ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ผู้ว่าฯ ภูเก็ต ลงตรวจสถานประกอบการธุรกิจดำน้ำ รับฟังข้อมูลจากผู้ประกอบการ ระบุพบ 3 ช่องโหว่ทำให้เกิดส่วย เตรียมเรียกครูสอนดำน้ำต่างชาติ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายชี้แจงทำความเข้าใจร่วมกัน
เมื่อเวลา 14.00 น. วันนี้ (4 เม.ย.) ที่สถานประกอบการธุรกิจดำน้ำ ออล โฟร์ ไดร์ฟ ซอยแสนสบาย หาดป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นางเยาวภา พิบูลย์ผล จัดหางานจังหวัดภูเก็ต น.ส.อโนมา วงษ์ใหญ่ ผู้อำนวยการสำนักงานภูเก็ต การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ น.ส.สองฤดี พรหมชู เจ้าหน้าที่สมาคมดำน้ำทีดีเอ เดินทางเข้ารับฟังข้อมูลปัญหาจากผู้บริหารสถานประกอบการ และครูสอนดำน้ำ พร้อมทั้งเยี่ยมชมกระบวนการทำงาน และขั้นตอนการเรียนการสอนของครูสอนดำน้ำชาวต่างชาติ เพื่อนำไปร่วมแก้ปัญหา หลังจากเกิดกรณีมีเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการจับกุม ก่อนเรียกร้องจ่ายเงินรายเดือนเพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดี
ขณะที่เจ้าหน้าที่จากสำนักงานจัดหางานจังหวัด ได้เข้าตรวจสอบใบอนุญาตสถานประกอบการ และใบอนุญาตทำงานของครูสอนดำน้ำ พร้อมทั้งให้ความรู้ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับขอบเขตหน้าที่ และข้อจำกัดที่ระบุในใบอนุญาตทำงาน
นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า หลังจากที่มีการทางสมาคมด้ำน้ำมายื่นหนังสือร้องเรียนเรื่องความไม่สะดวกที่เกิดขึ้นกับอาชีพดำน้ำ วันนี้จึงได้ลงมาหาข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจดำน้ำ ที่นี่เองเป็นทั้งบริษัทสอนดำน้ำด้วย และมีการจำหน่ายอุปกรณ์ด้วย ในส่วนการเรียนการสอนนั้นจะมีการฝึกสอนทั้งในห้องเรียน ลงเรียนในสระ และการออกไปดำในทะเลจริง ตามหลักสูตร 2 วัน 3 วัน และ 5 วัน ในราคาตั้งแต่ 12,000-15,500บาท และจากการฟังข้อมูลทั้งหมด จุดที่พบว่าเป็นช่องโหว่ให้เกิดการหาประโยชน์ใน 3 ข้อ คือ 1.การที่เจ้าหน้าที่บางหน่วยงานเข้ามาตรวจ และจับกุมครูสอนดำน้ำ และว่าอ้างว่าครูสอนดำน้ำทำงานนอกสถานที่ที่ได้รับอนุญาต เนื่องจากในใบอนุญาตทำงานแบบเก่าระบุว่า ทำงานอยู่ในที่ตั้งสำนักงานเพียงอย่างเดียว ไม่รวมถึงการออกไปสอนนอกสถานที่ที่ได้รับอนุญาต
แต่สำนักงานจัดหางานได้ชี้แจงว่า ข้อความใบอนุญาตฉบับใหม่ซึ่งออกมาใช้ตั้งแต่กลางปี 2556 ได้ระบุชัดเจนว่า ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ดังนั้น ครูสอนดำน้ำจึงสามารถทำงานนอกสถานที่ที่ระบุได้อย่างถูกต้อง โดยจะต้องนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมร่วมกันต่อไป 2.คือจุดที่ระบุว่าครูสอนดำน้ำบางรายถูกจับกุมขณะหิ้วกระเป๋าสัมภาระ หรืออุปกรณ์ดำน้ำของตัวเองนั้น ความจริงสามารถทำได้แต่ต้องพิสูจน์ได้ว่าเป็นกระเป๋าสัมภาระของตนเองจริงๆ แต่ไม่สามารถหิ้ว หรือช่วยเหลือการขนกระเป๋าสัมภาระ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ของผู้เรียนได้ โดยจะต้องให้เป็นอาชีพของคนไทย ตามที่ระบุใน 39 อาชีพสงวนสำหรับคนไทยเท่านั้น และ 3.คือการที่เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบบริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจดำน้ำแล้วอ้างว่าทำเกินจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาต
สำหรับแนวการแก้ปัญหานั้น เร็วๆ นี้จะมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเพื่อให้ยืนอยู่บนกติกา ตามที่สำนักงานจัดหางานได้ตั้งไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้หน่วยงานตรวจสอบดังกล่าว เกิดความเข้าใจร่วมกัน เพื่อไม่ให้เป็นการกระทบต่อการท่องเที่ยว เพราะเรื่องดำน้ำนั้นเป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติ ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีบริษัทดำน้ำในภูเก็ตอยู่ถึง 114 แห่ง มีจำนวน ครูสอนดำน้ำต่างชาติอีกกว่า 196 คน มีชาวต่างชาติเลือกมาเรียนดำน้ำที่จังหวัดภูเก็ตถึงร้อยละ 60 ต่อปี
ด้านนางเยาวภา พิบูลย์ผล จัดหางานจังหวัด กล่าวว่า สำนักงานจัดหางานจังหวัดได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบสถานประกอบการธุรกิจดำน้ำพร้อมทั้งให้ความรู้แล้วทั้งหมด 3 แห่ง ซึ่งพบว่ามีการขออนุญาตทั้งสถานประกอบการ และครูสอนดำน้ำถูกต้องทั้งหมด จากนี้จะสุ่มตรวจไปเรื่อยๆ หากพบว่าไม่ถูกต้องก็จะต้องดำเนินการตามกฎหมายด้วย รวมถึงจะมีการสุ่มตรวจตามท่าเรือต่างๆ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางแหล่งดำน้ำต่างๆ อีกด้วย
ส่วนเรื่องคำจำกัดความในใบอนุญาตทำงานของครูสอนดำน้ำนั้นคิดว่าขณะนี้ก็มีความชัดเจนแล้วว่าครูสอนดำน้ำสามารถทำได้ทั้งจังหวัด จึงเหลือเพียงการทำความเข้าใจร่วมกันกับหน่วยงานอื่นๆ ส่วนที่มีบางกลุ่มท้วงติงว่า ลักษณะงานที่ระบุควรเป็นภาษาอังกฤษนั้น ตามระเบียบของใบอนุญาตทำงานจะต้องเป็นภาษาไทย เนื่องจากใบอนุญาตดังกล่าวสำหรับใช้ในราชอาณาจักรไทย แต่ก็จะต้องหารืออีกครั้งว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีภาษาอังกฤษกำกับเนื่องจากผู้ใช้ก็เป็นชาวต่างชาติ