พบเห็น สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการทำลายภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของภูเก็ตทั้งสิ้น

ถ้าจะพูดถึงปัญหาน้ำเสียที่เกิดขึ้นในเเหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต ไม่ใช่ปัญหาใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น หากย้อนดูข้อมูลจะพบว่าปัญหาน้ำเสียของภูเก็ตเกิดขึ้นเป็นเวลาเกือบทศวรรษแล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมาเสียงสะท้อนความเดือดร้อนยังดังไม่พอที่จะให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาเเก้ไขปัญหา จนมาถึงขณะนี้ปัญหาดังกล่าวได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในบริเวณชายหาดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญๆ ของภูเก็ต กำลังเผชิญอยู่กับปัญหาน้ำเสีย เช่น หาดบางเทา หาดกะรน เเละหาดกมลา หรือแม้แต่ในเขตเทศบาลนครภูเก็ต หากปัญหาดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไข และไม่รณรงค์สร้างจิตสำนึกของคนในพื้นที่อย่างเร่งด่วน เชื่อว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ปัญหาน้ำเสียก็จะเป็นตัวบั่นทอนการท่องเที่ยวของภูเก็ต

ที่หาดบางเทา ม.1 บ้านบางเทา ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ที่ผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งชาวบ้าน ชาวประมงพื้นบ้านอ่าวบางเทารวมตัวเรียกร้องให้ภาครัฐดำเนินการเเก้ไขปัญหาเมื่อกลางเดือนเมษายน 2556 ถึงเเม้ว่าปัญหาน้ำเสียดังกล่าวจะเกิดขึ้นสะสมมาเกือบ 10 ปีเเล้วก็ตาม โดยปัญหาที่เกิดขึ้นคือน้ำเน่าเสียสีดำสนิทไหลลงทะเลจนน้ำทะเลในบริเวณชายหาดกลายเป็นสีดำ ชาวบ้าน ชาวประมง ผู้ให้-ผู้ใช้บริการเรือหางยาวนำส่งนักท่องเที่ยวอ่าวบางเทา ได้รับความเดือดร้อนกว่าร้อยราย นอกจากนี้มีบางรายที่สัมผัสน้ำเสียจนเกิดอาการเเพ้คันจนต้องหาหมอรักษา ขณะที่นักท่องเที่ยวซึ่งเข้าพักยังสถานประกอบการหาดบางเทา ไม่กล้าลงเล่นน้ำ ครั้งนั้นทางจังหวัดโดยนายตรี อัครเดชา อดีตผู้ว่าราชการจังหวัด

ได้สั่งการให้มีการเเต่งตั้งคณะทำงานระดับจังหวัดเเก้ไขปัญหาน้ำเสียหาดบางเทา โดยมีนายสมเกียรติ์ สังขาวสุทธิ์รักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานคณะทำงาน เเละบูรณาการกับทุกภาคส่วนเพื่อเเก้ปัญหา โดยให้องค์การบริหารส่วนตำบลเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานสิ่งเเวดล้อมฯ จังหวัด ดำเนินการขุดลอกคลองในจุดที่มีตะกอนทับถมทั้งหมดเพื่อเอาตะกอนน้ำเสียขึ้น พร้อมประชาสัมพันธ์ให้สถานประกอบการในพื้นที่ซึ่งมีการปล่อยน้ำเสียติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย ขณะเดียวกันทางจังหวัดได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 15 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างเขื่อนหินกันการปล่อยน้ำเสีย เเละการพังทลายของดิน ตลอดความยาว 1.6 กม.ของ คลองบางเทา รวมถึงงบประมาณจากรัฐบาล 320 ล้านบาท ก่อสร้างระบบบำบัด เเละระบบรองรับน้ำเสีย ขนาดมหึมาที่จะสามารถรองรับน้ำเสียจากชุมชน สถานประกอบการได้ทั้งหมด

หลังมีการตั้งงบประมาณเสร็จสิ้น เเละดำเนินการขุดลอกในเบื้องต้นจนปัญหาน้ำเสียเริ่มเบาบางลง สีของน้ำในลำคลองเริ่มใสขึ้น สัตว์น้ำต่างๆ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลาในลำคลองมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เเนวโน้มความพึงพอใจของผู้ได้รับผลกระทบก็เพิ่มขึ้นทำให้ปัญหาเงียบหายไป เป็นเวลาเกือบ 1 ปี จนกระทั้งเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2557 เกิดปัญหาน้ำเสียอีกระลอก ครั้งนี้มีระดับความเน่าเสียรุนเเรงเท่ากับที่เกิดการร้องเรียนครั้งเเรกเมื่อปี 2556 โดยชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบตั้งคำถามกับว่าหน่วยงานรัฐที่เข้ามาดำเนินการเเก้ไขปัญหานั้น มีการเเก้ไขไปเเล้วอย่างไร ทำไมยิ่งมีน้ำเสียที่รุนเเรงเกิดขึ้นอีก ไม่ได้เเก้ปัญหาจริงดังกล่าวอ้าง ยังคงปล่อยให้สถานประกอบการปล่อยน้ำเสียลงมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ดำเนินการมาเเล้วเป็นระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา จากปัญหาที่เกิดขึ้นระลอกใหม่ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตไม่ได้นิ่งนอนใจเดินทางลงตรวจสอบพื้นที่เร่งด้วย พร้อมสั่งการให้แก้ไขปัญหาเร่งด่วนให้น้ำกลับมามีสภาพดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์

