xs
xsm
sm
md
lg

สงขลาตื่นป้องทรัพยากรและสัตว์น้ำในทะเลสาบด้วย 5 มาตรการจัดหนักต่อ “เรืออวนรุน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตัวปัญหา : เรืออวนรุนในทะเลสาบสงขลา
 
การทำประมงด้วย “เรืออวนรุน” ในทะเลสาบสงขลาถือเป็นวิกฤตใหญ่ และถูกหมักหมมมาเป็นเวลานาน และนับวันปัญหานี้มีแต่จะยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น จากเรืออวนรุนที่มีมากกว่า 200 ลำ แนวโน้มยังจะเพิ่มจำนวนเรื่อยๆ เนื่องจากผลประโยชน์ที่ได้รับเป็นกอบเป็นกำ มีทั้งนักการเมือง ทนาย และข้าราชการหนุนหลัง ขณะที่เมื่อถูกจับได้ก็มีโทษเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
 
พ.ต.อ.นิพล เหมสลาหมาด รองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา
 
เมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมสถาบันวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำชายฝั่ง ต.พะวง อ.เมือง จ.สงขลา มีเวทีประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาการทำอวนรุนในทะเลสาบสงขลา ครั้งที่ 2/2557 โดยมีนายวิโรจน์ ทัฬหะวาสน์ ปลัดจังหวัดสงขลา ในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อการแก้ไขปัญหาการทำอวนรุนในทะเลสาบสงขลา เป็นประธานการประชุม เปิดการประชุม โดยมีวาระสำคัญคือ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการทำประมงด้วยเครื่องมือประมงอวนรุนในทะเลสาบสงขลามีประสิทธิภาพ
 
ทั้งนี้ เรือประมงอวนรุนเป็นเครื่องมือทำลายล้างที่มีมากกว่า 200 ลำ มีการทำประมงแบบนี้ครอบคลุมหลายอำเภอของ จ.สงขลา เช่น อ.เมือง อ.สิงหนคร อ.ควนเนียง อ.รัตภูมิ อ.บางกล่ำ และ อ.หาดใหญ่ อวนรุนเหมือนรถแทรกเตอร์ที่คราดเอาพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนหลากหลากชนิดติดขึ้นมาด้วย ส่งผลต่อการลดลงของจำนวนสัตว์น้ำ การทำลายเครื่องมือชาวประมงคนอื่นๆ ทั้งประเภทอวน และกัด ซึ่งกฎหมายประมง 2490 ระบุชัดเจนว่า อวนรุน เป็นเครื่องมือผิดกฎหมาย แต่ก็ไม่สามารถสร้างความเกรงกลัวแก่กลุ่มทำอวนรุนได้ เพราะลำพังแค่จ่ายค่าปรับแค่ครั้งละ 4,000-5,000 บาท แล้วสามารถกลับมาทำอวนรุนได้อีก กลุ่มทำอวนรุนไม่เคยเกรงกลัว เพราะออกรุนแต่ละครั้งมีรายเป็น 10,000 บาท ใช้เวลาเพียง 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น
 
ที่ประชุมแก้ปัญหาเรืออวนรุนในทะเลสาบสงขลา
 
ตัวแทนชาวประมงบ้านท่าเสา ต.สทิงหม้อ อ.สิงหนคร ให้ข้อมูลว่า กลุ่มทำอวนรุนมีทั้งทนาย นักการเมืองท้องถิ่นเป็นนายประกัน และช่วยคดีกรณีถูกจับ และเจ้าหน้าที่รัฐบางคนที่คอยให้ความช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกในการลักลอบออกทำอวนรุนแต่ละครั้ง โดยกลุ่มคนที่คอยช่วยเหลือเหล่านี้ได้รับผลประโยชน์จากกลุ่มทำอวนรุนในทุกๆ เดือน
 
