xs
xsm
sm
md
lg

ความหวังริบหรี่กับปาหี่สันติภาพที่ชายแดนใต้ / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
 
การชุมนุมทางการเมืองทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอาจจะลากยาวไปถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ การเป็นประเด็น “ร้อน” ที่ทำให้ข่าวสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ลดโทนของความร้อนแรง และลดความสนใจของสังคมลงไปได้ในระดับหนึ่ง สื่อหลายแขนงลดการนำเสนอข่าวสถานการณ์การก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อแบ่งพื้นที่ให้แก่ข่าวการเมือง การชุมนุม และการคงอยู่ หรือล่มสลายของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยแทน
 
ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่ได้ “คลี่ลาย” ไปในทางที่ดี รวมทั้งการแก้ปัญหาของภาครัฐยังอยู่ในสถานะของการ “ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก” อยู่ตลอดเวลา
 
สภาพของปัญหาคือ เจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะตำรวจ และทหารยังกลายเป็น “ผักเหนาะ” ของกลุ่มโจรก่อการร้ายที่ต้อง “พลีชีพ” เป็นรายวัน ยิ่งตำรวจกลายเป็นจุดอ่อนที่ออกจากโรงพักเมื่อไหร่โอกาสที่จะพบกับจุดจบด้วยระเบิดแสวงเครื่องเกิดขึ้นได้เมื่อนั้น จนทำให้หลายพื้นที่ หลายโรงพัก ตำรวจไม่กล้าออกพื้นที่
 
โดยเฉพาะตำรวจระดับผู้บริหารโรงพักอยู่ในสภาพ “หดหัว” อยู่ใน “กระดอง” ในขณะที่ตำรวจชั้นผู้น้อย กลายเป็นผักเหนาะ หรือผักจิ้มน้ำพริก ที่ต้องสังเวยชีพให้แก่ปฏิบัติการของขบวนการ สุดท้ายวิธีการแก้ปัญหาของหลายโรงพัก คือ ไม่ออกตรวจพื้นที่ ยกเว้นต้องไปชันสูตรพลิกศพเท่านั้น
 
ในขณะที่สภาพของทหารก็ไม่ต่างกัน เพียงแต่ทหารมีกำลังมากกว่า และมีการใช้ระเบียบวินัยที่เข้มข้นกว่า ถึงจะต้องสูญเสียรายวันก็ต้องปฏิบัติการตาม “วงรอบ” และตามแผนงาน นั่นคือ การลาดตระเวน การปิดล้อม ตรวจค้น และการจัดชุดคุ้มครองบุคคล คุ้มครองเส้นทาง
 
แต่สุดท้ายเหล่าทหารชั้น “ประทวน” ก็คือเหยื่อของสถานการณ์ ซึ่งภาพการส่งศพ การรดน้ำศพรายวันยังเกิดขึ้น และมีให้เห็นแทบทุกวัน ซึ่งคือการบ่งบอกถึงความสูญเสียอย่างไม่รู้จบจากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น
 
ในส่วนของการ “พูดคุย” กับกลุ่มผู้เห็นต่าง ซึ่งเคยเป็นความหวังหนึ่งของคนในพื้นที่ และของภาคประชาสังคมที่ออกมาร่วมขับเคลื่อน เพราะหลายภาคส่วนเห็นว่าน่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างยาวนานได้
 
แต่สุดท้ายจนถึง ณ วันนี้ หลายภาคส่วนเริ่มจะมีอาการ “ผิดหวัง” กับวิธีการพูดคุยที่เกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่การพุดคุยอย่างเป็นทางการ 3 ครั้ง และไม่เป็นทางการที่พูดคุยกันมาโดยตลอดระหว่างตัวแทนของ สมช. ของ ศอ.บต. และของ กอ.รมน. แต่สถานการณ์ความรุนแรงยังไม่มีการลดน้อยลง
 