เมื่อสอบถามไปยังนายมาเเอน สำราญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล เจ้าของพื้นที่ ถึงเเนวทางการเเก้ปัญหานั้น พบว่าในพื้นที่บางเทามีสถานประกอบการที่อยู่ริมคลองอ่าวบางเทาทั้งหมด 16 แห่ง เป็นสถานประกอบการขนาดใหญ่จำนวน 2 แห่ง ที่เป็นโรงแรม ซึ่งจะต้องทำรายงานบันทึกรายละเอียดของสถิติ และข้อมูลแสดงผลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสียของแหล่งกำเนิดมลพิษ (ทส.2) ตามความในมาตรา 80 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ให้กับสำนักทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) เบื้องต้นพบว่า 1 ใน 2 แห่ง อาจมีข้อมูลไม่สอดคล้องกับรายงานที่ส่งมา ว่ามีการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงในลำคลองดังกล่าว คืออาจมีการลักลอบปล่อยน้ำเสียลงในลำคลอง เนื่องจากพบว่าตัวเลขการทำงานของตัวเครื่องของระบบบำบัดไม่ตรงกับความเป็นจริง

เเต่อยู่ระหว่างตรวจสอบ ส่วนอีก 14 แห่งที่ไม่ต้องยื่น ทส.2 นั้น ทสจ.อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบว่าเข้าข่ายกระทำความผิด หรือเป็นต้นต่อแหล่งน้ำเสียหรือไม่ ขณะที่ร้านค้า ร้านอาหาร ในพื้นที่อีก 18 แห่ง ซึ่งมีการจดทะเบียนถูกต้อง 8 แห่ง ส่วนอีก 10 แห่ง ยังไม่ได้มีการจดทะเบียนนั้น ทาง อบต.จะต้องเร่งทำความเข้าใจ และกำชับให้ดำเนินการก่อสร้างถังบำบัดมีการปล่อยลงสู่ลำคลอง ส่วนมาตราแก้ไขปัญหาในระยะยาว อบต.เชิงทะเล ได้รับงบประมาณ จำนวน 320 ล้านบาท เพื่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียนั้นขณะนี้ผู้รับเหมาได้ดำเนินงานไปแล้ว 30% ซึ่งล่าช้า คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายใน 2-3 ปี และได้รับงบประมาณจากจังหวัดภูเก็ต อีก 15 ล้านบาท เพื่อจัดทำเขื่อนกั้นคลอง ระยะทาง 1.6 กิโลเมตร เพื่อช่วยแก้ปัญหาการปล่อยน้ำเสีย และกันการพังทลายนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างประมูลหาผู้รับจ้าง อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดเป็นเพียงปัญหาที่เกิดขึ้น เเละเเนวทางดำเนินการเเก้ไขปัญหาในส่วนของพื้นที่บางเทาเท่านั้น ยังมีพื้นที่อื่นๆ ที่เริ่มเห็นความชัดเจนของปัญหาไล่หลังเข้ามา

เช่นที่หาดกะรน บริเวณปากคลองหนองหาน ม. 1 ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต พบว่ามีการลักลอบปล่อยน้ำเสียจากโรงแรม และสถานประกอบการต่างๆ ลงทะเลทำให้น้ำทะเลกลายเป็นสีดำบริเวณกว้าง เป็นทางยาวกว่าประมาณ 100 เมตร นอกจากนี้จากจุดที่น้ำไหลลงมา ยังพบว่ามีขยะ และสิ่งปฏิกูลเต็มชายหาด ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างก็ไม่มีใครกล้าลงเล่นน้ำ เพราะกลัวเกิดอาการคัน สาเหตุเบื้องต้นหลังผู้ว่าราชการจังหวัดเข้าตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีลักษณะใกล้เคียงกันกับที่หาดบางเทา คือการปล่อยน้ำเสียลงในลำคลอง เเต่ต่างกันที่คลองปากบางมีการติดตั้งบ่อบำบัดน้ำเสียของเทศบาลตำบลกะรน เเต่มีอายุการใช้งานมากว่า 10 ปี แล้ว ทำให้ศักยภาพของเครื่องจักรทำงานได้ไม่เต็มที่ เเละปริมาณน้ำเสียเพิ่มขึ้น ปัจจุบันบ่อบำบัดดังกล่าวต้องรองรับปริมาณน้ำเสียมากถึง 8,000-12,000 ลบ.ม. ขณะที่มีขีดความสามารถเพียงวันละ 6,000 ลบ.ม.เท่านั้น ทำให้น้ำเสียที่ overload หรือที่เกินศักยภาพของเครื่องจักรทั้งหมดประมาณ 2,000-4,000 ลบ.ม.ถูกปล่อยลงคลองก่อนไหลออกสู่ทะเล

