คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
มีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันเป็นผลมาจากการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่เพิ่งผ่านมาคือ ที่ จ.สงขลา ผู้ชนะคือ “อนุมัติ อาหมัด” เศรษฐีธุรกิจพลังงาน และเจ้าของฟาร์มปศุสัตว์รายใหญ่ ผู้ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ที่ กทม.มากกว่าในพื้นที่เลือกตั้ง และที่สำคัญเขาได้รับการเลือกตั้งในพื้นที่ที่มีประชากรเป็นไทยพุทธกว่าร้อยละ 70 ขณะที่การเลือกตั้ง ส.ว.ที่ จ.ปัตตานี ผู้ซึ่งกำชัยคือ “นพ.สมหวัง อภิชัยรักษ์” เป็นอีกหนึ่งเศรษฐีของพื้นที่ชายแดนใต้ พื้นเพเขาเป็นชาวเหนือ และใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศมากกว่าในพื้นที่เลือกตั้ง
2 ปรากฏการณ์อันเนื่องจากการเลือก ส.ว.ครั้งนี้น่าจะสะท้อนข้อเท็จจริงอันเป็นประการที่สำคัญว่า การได้มาซึ่ง ส.ว.นั้น ส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดยังอยู่ที่ผู้สมัครต้องเป็นผู้ที่มี “ทุน” อีกทั้งต้องดูที่ว่ามี “ใครสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง” โดยเฉพาะพรรคการเมือง หรือคนของพรรคการเมือง เพราะการเลือกตั้ง ส.ว.ที่ผ่านมาใน จ.สงขลา และ จ.ปัตตานี น่าจะเป็นคำตอบที่ชัดเจน
ดังนั้น ใครก็ตามที่ยังคิดว่า ส.ว.ต้องเป็น “คนกลาง” ต้องไม่สังกัดพรรคการเมือง หรือต้องไม่มีคนของพรรคการให้การอุ้มชูนั้น ล้วนเป็นการพูดที่หลอกลวง และโกหกประชาชน หรือการที่จะหวังว่า “สภาสูง” หรือวุฒิสมาชิกจะเป็นสภาที่ถ่วงดุลต่อ “สภาล่าง” หรือสภาผู้แทนราษฎร จึงเป็นการคาดหวังที่เลื่อนลอย เพราะสุดท้ายแล้ว ส.ว.ส่วนหนึ่ง และน่าจะเป็นส่วนใหญ่เสียด้วยซ้ำต่างมีความผูกพันอยู่กับพรรคการเมืองที่ตนเองแอบสังกัดอยู่ทั้งนั้น
แต่ท่ามกลางการเมืองน้ำเน่าของการเลือกตั้ง ส.ว.ที่ผ่านมา ยังมีปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในระดับการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่ จ.สงขลา และน่าจะอีกหลายจังหวัดของภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งการเลือกตั้งผู้บริหารเทศบาล หรือ อบต.ที่ผ่านมา กลับพบว่า “นายกเทศมนตรี” และ “นายก อบต.” จำนวนกว่าครึ่งได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว เพราะประชาชนมีความต้องการเปลี่ยนแปลงให้มีคนใหม่มาทำหน้าที่แทน
เคยมีการตั้งข้อสังเกตกันว่า นายก อบต.และนายกเทศมนตรี เปลี่ยนยาก เพราะมีการสร้างอิทธิพลกินพื้นที่ที่แคบมาก ใครเป็นใครรู้กันหมด ผู้บริหารสามารถใช้ “อิทธิพล” หรือ “กฎหมายเถื่อน” ทำให้ไม่มีใครกล้าแข่งขัน ขณะที่ประชาชนก็ถูกบังคับในลักษณะเดียวกันให้จำเป็นต้องเลือก “ผู้บริหารคนเก่า” จนอยากที่จะเปลี่ยนแปลง แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะไม่เป็นจริงเสียแล้ว
