ศูนย์ข่าวภูเก็ต - รองเลขาธิการ ป.ป.ท.รับหนังสือร้องเรียนจากตัวแทนสมาคมดำน้ำ ที ดี เอ กรณีปัญหาผู้ประกอบการธุรกิจดำน้ำและครูสอนดำน้ำชาวต่างชาติร้องถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม และเสนอให้จ่ายเงินรายเดือนแลกไม่ดำเนินคดี เผยเบื้องต้นรับเป็นคดีพิเศษ จะดำเนินการตรวจสอบภายใน 2 สัปดาห์ ก่อนส่งต่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ท.ไต่สวน ยืนยันจะให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย
เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (27 มี.ค.) ที่สำนักงานสาขาสมาคมดำน้ำ ที ดี เอ แห่งประเทศไทย อ.ถลาง จ.ภูเก็ต นายประยงค์ ปรียาจิตต์ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พร้อมคณะทำงาน เดินทางเข้าพบ นายพงษ์สวรรค์ สถาธรรม เลขาธิการสมาคม และนางภาวดี เดอ คริสเซย์ คณะกรรมการสมาคม เพื่อรับฟังปัญหาและรับหนังสือร้องเรียนจากสมาคมดำน้ำที่ ดี เอ ประเทศไทย หลังเกิดกรณีปัญหาผู้ประกอบการธุรกิจดำน้ำและครูสอนดำน้ำชาวต่างชาติในจังหวัดภูเก็ตกว่า 100 คน เข้าร้องเรียนผ่านทางสมาคมฯ ว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมในข้อหาทำงานผิดประเภท และเสนอให้จ่ายเงินรายเดือนรายละ 3,000-20,000 บาท เพื่อแลกกับการไม่ถูกดำเนินคดี
นายประยงค์ กล่าวว่า ป.ป.ท.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสมาคมกีฬาดำน้ำที ดี เอ ประเทศไทย ว่า มีผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อนจากเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปรังแก และเรียกรับเงิน ซึ่งทราบกันดีว่าธุรกิจท่องเที่ยวเป็นเส้นเลือดใหญ่ของจังหวัดภูเก็ต และธุรกิจดำน้ำก็มีความเกี่ยวเนื่องกัน มีการขออนุญาตถูกต้อง ตามข้อร้องเรียนที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปข่มขู่ เรียกรับเงิน ซึ่งการกระทำดังกล่าวนอกจากจะเป็นความผิดทางอาญาแล้ว ก็เป็นการทำลายชื่อเสียง และทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศด้วย ถ้าเรื่องที่ร้องเรียนดังกล่าวเป็นความจริง ประการแรก เจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำการดังกล่าวอยู่ต้องหยุด เพราะเป็นความผิด ประการที่สอง สำนักงาน ป.ป.ท.เมื่อรับเรื่องแล้วก็จะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เสร็จโดยเร็ว
คาดว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริวจะแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ ก่อนเสนอกรรมการไต่สวน ของคณะกรรมการ ป.ป.ท.ให้ทำการไต่สวนว่าผิดหรือถูก ถ้าเกิดผิดก็จะต้องดำเนินคดีโดยเด็ดขาด ถ้าไม่ผิดก็จะต้องให้ความเป็นธรรมแก่ทั้ง 2 ฝ่าย และประการที่สาม จะต้องขอความร่วมมือผู้ประกอบการ และชาวจังหวัดภูเก็ต ถ้าเกิดกรณีเช่นนี้อีกก็ขอให้ช่วยเก็บหลักฐาน หากสามารถบันทึกเสียง หรือบันทึกภาพไว้ได้ก็จะสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น และป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไปใช้อำนาจในทางที่ผิด ซึ่งถ้าปล่อยปละละเลยก็จะเกิดความเสียหายแก่พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดภูเก็ต และประเทศ สำหรับตัวบุคคลที่แจ้งข้อมูลร้องเรียนนั้น ขอให้มีความมั่นใจว่า ป.ป.ท.จะไม่นำข้อมูลผู้ร้องเรียนไปเปิดเผย
อย่างไรก็ตาม รองเลขาธิการ ป.ป.ท.ยังกล่าวถึงในเรื่องฐานความผิดของกรณีดังกล่าวว่า หากเจ้าหน้าที่ที่ถูกร้องได้กระทำความผิดจริง ก็จะมีความผิดใน “ข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” จะมีโทษจำคุก 10 ปีขึ้นไป รวมถึงเป็นข้าราชการก็ต้องผิดวินัยร้ายแรง เนื่องจากเป็นคดีอาญาฯ อาจจะต้องออกจากราชการ “จึงขอเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ข้าราชการว่าไม่ควรทำ เนื่องจากมาทำหน้าที่มีเงินเดือนประจำอยู่แล้ว มีหน้าที่ที่จะต้องดูแลความสงบเรียบร้อยของประชาชน ถ้าเกิดไปใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบก็จะต้องถูกดำเนินคดี”
ด้านนายพงษ์สวรรค์ สถาธรรม เลขาธิการสมาคมดำน้ำฯ กล่าวว่า หลังจากที่ได้ร่วมประชุมกับผู้ประกอบการ ซึ่งเข้าร่วมประมาณ 150 บริษัท ก็มีความเห็นว่า การยื่นหนังสือร้องเรียนผ่าน ป.ป.ท.นั้นก็เพื่อให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น และเพื่อให้ตรวจสอบว่าถูกหรือผิดยังไง เพราะสมาคมฯไม่มีอำนาจตรวจสอบ จึงต้องเป็นตัวแทนนำปัญหาเสนอไปยังองค์กรต่างๆ โดยล่าสุดขณะนี้มีชาวต่างชาติซึ่งเป็นทั้งผู้ประกอบการ และครูสอนดำน้ำ ลงชื่อร้องเรียนแล้วจำนวนกว่า 40 ราย ขณะที่บางรายก็ยังกลั ไม่กล้าลงชื่อ ในส่วนของการดำเนินการส่วนอื่นๆ ของสมาคม ขณะนี้ได้รวบรวมข้อมูลร้องเรียนต่างๆ ของผู้ประกอบการทั้งหมดส่งให้กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 แล้ว 1 หน่วยงาน ส่วนอีก 2 หน่วยงาน คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด และสำนักงานจัดหางาน คาดว่าจะนำหนังสือไปยื่นภายในวันจันทร์ที่ 1 เมษายนนี้