xs
xsm
sm
md
lg

ห่วงผู้ป่วยออทิสติกทั่วโลกตกงานกว่า 90% วอนเปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไทยพบป่วยออทิสติก 3.7 แสนราย แต่เข้าถึงบริการน้อยเพียง 15% กรมสุขภาพจิตเผยน่าห่วงทั่วโลกคนออทิสติกตกงานมากกว่า 90% จี้ช่วยดูแลเปลี่ยนภาระเป็นพลัง

วันนี้ (2 เม.ย.) ที่ รพ.ยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเปิดงานรณรงค์เนื่องในวันออทิสติกโลก ประจำปี 2557 (World Autism Awareness Day 2014) ในหัวข้อ “Autism and work....Together we can” เปลี่ยนออทิสติกจาก “ภาระ” ให้เป็น “พลัง” สร้างสังคมไทย ว่า จากการติดตามโรคออทิสติก ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมากซึ่งการสำรวจอย่างเป็นทางการของไทยในเด็กอายุ 0-5 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2547 พบ 1:1,000 (ร้อยละ 0.1) โดยคาดว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยออทิสติก ประมาณ 370,000 คน ซึ่งปัญหาที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนยังเข้าใจเรื่องนี้น้อย ทำให้การเข้าถึงบริการน้อยมากเพียงประมาณ ร้อยละ 15 โดยจากรายงานจำนวนผู้ป่วยทางสุขภาพจิตของประเทศที่กระจายตามเขตสาธารณสุขรายจังหวัด ปี 2555 มีผู้ป่วยออทิสติกเข้าถึงบริการจำนวน 25,537 ราย คิดเป็นอัตรา 39.74 ต่อประชากรแสนคน

“โรคนี้สามารถรักษาได้ เป็นโรคที่มีความผิดปกติของพัฒนาการทางสมองที่ล่าช้า 3 ด้าน คือ ด้านสังคม ภาษาและพฤติกรรม พบตั้งแต่กำเนิด สังเกตพบได้ก่อนอายุ 3 ขวบ สัญญาณเตือน ได้แก่ ไม่สบตา ไม่พาที ไม่ชี้นิ้ว ให้รีบพาไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน โดยเด็กออทิสติกที่มีความผิดปกติทางภาษาและสังคม จะแตกต่างกันที่ ไอคิว (IQ) ร้อยละ 40 มีไอคิวปกติใช้ชีวิตเหมือนเด็กปกติ ในจำนวนนี้ ร้อยละ 10 เป็นอัจฉริยะในบางด้าน เช่น การวาดภาพ หรือเล่นดนตรี อีกร้อยละ 20 มีไอคิวต่ำระดับน้อยถึงปานกลาง (50-69) สามารถเรียนร่วมและฝึกอาชีพได้ อาจมีปัญหาพฤติกรรมร่วมด้วย ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 40 มีไอคิวต่ำกว่า 50 เป็นเด็กที่ชอบแสดงอาการก้าวร้าวแบบรุนแรง ต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
นพ.เจษฎา กล่าวว่า ทุกวันที่ 2 เมษายนของทุกปี สหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศให้เป็นวันออทิสติกโลก ซึ่งในปีนี้ รณรงค์ภายใต้หัวข้อ “Autism and work....Together we can” เนื่องจาก พบว่า บุคคลออทิสติกที่จบการศึกษาหรืออยู่ในวัยผู้ใหญ่ทั่วโลกมีอัตราการตกงาน มากกว่า ร้อยละ 90 จึงควรร่วมกันดูแลช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้ให้มีโอกาสในการทำงาน เช่น การส่งเสริมระบบการเตรียมความพร้อมด้านอาชีพ ทั้งโปรแกรมเตรียมพื้นฐานอาชีพ โปรแกรมการสอนงาน หรือการสนับสนุนให้องค์กรเอกชนหรือองค์กรผู้ปกครองได้ร่วมดำเนินการกับสถานประกอบการส่งเสริมการจ้างงานบุคคลออทิสติกอย่างยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมให้มีการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนหรือโรงงานในชุมชนของกลุ่มบุคคลออทิสติก เพื่อการมีอาชีพและสามารถดำรงชีวิตได้ตามศักยภาพ

นพ.เจษฎา กล่าวว่า ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 มาตรา 33 ได้กำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องรับผู้พิการเข้าทำงานในลักษณะงานในอัตราที่เหมาะสมกับผู้ปฎิบัติงาน จะช่วยส่งเสริมให้ผู้พิการมีความมั่นใจในตนเองและได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้นการมีงานทำของผู้พิการหรือผู้ป่วยออทิสติกเหล่านี้จึงย่อมนำไปสู่การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน เปลี่ยนจาก “ภาระ” เป็น “พลัง” ของครอบครัว สังคมและประเทศชาติได้ ซึ่งการส่งเสริมให้บุคคลออทิสติกมีงานทำ ประกอบด้วย 3 หลักการ ได้แก่ 1.Choose เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่บุคคลออทิสติกเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคม 2.Get ผลักดันส่งเสริมให้สามารถทำงาน โดยมีขั้นตอนของการประเมินความสามารถและความสนใจในการทำงาน การหางานให้ตรงกับความสามารถ (Job match)และการฝึกทักษะการทำงาน และ 3.Keep ติดตามผลและสนับสนุนให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง

ผู้ป่วยออทิสติกต้องการการช่วยเหลืออย่างถูกต้อง เหมาะสม และเข้มข้นโดยการผสมผสานวิธีการต่างๆ ทั้งในส่วนของการส่งเสริมพัฒนาการการจัดรูปแบบการศึกษาที่เหมาะสม การส่งเสริมอาชีพและการมีงานทำตลอดจนสวัสดิการสังคมและการดำเนินชีวิตในชุมชน ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้มีนโยบายเพิ่มการเข้าถึงบริการให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับบริการคัดกรองหาความผิดปกติและบำบัดรักษากระตุ้นพัฒนาการ ตลอดจนปรับพฤติกรรมอย่างมีมาตรฐานซึ่งการร่วมมือกันอย่างจริงจัง ของหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ครอบครัว ชุมชน และสังคม ตั้งแต่การจัดระบบคัดกรองพัฒนาการที่มีประสิทธิภาพ การส่งเสริมพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง การจัดระบบการศึกษาที่เหมาะสม และที่สำคัญการเข้าใจและให้โอกาสกับกลุ่มคนพิเศษเหล่านี้ย่อมช่วยทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้ตามศักยภาพอย่างมีความสุข ทำกิจกรรมต่างๆ ได้เหมือนคนปกติทั่วไป” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
 


กำลังโหลดความคิดเห็น