xs
xsm
sm
md
lg

อย่าซ้ำเติมไฟใต้ด้วยการโยกย้ายแบบให้ “รางวัล” / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


  
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
 
“ตายเป็นเบือ” ประโยคนี้คงจะเป็นประโยคที่เหมาะที่สุดกับสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเวลานี้ อันเป็นสถานการณ์ที่แนวร่วมขบวนการเปิดเกมรุก โดยมีชาวไทยพุทธกลายเป็นเหยื่อสถานการณ์แบบรายวัน ชีวิตร่วงหล่นศพแล้วศพเล่า ซึ่งเข้ากันกับฤดูไม่ใบ้ร่วงในขณะนี้
 
แน่นอนว่าหน่วยงานที่ปัดความรับผิดชอบไม่ได้สำหรับความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับประชาชน และเจ้าหน้าที่คือ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งมี พล.ท.สกล ชื่นตระกูล แม่ทัพภาคที่ 4 ทำหน้าที่ ผ.อ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
 
ซึ่งเหมือนกับทุกๆ “แม่ทัพ” ที่ผ่านมา ที่กลายเป็น “จำเลย” ของสังคม และต้องถูกสังคมตั้งคำถามทุกครั้ง ทุกวันว่า เกิดอะไรขึ้น จะแก้ไขปัญหา และจะปกป้องชีวิตของผู้บริสุทธิ์ได้อย่างไร
 
โดยเฉพาะในระยะหลัง ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557 คำถามที่ถี่และกระชั้นขึ้นจากกลุ่มคนไทยพุทธที่มีการสูญเสียอย่างต่อเนื่อง และถูกกระทำจากกลุ่มคนร้ายอย่างโหดเหี้ยม ไม่เว้นแม้การฆ่าแล้วเผา
 
ผู้เขียนเชื่อว่าทุกฝ่ายทั้งครอบครัวผู้สูญเสีย และผู้ที่ยังมีลมหายใจอยู่ต่างเห็นใจผู้ที่เป็น “แม่ทัพ” เป็น ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ไม่สามารถคุ้มครองป้องกันชีวิตของผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่ให้พ้นจากความตาย เพราะมีปัญหา และอุปสรรคที่ทำให้ทำได้ไม่ง่ายอย่างที่คิด
 
เนื่องด้วยพื้นที่กว้างใหญ่ที่ไม่สามารถส่งเจ้าหน้าที่ในการลาดตระเวน คุ้มครองบ้านเรือนในทุกชุมชน และเส้นทางสัญจรทุกเส้นทาง
 
รวมทั้งงาน “การข่าว” ที่เข้าไม่ถึงชั้นความลับของขบวนการ ไม่สามารถเกาะติดเพื่อล่วงรู้แผนงาน ความเคลื่อนไหวของขบวนการว่าจะก่อเหตุที่ไหน เมื่อไร ยิ่งทำให้การป้องกันไม่ประสบความสำเร็จ
 
บวกกับภารกิจของกำลังของกองทัพที่ต้องแบกรับกับภารกิจมากมาย ทั้งงานป้องกัน งานมวลชน และงานพัฒนา จนทำให้กำลังของกองทัพกว่า 60,000 นายไม่สามารถที่จะป้องกันเหตุร้ายได้อย่าง 100%
 
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สุดท้ายผู้ที่ต้องแบกรับกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนในพื้นที่ และจากภาคส่วนต่างๆ คือ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และผู้ที่เป็นผู้นำนั่นคือ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 หรือ “แม่ทัพ” ของกองทัพภาคที่ 4 นั่นเอง
 
ที่เขียนถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเขียนถึงผู้นำในการแก้ปัญหาในพื้นที่อย่างยืดยาว เป็นเพราะอยากจะให้เห็นถึงความสำคัญของผู้ที่จะมาทำหน้าที่เป็น “แม่ทัพ” เป็น “นายกอง” ในการแก้ปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังคงรุนแรงอยู่ และอาจจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นไปอีกก็ได้ หาก “โอกาส” และ “เงื่อนไข” เอื้ออำนวย
 
เดือนเมษายนนี้จะมีการเปลี่ยนตัว “แม่ทัพ” ในการสู้ศึกเพื่อการดับไฟใต้ของกองทัพภาคที่ 4 อีกครั้ง เนื่องจาก พล.ท.สกล ชื่นตระกูล แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องขยับไปติดยศ “พล.อ.” ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้
 
ทราบว่า พล.ท.สกล ชื่นตระกูล แม่ทัพภาคที่ 4 ได้มีการเสนอชื่อ พล.ต.ปราการ ชลยุทธ รองแม่ทัพภาคที่ 4 และ รอง ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่
 
แต่ในขณะเดียวกัน กองทัพบก โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ส่งรายชื่อ พล.ท.วลิต โรจนภักดี แม่ทัพน้อยที่ 3 ให้ข้ามห้วยมาขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่
 
ผู้เขียนเชื่อโดยสุจริตว่า นายทหารผู้ใหญ่ทั้ง 2 นายไม่ว่าจะเป็น พล.ท.วลิต หรือ พล.ต.ปราการ ล้วนเป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถ และเป็นคนดี เพราะคนที่สามารถไต่เต้าจนถึงระดับ “พล.ท.” หรือ “ พล.ต.” นั้น ถ้าไม่เป็นคนดี เป็นคนมีความรู้ เป็นคนมีความสามารถ คงจะมาไม่ถึงตำแหน่งแม่ทัพอย่างแน่นอน
 