ตัวอย่างสำคัญที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งผู้บริการเทศบาลเทศบาลเมืองสิงหนคร อ.สิงหนคร จ.สงขลา ซึ่งถือเป็นท้องถิ่นที่ผูกขาดโดย “เสริมศักดิ์ จันทร์สว่าง” มานานนับ 20 ปี ไม่ว่าใครที่ประกาศตัวว่าจะเป็นคู่แข่งจะต้องมีอันเป็นไป
ล่าสุด คู่แข่งที่น่ากลัวอย่าง “หมัดแสล๊ะ เส็นลิหมีน” ที่ประกาศตัวลงสมัครถูกมือปืนฆ่าตายก่อนการเลือกตั้งเพียง 2 เดือน จนทำให้เชื่อว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ “ทีมสิงหพัฒนา” ที่มีเสริมศักดิ์ จันทร์สว่าง เป็นหัวหน้าที่จะต้องนอนมาในตำแหน่งนายกเทศมนตรีอีกสมัย หรือเป็นไปจนกว่าจะเบื่อ หรือจะตายกันไปข้างหนึ่ง
แต่การเลือกตั้งผู้บริหารเทศบาลเมืองสิงหนคร เมื่อวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นสัจธรรมถึงความไม่แน่นอน และแสดงให้เห็นว่าที่แท้จริงแล้วประชาชนคือผู้ที่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวนักการเมือง และเปลี่ยนแปลงท้องถิ่นของตนเองได้ ซึ่งนักการเมืองอิทธิพล และอหังการคนแล้วคนเล่าที่เชื่อมั่นในอำนาจเงิน และอิทธิพล สุดท้ายต่างถูกสั่งสอนจากประชาชน
เสริมศักดิ์ จันทร์สว่าง อดีตนายกเทศมนตรีเมืองสิงหนคร ผู้ซึ่งมากด้วยเงิน มากด้วยคอนเน็กชันจากนักการเมืองทั้งระดับชาติ และท้องถิ่น และเป็นนายกเล็กที่ถูกมองว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลในคาบสมุทรสทิงพระ เขากลับต้องพ่ายให้แก่ “ธนากร สังฆโร” หัวหน้า “ทีมรักเมืองเก่า” ซึ่งในระยะเวลาแห่งการหาเสียงเขาไม่กล้าแม้แต่จะตั้งเวทีปราศรัยเพื่อประชันกับทีมสิงหพัฒนา เพราะด้อยกว่าทั้งทุน บารมี และอิทธิพล
หลังการพ่ายแพ้ของ เสริมศักดิ์ จันทร์สว่าง มีการกล่าว่าชัยชนะของ ธนากร สังฆโร ส่วนหนึ่งมาจากการเสียชีวิตของ หมัดแสล๊ะ เส็นลิหมีน ที่แม้ตำรวจจะจับมือปืน และผู้บงการไม่ได้ แต่ในท้องถิ่นแคบๆ อย่าง เทศบาลเมืองสิงหนคร ประชาชนต่างรู้กันว่าใครคือ “ผู้สั่งตาย”
อีกประการหนึ่ง ประชาชนในพื้นที่เทศบาลเมืองสิงหนคร ต่างเบื่อหน่ายกับอิทธิพล และอำนาจมืดในทางการเมืองที่ปกคลุมพื้นที่แห่งนี้เป็นเวลานานเต็มที เพราะที่ผ่านมา มีการคอร์รัปชันกันอย่างมโหฬาร โดยเคยมีการชี้มูลความผิดจาก ป.ป.ช.มาแล้ว แต่ท้ายที่สุดเพียงมีการลงโทษข้าราชการประจำ ส่วนนักการเมืองยังลอยนวล และยืนหยัดท้ากฎหมายได้อย่างไม่สะทกสะท้าน
