xs
xsm
sm
md
lg

ระวังไฟการเมืองจากกรุงเทพฯ ลุกลามสู่ “สงครามศาสนา” ในแผ่นดินไฟใต้ / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
 
สถานการณ์ความรุนแรงยังเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง เช่น เหตุยิงครูที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ยิงพระภิกษุที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ระเบิดถล่มปลัดอำเภอ และทหารตายหมู่ 4 ศพที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี และเหตุรุนแรงที่กระทบกระเทือนจิตใจของทุกผู้คนล่าสุดคือ การปฏิบัติการ “ฆ่าล้างครัว” ของครอบครัวนายเจะมุ มะมัน ครูสอนโรงเรียนตาดีกาที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ซึ่งทำให้ลูกๆ ของนายเจะมุ ที่อายุยังไม่ถึง 10 ขวบ เสียชีวิต 3 คน ในขณะที่นายเจะมุ กับภรรยา ซึ่งตั้งครรภ์ 4 เดือน บาดเจ็บสาหัส
 
ปฏิบัติการของแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดน ภายใต้สังกัดขบวนการบีอาร์เอ็น โคออดิเนต ทั้งหมดเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่า ต้องการใช้ “ความรุนแรง” ในการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการ โดยไม่คำนึงถึงคำว่า “ศีลธรรม” และ “มนุษยธรรม” ใดๆ ทั้งสิ้น
 
โดยเฉพาะปฏิบัติการล่าสุดคือ การฆ่าล้างครัวครอบครัวนายเจะมุ ที่โชคดีที่นายเจะมุ และภรรยาหนีเอาตัวรอดได้ ซึ่งการปฏิบัติการของแนวร่วมครั้งนี้ไม่ได้ยิงผิดตัว หรือเด็กๆ ที่เป็นเหยื่อถูกลูกหลง แต่เป็นความ “ตั้งใจ” ในการฆ่าเด็กเล็กๆ เพื่อแก้แค้น เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้แก่มวลชนในพื้นที่ และหลังเกิดเหตุได้พยายามป้ายความผิดว่า การฆ่าล้างครัวนายเจะมุ เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ
 
สาเหตุที่ชี้ชัดว่า คดีนี้ไม่ใช่ฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเพราะนายเจะมุ เข้าสู่ “กระบวนการพาคนกลับบ้าน” ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เพราะนายจะมุ เคยเป็นอดีตแนวร่วมที่เคยร่วมในการก่อเหตุในพื้นที่หลายครั้ง และยังมีคดีความในข้อหาร่วมกันกับแนวร่วมฆ่าอดีตผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ต.ไม้แก่น อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี
 
แต่หลังจากที่นายเจะมุ กลับเข้าสู่โครงการพาคนกลับบ้าน ก็ได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองด้วยดี จึงไม่มีเหตุอะไรที่เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องปลิดชีพนายเจะมุ เหมือนกับกลุ่มคนที่เป็นแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ไม่มีทางเยียวยาให้กลับตัวกลับใจได้
 
รวมทั้งพื้นที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เป็นพื้นที่ “ยุทธการ” ภายใต้การควบคุมของนาวิกโยธินค่ายจุฬาภรณ์ ซึ่งนโยบายของหน่วยนาวิกโยธินนั้น ไม่เคยมีการใช้วิธี “เก็บ” แนวร่วม และแกนนำของขบวนการผู้เห็นต่างในพื้นที่มาก่อน
 
การปฏิบัติการฆ่าล้างครัวของครอบครัวนายเจะมุ ครั้งนี้ จึงมาจาก 2 สาเหตุด้วยกัน สาเหตุที่ 1 คือ ขบวนการสั่งการให้ปฏิบัติการต่อครัวครัวนายเจะมุ อย่างโหดเหี้ยมครั้งนี้เพื่อ “สั่งสอน” และ “ข่มขู่” แกนนำ และแนวร่วมในพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน และหลังจากนั้นยังให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งส่งผลให้เกิดความสูญเสียต่อขบวนการในหลายครั้งที่ผ่านมา
 
และสาเหตุที่ 2 คือ นายเจะมุ มีส่วนในการก่อเหตุร้ายในพื้นที่ ทั้ง จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาสหลายครั้ง สร้างความเจ็บแค้นให้แก่ญาติๆ ของผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บ เมื่อเห็นว่านายเจะมุ ถอนตัวจากขบวนการ ไม่มีขบวนการหนุนหลัง จึงปฏิบัติการแก้แค้นเพื่อ “เอาคืน” ดังนั้น ปฏิบัติการที่เกิดขึ้นจึงมีลักษณะที่ “โหดเหี้ยม” แสดงให้เห็นถึงความ “สะใจ” ของผู้ปฏิบัติการในครั้งนี้
 