แต่ในฐานะที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ซึ่งมีการ “สู้รบ” ในลักษณะ “สงครามประชาชน” ที่มีความละเอียดอ่อนของปัญหาของประชาชนที่มีความ “เห็นต่าง” จากรัฐในหลากหลายเรื่องราว ซึ่งมากไปด้วยความ “ซับซ้อน”
 
โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่เกิดความรุนแรงปะทุขึ้นระลอกใหม่มีคนตายไปแล้วจากสงครามประชาชนกว่า 5,000 คน และบาดเจ็บเหยียบ 20,000 คน
 
ดังนั้น คนที่จะมาเป็น “แม่ทัพ นายกอง” เพื่อทำหน้าที่ดับไฟใต้จะต้องเป็นผู้ที่มีมากกว่าความเป็นคนดี คนมีความสามารถ แต่ต้องมีความรู้และความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ในพื้นที่แบบที่พูดกันว่า “เข้าใจ เข้าถึง” หรืออย่างน้อยต้องผ่านงานในพื้นที่มาก่อน ต้องรู้จักต้นลูกเนียง ลูกสะตอ ลูกเหรียง และอะไรต่อมิอะไรในพื้นที่
 
ที่สำคัญที่สุด ตำแหน่งผู้นำทุกตำแหน่งของพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และอื่นๆ จะต้องเอาผู้ที่เป็นคนดี มีความรู้ มีความเข้าใจ ทั้งเข้าใจปัญหา เข้าใจพื้นที่ เข้าใจประชาชน ให้มาทำหน้าที่ในตำแหน่ง “ผู้นำหน่วย”
 
จึงไม่ใช่การให้เพื่อ “ปลอบใจ” หรือเพื่อเป็น “รางวัล” ของคนที่ “อกหัก” จากตำแหน่งที่ต้องการแล้วไม่ได้ จึงมีการ “ตกรางวัล” ให้มาเป็นผู้นำหน่วยเพื่ออวยยศให้เป็นการให้ “ของขวัญ”
 
ซึ่ง “ของขวัญ” ที่ผู้ได้รับอาจจะถูกใจ หรือไม่ถูกใจก็ได้ แต่ผู้ที่ต้องรับผลกระทบจากการ “ตกรางวัล” อย่างนี้ก็คือ ประชาชนในพื้นที่ที่ต้องเป็นผู้ได้รับกรรมอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เนื่องจากผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการแก้ปัญหาอาจจะเป็น “ตัวปัญหา” เสียเองก็เป็นได้
 
ปัญหาหนึ่งของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ “ซ้ำเติม” สถานการณ์การก่อการร้ายคือ การโยกย้ายข้าราชการในแต่ละครั้ง เพราะปรากฏมีการนำเอาบุคคลที่เหลืออายุราชการเพียง 1 ปีมาเป็นผู้นำหน่วย เช่น ตำแหน่ง “ผบช.” ตำแหน่ง “ผบก.” ตำแหน่ง “ผวจ.” และอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นตำแหน่งผู้นำสูงสุดในพื้นที่ อันสามารถให้คุณให้โทษแก่ข้าราชการในสังกัด และแก่ประชาชนในพื้นที่
 
แน่นอนว่า คนเหล่านั้นหลายต่อหลายคนเป็นคนดี เป็นคนที่มีความรู้ความเข้าใจในปัญหาของพื้นที่ แต่การที่มีอายุราชการเพียงปีเดียว หรือมีบางคนมีอายุราชการเพียง 9 เดือน ก็ทำให้การทำหน้าที่ไม่ต่อเนื่อง
 
ที่สำคัญคนที่มาอยู่ในตำแหน่งสำคัญๆ เพื่อรอเกษียณอายุนั้น ส่วนหนึ่งมาเพื่อ “เก็บเกี่ยว” ผลประโยชน์เป็นปีสุดท้าย
 
และที่สำคัญกว่านี้คือ ผู้บังคับบัญชาที่มารอ “ปลด” นั้น ผู้ใต้บังคับบัญชาจะไม่ให้ความสำคัญ บ่อยครั้งการ “สั่งการ” ต่างๆ เหมือนกับเป็นการ “สั่งขี้มูก” คือได้ยิน แต่ไม่ทำตาม ลูกน้องส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญว่า ใครจะมาเป็น “นายคนใหม่” มากกว่าที่จะสนองงานของ “นายที่รอการเกษียณ”
 
ดังนั้น ตำแหน่ง “ผู้นำหน่วย” ตั้งแต่แม่ทัพ นายกอง ผบช. ผบก. หรือ ผวจ. ไม่ควรที่จะเป็นตำแหน่งที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในแต่ละหน่วยงานนำไปเป็น “รางวัล” ให้แก่ “คนใกล้ชิด” หรือคนที่มีความดีความชอบในการทำหน้าที่
 
รวมทั้งไม่ควรนำเอาคนที่ “อกหัก” หรือ “ผิดหวัง” จากตำแหน่งที่ต้องการ แต่ไม่ได้ แม้จะมีอายุราชการอีกหลายปีก็ไม่ควรที่จะได้ “รางวัล” เป็นการ “ปลอบใจ”
 
เนื่องเพราะวิธีการอย่างนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่คือการ “ซ้ำเติม” สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เลวร้ายยิ่งขึ้นนั่นเอง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น