ที่สำคัญสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่บ่งบอกว่า ขบวนการบีอาร์เอ็น โคออดิเนต ซึ่งอ้างตัวมาโดยตลอดว่าเป็น “พี่ใหญ่” ของกลุ่มผู้เห็นต่างทุกกลุ่ม เช่น พูโล บีไอพีพี และอื่นๆ ยังไม่สามารถ “สั่งการ” ให้กลุ่มผู้ก่อการร้ายในพื้นที่หยุดการก่อการร้ายได้ แถมหลายต่อหลายเหตุการณ์บีอาร์เอ็นฯ กลับปฏิเสธว่า ไม่รู้ ไม่เห็น และไม่ใช่การกระทำของขบวนการ
 
อันหมายความว่านอกจากบีอาร์เอ็นฯ แล้ว ในพื้นที่ยังมีกลุ่มก้อนอื่นๆ ที่ไม่เชื่อฟัง และไม่อยู่ในอาณัติของบีอาร์เอ็นฯ
 
สิ่งที่เกิดขึ้น นอกจากทำให้ประชาชน และหลายภาคส่วนลดความเชื่อถือในการขอเป็น “ตัวแทน” ชาวมาลายูปาตานีของบีอาร์เอ็นฯ เพราะเห็นชัดเจนว่าสุดท้ายแล้วบีอาร์เอ็นฯ เป็นได้แค่หนึ่งในกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ และไม่มีสถานะเป็นตัวแทนของชาวมาลายูปาตานีอย่างที่กล่าวอ้าง
 
อันกำลังจะสอดคล้องกับการพูดคุยครั้งที่ 4 ที่อาจจะมีขึ้นในเดือนสุดท้ายของปี 2556 ที่เวทีการพูดคุยกำลังจะเปลี่ยนโฉมหน้าอีกครั้ง โดยจะเปลี่ยนตั้งแต่ชื่อที่ใช้เรียกแต่ต้นว่าเป็นการพูดคุยระหว่าง สมช. กับบีอาร์เอ็นฯ ให้เป็นการพูดคุยระหว่าง “สมช.กับกลุ่มผู้เห็นต่าง”
 
สำหรับกลุ่มผู้เห็นต่าง ประกอบด้วย ตัวแทนของบีอาร์เอ็นฯ พูโล บีไอพีพี รวมถึงตัวแทนเยาวชน ตัวแทนนักการศาสนา และตัวแทนกลุ่มอื่นๆ ที่อยู่ในกลุ่มของผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ และมีปฏิบัติการทางการทหาร และการเมืองต่อรัฐไทย
 
ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่า เวทีของการพูดคุยที่จะเกิดขึ้นในครั้งที่ 4 จะเป็นการลด “อำนาจ” ของบีอาร์เอ็นฯ ไปโดยปริยาย และสิ่งที่จะตามมาคือ การลด “เงื่อนไข” ข้อเรียกร้อง หรือข้อเสนอที่มาจากบีอาร์เอ็นฯ ไปในตัว เนื่องจาก สมช.ต้องรับฟังข้อเรียกร้อง หรือข้อเสนอของกลุ่มผู้เห็นต่างกลุ่มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นพูโล บีไอพีพี ตัวแทนเยาวชน ตัวแทนศาสนา และตัวแทนกลุ่มอื่นๆ ที่จะต้องมีขึ้นอย่างแน่นอน
 
อีกทั้งยังต้องดูอีกว่า ข้อเสนอทั้ง 5 ข้อของบีอาร์เอ็นฯ ที่มีมาถึงรัฐไทยก่อนหน้านั้น สอดคล้องกับความต้องการของผู้เห็นต่างกลุ่มอื่นๆ ที่เข้าร่วมเวทีการพูดคุยด้วยหรือไม่
 