โดยปัญหาดังกล่าวทางเทศบาลตำบลกะรน กำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาใน 4 มาตรการ คือ 1. ขุดลอกเอาตะกอนท้องรางในรางระบายน้ำข้างหนองหานออกทั้งหมด 2. ทำตะแกรงกั้นขยะที่มากับน้ำ โดยใช้อวนกั้นขยะไม่ให้ไหลลงทะเล 3. ทำฝายแม้วดักตะกอน และดูดตะกอนในบริเวณดังกล่าวออกไป และ 4. การแก้ปัญหากรณีที่มีน้ำเสียล้นออกมาจากระบบบำบัดน้ำเสียไม่ให้ไหลลงทะเล หลังจากนั้นก็สูบน้ำดังกล่าวไปพักไว้ในบริเวณบ่อพักน้ำเสียก่อนที่จะเติมออกซิเจนเพื่อผ่านระบบบำบัดต่อไป และในระยะยาวนั้นทางเทศบาลตำบลกะรน กำลังของบประมาณมาก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถรองรับน้ำเสียครอบคลุมพื้นที่ตำบลกะรนทั้งหมด

นอกจากนี้ยังมีปัญหาน้ำเสียที่หาดกมลา บริเวณคลองบ้านนอกเล หมู่ที่ 3 ต.กมลา อ.กะทู้ มีการปล่อยน้ำเสียจากโรงแรม สถานประกอบการต่างๆ ลงคลองโดยไม่บำบัดก่อนคลองไหลลงทะเล ส่งกลิ่นเหม็น ผู้สัมผัสเกิดอาการคัน ตลอดจนสัตว์น้ำในลำคลองลอยตายเป็นจำนวนมาก ล่าสุดนักวิชาการสิ่งแวดล้อมซึ่งได้มาตรวจสอบสภาพน้ำในคลองบ้านนอกเล พบว่า มีน้ำเสียจริง จะต้องรีบแก้ปัญหาโดยด่วน โดยมีแนวทางการแก้ไขปัญหา ดังนี้ 1. ขุดบ่อดักตะกอน และน้ำเสียเป็นช่วงๆ ในลำคลอง และบำบัดด้วยอีเอ็มบอล 2. สร้างระบบบัดบัดน้ำเสีย ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการไม่ปล่อยน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดลงสู่ลำคลอง ก่อนที่จะสร้างบ่อบำบัดเสียเพื่อเอาน้ำเสียทั้งหมดเข้าบ่อบัดก่อนปล่อยลงลำคลองในระยะยาว

ขณะที่ อบต.กมลาซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่จะเป็นผู้เข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน ใน 2 เรื่อง คือ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยการขุดลอกคูคลองหลัก ใช้รถดูดขยะ สิ่งปฏิกูล ตะกอนที่เน่าเหม็นในคลองออกให้หมดทุกจุด ทำตาข่ายหรือตะแกรงดักขยะและสิ่งปฏิกูลเพื่อไม่ให้เกิดการหมักหมม เป็นเวลานานจนเกิดการเน่าเสีย พร้อมทั้งออกสุ่มตรวจอยู่ตลอดเวลา โดยไม่แจ้งให้ผู้ประกอบการทราบ เมื่อพบว่ากระทำผิดจะดำเนินการทันที ไม่เว้นแม้แต่ในเขตเทศบาลนครภูเก็ต ก็เป็นปัญหาที่เรื้อรังมาเป็นเวลานานเช่นกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ ซอยพะเนียง บ้านสามกอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต เป็นพื้นที่ที่มีชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน และร้องเรียนเรื่องน้ำเสียส่งกลิ่นเหม็นอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงไปจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว เช่น การสร้างระบบรวบรวมน้ำเสีย ก่อสร้างระบบผันน้ำ ท่อดักน้ำ ที่มีปริมาณน้ำเสียประมาณ 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันการทำท่อรับน้ำเสียเพื่อส่งไปยังระบบบำบัดน้ำเสียรวม แต่ก็ยังไม่เป็นผล ยังคงเกิดปัญหามาจนถึงทุกวันนี้

ปัญหาน้ำเสียที่เกิดขึ้นหลายจุดในจังหวัดภูเก็ตนั้น เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเเล้ว มีสาเหตุหลักเพียง 2 ประการเท่านั้น 1. เกิดจากการปล่อยน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดลงในลำคลองออกสู่ทะเล หรือละเลยที่จะซ่อมบำรุงระบบบำบัดให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และ 2. คือ คำว่าจิตสำนึกที่ทุกคนพึงมีต่อการดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อมที่ให้เราได้ กิน-อยู่นั้นขาดหายไป ควรกระตุ้นเตือนจิตสำนึกเหล่านั้นให้กลับมาโดยเร็ว ก่อนที่นักท่องเที่ยวจะนำความเลวร้ายเหล่านั้นกลับไปบอกเล่าจนทำให้นิยามของคำว่า “ไข่มุกอันดามัน” ถูกทำลายไป…เพราะใครกันเล่า?







 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น