“ที่สำคัญพวกอวนรุนมีสายข่าวคอยรายงานความเคลื่อนไหวการออกตรวจจับของเจ้าหน้าที่อยู่เสมอ ในส่วนของพวกเราที่เป็นคนกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่เห็นด้วยต่อการทำอวนรุน ซึ่งทำงานประสานกับเจ้าหน้าที่ ก็ยังไม่สามารถการันตีถึงความปลอดภัย เพราะยังเชื่อว่ายังมีสายในกลุ่มเจ้าหน้าที่ประมงมีส่วนได้ส่วนเสียกับกลุ่มอวนรุนอยู่”
 
ทะเลสาบสงขลาตอนล่าง
 
ตัวแทนจากกลุ่มบริหารจัดการด้านการประมง กล่าวว่า หลายครั้งคราที่ประมงจังหวัดสงขลา โดยหน่วยปราบปรามเรืออวนรุนออกล่าจับกลุ่มผู้ทำอวนรุนในทะเลสาบ โดนขัดขืนต่อสู้จากผู้ทำอวนรุน บ้างก็นำเรือพุ่งชนเรือเจ้าหน้าที่ ถึงขั้นทำร้ายทรัพย์สิน หรือหมายเอาชีวิตเจ้าหน้าที่ด้วย
 
พ.ต.อ.นิพล เหมสลาหมาด รองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถช่วยเหลือในส่วนของการหนุนเสริมช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ประมงกรณีออกล่าจับอวนรุน และการทำสำนวนคดี  ให้กระชับเพื่อนำไปสู่บทลงโทษที่รุนแรง
 
ส่วนนายสายัณต์ เอี่ยมรอด ประมงจังหวัดสงขลา บอกว่า เพราะบทลงโทษน้อย มีช่องว่างที่อำนวยช่วยเหลือกลุ่มทำอวนรุน มีการจับแล้วปล่อย ทำให้กลุ่มทำอวนรุนย่ามใจ ประกอบกับรายได้ที่มากกว่าทำประมงโดยเครื่องมืออื่นๆ ทำให้อวนรุนยิ่งเพิ่มขึ้นมาก
 
ด้านนายชูศักดิ์ บริสุทธิ์ ประมงอำเภอสทิงพระ กล่าวว่า ควรมีการจดทะเบียนเรือประมง เพราะที่ผ่านมา กลุ่มทำอวนรุนมักใช้เรือที่ทำสัญญาเช่า เมื่อถูกจับก็ได้เรือกลับคืนอีก
 
ปลาเล็กปลาน้อยที่เรืออวนรุนไม่เคยละเว้น
 
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้สรุปข้อเสนอแนะ และแนวทางการจัดการอวนรุน ได้แก่ 1.การเพิ่มความเข้มข้นของบทลงโทษที่รุนแรง ควบคู่ไปกับการสร้างจิตสำนึกปรับเปลี่ยนเป็นการทำประมงที่เหมาะสม ไม่เอาเปรียบเพื่อนร่วมอาชีพ เพื่อมีทรัพยากรสัตว์น้ำที่สมบูรณ์ และขนาดสัตว์น้ำที่นำมาบริโภคเหมาะสม 2.ออกประกาศจังหวัดห้ามทำอวนรุนในทะเลสาบ คำสั่งการจัดการอวนรุนระดับจังหวัด ท้องถิ่น พื้นที่ โดยทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง
 
3.การเผยแพร่ข้อมูลพื้นที่กลุ่มทำอวนรุน ผลกระทบต่อกลุ่มคนกินปลา และสาธารณะให้เกิดทัศนคติต่อต้านการทำอวนรุน 4.คณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาอวนรุนต้องจริงจังร่วมกันแก้ปัญหา และต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียต่อกลุ่มทำอวนรุน และ 5.กองทุนช่วยเหลือเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนการทำประมงที่เหมาะสมไม่ทำลายสัตว์น้ำวัยอ่อน ไม่เอาเปรียบชาวประมงคนอื่นๆ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น