ดังนั้น เวทีการ“พูดคุย” ครั้งที่ 4 ที่จะเกิดขึ้น จึงเป็นเหมือนกับการเริ่ม “นับหนึ่งใหม่” อีกครั้ง เพราะการเพิ่มตัวแทนกลุ่มคนเข้ามาอีกหลายกลุ่ม ต้องต้องมีข้อเสนอเพิ่มขึ้น และไม่เหมือนกัน
 
เพราะอย่าลืมว่าในอดีตนั้น กลุ่มผู้เห็นต่างเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นพูโล หรือบีไอพีพี แม้ต่างมีที่มาจาก “รากเหง้า” เดียวกัน แต่ก็เกิดความ “ขัดแย้ง” ทั้งในด้านความคิด และอุดมการณ์ จนเกิดเป็น “แม่น้ำแยกสาย” และ “ไผ่แตกกอ” ต่างคนต่างไปตั้งกลุ่ม ตั้งขบวนการ เพื่อทำตามความคิดเห็นของกลุ่มตนเอง
 
เมื่อนำกลุ่มผู้เห็นต่างมารวมกันเพื่อพูดคุย จึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายในการที่จะหา “จุดจบ” ของข้อเรียกร้องที่กลุ่มต่างๆ ต้องการ
 
จึงเชื่อว่าขบวนการพูดคุยที่เกิดขึ้นต้องใช้ระยะเวลาอีก “ยาวนาน” และอาจจะ “ล้มเหลว” ในขั้นตอนสุดท้าย เพราะความ “หลากหลาย” ของข้อเรียกร้อง ข้อเสนอ และเงื่อนไข
 
เมื่อเป็นเช่นนี้ การแก้ปัญหาความรุนแรงของสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงยังหวังพึ่งเวทีแห่งการพูดคุยไม่ได้ รัฐบาล กองทัพ สมช. กอ.รมน. ศอ.บต. และ ศชต. ตลอดจนถึง 17 กระทรวง 66 หน่วยงานในพื้นที่ต้องมีนโยบายในการ “ดับไฟใต้” ในบริบทของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ที่ชัดเจน และเป็นไปได้ อย่าได้ ฝากความหวังไว้กับการพูดคุยเพื่อสร้าง “สันติภาพ” เพียงอย่างเดียว
 
พูดถึง “ภัยแทรกซ้อน” ในพื้นที่ที่มาจากการสร้างอิทธิพล การทำธุรกิจผิดกฎหมาย การค้ายาเสพติด การค้าน้ำมันเถื่อน กอ.รมน.ต้องเร่งดำเนินการแก้ปัญหาภัยแทรกซ้อนเหล่านี้ โดยเฉพาะที่เกิดจากการเมืองท้องถิ่น และกลุ่มผลประโยชน์ที่เป็นกลุ่มก้อนของผู้นำท้องที่คือ กำนันและผู้ใหญ่บ้าน ซึ่ง กอ.รมน.วิเคราะห์ว่าใน 3 จังหวัดมีถึง 25 ขั้ว 25 กลุ่ม และถือเป็นภัยแทรกซ้อนตัวใหญ่
 
กรมการปกครองต้องเร่งดำเนินการแก้ไข ในขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องทำให้ ศชต. หรือ “ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้” ต้องเป็นหน่วยงานที่อำนวยความยุติธรรมเบื้องต้นให้แก่ประชาชนได้ และสุดท้ายรัฐบาลต้องให้อำนาจ ศอ.บต.ในการกำกับดูแลหน่วยงานอื่นๆ ของ 17 กระทรวงหลัก 66 หน่วยงานในพื้นที่ได้ เพราะนี่คือความเป็นจริงของการดับไฟใต้
 
ในส่วนของเวทีการพูดคุยเพื่อสันติภาพนั้น สำหรับประเทศอื่นๆ อาจจะเป็น “ยาวิเศษ” ได้ แต่สำหรับประเทศไทยแล้วสุดท้ายอาจจะเป็นได้แค่การจัดฉากของการแสดง “ปาหี่” ทางการเมืองเท่านั้น
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น