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงหลังเกิดเหตุครั้งนี้คือ แกนนำทั้งในพื้นที่ และนอกพื้นที่ได้ปฏิบัติการปลุกระดม โฆษณาชวนเชื่อต่อประชาชน ทั้งทาง “โซเชียลมีเดีย” และการใช้ “บุคคล” ว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ และประชาชนต่างเชื่อในการปลุกระดมครั้งนี้เป็นจำนวนมาก จนก่อให้เกิดปฏิกิริยาในด้านลบต่อเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะกับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นอย่างยิ่ง
 
ดังนั้น สิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องเร่งดำเนินการคือ ต้องทำความจริงให้ปรากฏโดยเร็ว และมีพยานหลักฐานอ้างอิงที่เชื่อถือได้ รวมทั้งสามารถที่จะออกหมายจับ หรือจับกุมผู้ที่ลงมือปฏิบัติการ หรือเป็นผู้สั่งการให้ได้ ก่อนที่จะมีการขยายผลในการปลุกระดม รวมทั้งหากการปลุกระดมจากวิธีการดังกล่าวได้ผล ต่อไปปฏิบัติการเช่นนี้จะต้องเกิดขึ้นกับอดีตแกนนำ หรือแนวร่วมที่กลับใจออกมาเข้าร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ และสุดท้าย เมื่อการข่มขู่ได้ผล โครงการที่ให้ผู้ทำผิด หรือหลงผิดออกมารายงานตัวก็จะประสบความล้มเหลวอีกครั้ง
 
สถานการณ์ความไม่สงบ และความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ ขณะนี้ นอกจากการใช้ความรุนแรงในการก่อเหตุต่อประชาชน ครู พระ และเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อนำไปสู่ความ “แตกแยก” ระหว่างผู้ที่นับถือศาสนาต่างกันแล้ว สถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากการ “เลือกฝ่าย” ที่เกิดจากการต่อสู้ของ กปปส.กับรัฐบาลรักษาการพรรคเพื่อไทย ก็กลายเป็นอีกหนึ่งความขัดแย้งที่นำไปสู่ความแตกแยกทางความคิดเห็นที่เป็นปัญหาความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ในพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย
 
ทั้งนี้ การเมืองได้ปลุกระดมให้คนในพื้นที่แบ่งเป็น 2 ขั้วคือ ขั้วที่ไม่เอาการเลือกตั้ง และออกมาใช้มวลชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็น “ไทยพุทธ” ในการขัดขวางการเลือกตั้ง กับขั้วที่เอาการเลือกตั้ง สนับสนุนให้มีการเลือกตั้ง และส่วนใหญ่เป็น “ไทยมุสลิม” และมีการเคลื่อนพลเพื่อทวงสิทธิอันชอบธรรม จนเกือบจะมีการปะทะกันของมวลชนที่นับถือศาสนาต่างกันหลายครั้งแล้ว
 
วันนี้มีการนำเรื่องความไม่สงบทางการเมือง ความเห็นต่างทางการเมือง มาเป็นปัจจัยหนึ่งในการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างความแตกแยกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการเสนอแนวคิดของแกนนำที่จะใช้วิธีการของ กปปส.ที่ไม่กลัวการทำผิดกฎหมายมาใช้ในการต่อสู้กับรัฐบาล และมีคำถามว่าทำไม่ในพื้นที่ซึ่งเคลื่อนไหวออกมาทวงสิทธิ ออกมาเรียกร้องในสิ่งที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง อยุติธรรม จึงมีความผิด ถูกจับกุม แต่คนในเมืองหลวงทำได้ และอยู่เหนือกฎหมาย” ได้
 
หากมีการใช้วิธีการที่ กปปส.ไปใช้กับอำนาจรัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอนาคตปัญหาความยุ่งยาก และรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้น  และหากนักการเมืองร่วมมือกับแกนนำขบวนการต่างๆ นำเรื่องความแตกแยกทางการเมืองเข้ามาเป็นเรื่องเดียวกับการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้อง “รัฐปัตตานี” ของขบวนการแบ่งแยกดินแดน
 
โอกาสที่ความรุนแรงในภาคใต้จะกลายเป็น “สงครามศาสนา” ตามความต้องการของขบวนการแบ่งแยกดินแดนอยู่เพียงแค่เอื้อม
 
จึงเป็นงานหนักของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศอ.บต. ที่จะต้องหยุดการนำเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองเข้ามาเป็นเนื้อเดียวกับการก่อการร้ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะ ณ วันนี้เราไม่มีรัฐบาลให้พึ่งพาอาศัยต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น
 
ดังนั้น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งรับผิดชอบในเรื่องความไม่สงบ ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การปกป้องอธิปไตยของชาติ กับ ศอ.บต. ซึ่งมีหน้าที่หลักในการพัฒนา และบูรณาการหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ ทั้ง 2 องค์กรจะต้องไม่ให้ปัญหาการเมืองนำพาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปสู่ “สงครามประชาชน” และ “สงครามศาสนา” ตามความต้องการของขบวนการแบ่งแยกดินแดนอย่างแท้จริง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น