นอกจากนั้น กลุ่มนักการเมืองในพื้นที่ยังแสดงอำนาจบาตรใหญ่ด้วยการทำธุรกิจผิดกฎหมายนานาชนิด โดยเฉพาะการค้าน้ำมันเถื่อน ที่ทำกันอย่างเป็นขบวนการ ทั้งทางบก และทางทะเล จนพื้นที่สิงหนครกลายเป็น “บ่อน้ำมันเถื่อน” ที่ใหญ่ที่สุดใน จ.สงขลา โดยที่กฎหมายไม่สามารถเอาผิดได้ เพราะผู้รักษากฎหมายคือส่วนหนึ่งของแขนขานักการเมืองในพื้นที่
วันนี้ประชาชนชาวเมืองสิงหนคร ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น โดยได้ให้บทเรียนแก่นักการเมืองที่ใช้อิทธิพลในการผูกขาดตำแหน่งผู้บริหาร และสร้างระบบการสืบทอดตำแหน่งแก่ภรรยา และลูกๆ เหมือนกับว่าบ้านเมือง หรือท้องถิ่นนั้นๆ เป็นบริษัทจำกัดของคนในตระกูล
นี่คือความกล้าหาญที่ต้องยกย่องต่อการตัดสินใจของคนเมืองสิงหนครในครั้งนี้
แต่สิ่งที่จะติดตามมาหลังผ่านพ้นการเลือกตั้งท้องถิ่นนั่นก็คือ “ผู้บริหารชุดใหม่” จะสามารถบริหารจัดการท้องถิ่นแห่งนี้ได้หรือไม่ และจะมีการก่อเหตุร้ายหมายชีวิตของผู้ที่ได้รับการเลือกให้เป็นผู้บริหารชุดใหม่หรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมา การเมืองท้องถิ่นใน อ.สิงหนคร อ.สทิงพระ และ อ.ระโนด ในพื้นที่ของ จ.สงขลา ต่างใช้วิธีการ “รุนแรง” จัดการกันมาโดยตลอด
อย่างล่าสุด มีการยิงถล่มรถประจำตำแหน่งของนายก อบต.วัดจันทร์ อ.สทิงพระ เพราะเข้าใจผิดว่ามี “นายก อบต.” อยู่ในรถ จนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ อบต.เสียชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความเลวร้ายของการพยายามผูกขาดอำนาจในตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น ด้วยการใช้ทุน และอิทธิพลของนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วกลับยังต้องพ่ายให้แก่พลังของประชาชนที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง
หวังว่าการเปลี่ยนแปลงที่ “เทศบาลเมืองสิงหนคร” ในครั้งนี้ประชาชนคงจะไม่พบกับความผิดหวัง เหมือนกับหลายท้องที่ของภาคใต้ตอนล่างที่ประชาชนขับไล่ “เหลือบเก่า” และได้เทใจเลือก “เหลือบใหม่” เข้ามาเพื่อโกงกินท้องถิ่นแทน ซึ่งถือว่าสถานการณ์รุนแรงกว่าเดิม เพราะเหลือบตัวใหม่ที่เลือกเข้าไปเป็น “เหลือบผอม” นั่นเอง
สุดท้ายแล้วการเมืองท้องถิ่นที่ “เมืองสิงหนคร” น่าจะยังไม่จบลงที่ความตายของ “หมัดแสล๊ะ เส็นลิหมีน” อย่างแน่นอน โดยคาดการณ์กันว่า “การเมืองเลือด” ยังต้องมีต่อไป จึงเป็นหน้าที่ของฝ่ายบ้านเมืองไม่ว่าจะเป็นตำรวจ และฝ่ายปกครองที่ต้องดำเนินการป้องกัน และแก้ปัญหา อย่าให้เกิดการ “นองเลือด” จากการ”แก้แค้น” กันไปมา
เพราะถ้ายังเป็นเช่นนั้น “ท้องถิ่น” จะไม่สามารถหลุดพ้นจาก “วงจรอุบาทว์” ที่นักการเมืองจะต้องเป็น “เจ้าพ่อ” ที่จะต้องใช้อิทธิพล และต้องมีการเลี้ยงมือปืนไว้คุ้มกันตนเองกับไว้เพื่อเก็บฝ่ายตรงข้าม