xs
xsm
sm
md
lg

จับตา “พูโลกลุ่มที่ 3” ที่ยังตกขบวนเจรจาสันติภาพ?! / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชำซูดิง คาน (แฟ้มภาพ)
 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
 
นับเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในห้วงเวลาก่อน และหลังวันที่ 25 ต.ค.2556 ซึ่งเป็นวันครบรอบปีที่ 10 ของเหตุการณ์ “ตากใบทมิฬ” ไม่มีเหตุการณ์ก่อการร้ายเกิดขึ้นเพื่อเป็นการ “ตอกย้ำ” ปลุกระดมความโกรธแค้นให้เกิดขึ้นในหมู่ของผู้ที่ได้รับผลกระทบ และประชาชนทั่วไปที่เป็นมุสลิม ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีที่ “แนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดน” ไม่มีการก่อเหตุความรุนแรงในวันที่เป็นเชิง “สัญลักษณ์” ของเหตุการณ์ตากใบเมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 ที่ผ่านมา
 
ผลของการที่แนวร่วมไม่มีการก่อเหตุรุนแรงเพื่อตอกย้ำวันที่เป็นสัญลักษณ์ของความรุนแรงครั้งนี้ มาจาก “ปัจจัย” หลายประการด้วยกัน
 
ประการแรกคือ การให้การ “เยียวยา” แก่ผู้ได้รับผลกระทบ และทำความเข้าใจกับญาติพี่น้อง และประชาชนทั่วไปของ ศอ.บต.
 
ประการที่สอง มาจากการ “ปรับแผนยุทธการ” ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ภายใต้การนำของ พล.ท.สกล ชื่นตระกูล แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผก.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่สามารถ “ลิดรอน” แกนนำคนสำคัญในพื้นที่ และควบคุมพื้นที่ได้มากขึ้น รวมทั้งการผลักดันนโยบาย “พาคนกลับบ้าน” ที่กำลังส่งผลให้จำนวนแนวร่วมของขบวนการระส่ำระสาย จนจำนวน “มวลชน” ที่อยู่ในสภาพ “จำยอม” มีทางออกในการที่จะไม่ต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของขบวนการ
 
และประการที่สาม สถานการณ์การก่อการร้ายที่ลดจำนวนการก่อเหตุรายชนิดใหญ่ๆ เช่น คาร์บอมบ์ลดลงนั้น นอกจากยุทธการของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าที่สามารถควบคุมพื้นที่ เส้นทางการลำเลียงคาร์บอมบ์เข้าสู้พื้นที่เป้าหมายได้แล้ว ยังมาจากการที่ สมช.และ ศอ.บต.เปิดพื้นที่ “พูดคุย” กับขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรือ “ผู้เห็นต่าง” ทั้งบีอาร์เอ็น, พูโล และบีไอพีพี ตลอดทั้ง “แกนนำ” กลุ่มก่อการร้ายในพื้นที่เพื่อให้ทุกกลุ่มกลับมาสู่โต๊ะการพูดคุยที่มีประเทศมาเลเซียเป็นผู้ประสานงาน
 
จากการพูดคุยกับ ฮาซัน ตอยิบ ตัวแทนบีอาร์เอ็น คัสตูรี มะโกตาห์ ตัวแทนพูโลกลุ่มที่ 1 และ ลุกมาน บินลีมา ตัวแทนพูโลกลุ่มที่ 2 และ ดร.วัน อับดุลกอเดร์ ตัวแทนบีไอพีพีมาเป็นระยะๆ ของ สมช.และ ศอ.บต. รวมทั้งการพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องยอมรับว่ามีผลให้สถานการณ์การก่อการร้ายลดจำนวนลงอย่างเห็นได้ชัด
 
วันนี้สถานการณ์เหตุร้าย “รายวัน” ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติการของกลุ่มก่อการร้าย เป้าหมายจึงอยู่ที่ทหาร ตำรวจ มากกว่าผู้ที่เป็นประชาชน ส่วนเหตุ “ฆ่า” ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ ส่วนใหญ่ของผู้ที่เสียชีวิตมาจากความขัดแย้งเรื่องการเมืองท้องถิ่น เรื่องการขัดผลประโยชน์ที่มาจากยาเสพติด แต่ต้องยอมรับว่ายังมีประชาชนส่วนหนึ่งที่เป็นเหยื่อของสถานการณ์คือ “สายข่าว” ของเจ้าหน้าที่ และ “คนไทยพุทธ” ที่ยังตกเป็นเหยื่อของการ “เอาคืน” หลังจากที่กลุ่มก่อการร้ายสูญเสียจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ
 
สิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงต้องติดตาม และต้อง “จัดการ” คือ การที่ยังมีกลุ่มก่อการร้ายจำนวนหนึ่งที่ยังไม่เห็นด้วยกับการ “พูดคุยเพื่อสร้างสันติภาพ” ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลผลิตจากการสร้าง “เซลล์” ของบีอาร์เอ็น เมื่อไม่เห็นด้วยกับวิธีการพูดคุยของบีอาร์เอ็น จึงได้รวมกลุ่มกันเพื่อตั้งเป็นขบวนการก่อการร้ายขบวนใหม่ ทั้งในชื่อของ “นักรบฟาตอนี” และในชื่ออื่นๆ รวมทั้งหาที่ “สังกัดใหม่” เพื่อปฏิบัติการด้วยความรุนแรงต่อไป
 
รวมทั้งการที่ขบวนการพูโลมีด้วยกัน 3 กลุ่ม แต่บีอาร์เอ็นเชิญเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยเพียง 2 กลุ่มคือ กลุ่มของ คัสตูรี่ มะโกตาห์ และกลุ่มของ ลุกมาน บินลีมา แต่ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ “ตกสำรวจ” คือ พูโลกลุ่มของ ซำซูดิง คาน ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในประเทศมาเลเซีย ที่ได้พยายามเรียกร้องความสนใจด้วยการออกแถลงการณ์ในโลกของโซเซียลมีเดีย ถึงการ “มีอยู่” ของขบวนการ รวมทั้งการออกมาตอบโต้แถลงการณ์ของสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย ต่อกรณีผู้สื่อข่าว 5 รายของ จ.นราธิวาส ที่ถูกกับระเบิดของกลุ่มผู้ก่อการร้าย ซึ่งเป็นการ “ดิ้นรน” ของพูโลกลุ่มที่สาม ที่มี ชำซูดิง คาน เป็นผู้นำ เพื่อที่จะได้ “เกาะขบวนรถไฟสันติภาพ” ที่กำลังตั้งไข่ในขณะนี้
 
จากการตรวจสอบของหน่วยงานความมั่นคงพบว่า มีการเคลื่อนไหวของแกนนำพูโลกลุ่มนี้ในพื้นที่ 3 จังหวัดอย่างเงียบๆ อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ได้ยุติการก่อการร้ายด้วยอาวุธเป็นเวลาหลายปี ที่ผ่านมา มีการพูดคุยกับกลุ่มก่อการร้ายที่แยกตัวมาจากบีอาร์เอ็น เพื่อให้มาอยู่ใน “ร่มธง” ของพูโลกลุ่มนี้ ซึ่งหน่วยข่าวกรองเชื่อว่าเป็นยุทธวิธีในการ “สร้างราคา” เพื่อต่อรองกับการเข้าไปสู่โต๊ะการพูดคุยในครั้งต่อไปที่ประเทศมาเลเซีย
 
ทั้งหมดที่ได้กล่าวถึงคือ การพยายามของหน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าเป็น สมช. ศอ.บต. และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่พยายามจะถอด “ชนวน” เงื่อนไขของ “สงครามประชาชน” ที่เกิดขึ้น จนทำให้เห็นภาพของความรุนแรงที่เริ่มจะลดจำนวนลง จนหลายคนเริ่มจะมีการพูดเข้าข้างตนเองว่า “เดินมาถูกทางแล้ว”
 
แต่ยังมี “เงื่อนไข” อีกหลายเงื่อนยังเป็น “ชนวนระเบิดของความรุนแรง” ที่หน่วยงานในพื้นที่ยังไม่ได้ทำการถอดชนวน เช่น การเสียชีวิตของผู้นำศาสนา ครูสอนศาสนา ผู้ที่ต่อสู้คดีความมั่นคงพ้นผิด ผู้ที่อยู่ระหว่างการต่อสู้คดี และผู้ที่ออกมารายงานตัวต่อหน่วยงานของรัฐ ต่อมาไม่นานจากนั้นถูกฆ่าตาย ซึ่งในการสืบสวนสอบสวนของพนักงานสอบสวนไม่มีความคืบหน้า กลายเป็นคดีที่ “มืดดำ” จนเป็นเหตุให้ประชาชนเชื่อว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งขณะนี้ยังเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ประชาชนไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่ และกลุ่มก่อการร้ายใช้เป็นประโยชน์ในการปลุกระดมให้ประชาชนเข้าใจผิด และเป็น “ปรปักษ์” ต่อเจ้าหน้าที่และรัฐไทย
 
อาจเป็นไปได้ที่การฆ่ากลุ่มคนทั้ง 4 กลุ่มเป็นฝีมือของกลุ่มก่อการร้ายที่ต้องการสร้างความเข้าใจผิดให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน โดยการ “ป้ายสี” ว่า เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อ “บิดเบือน” ข้อเท็จจริงในการดึงมวลชนให้สนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเร่งด่วนที่หน่วยงานทุกหน่วย โดยเฉพาะศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องเร่งดำเนินการสืบสวนสอบสวน นำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อที่จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มก่อการร้าย และในขณะเดียวกัน ถ้าผู้ที่ก่อเหตุร้ายเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น
 
เพราะ “รากเหง้า” สำคัญของปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่แท้จริงนั้น เกิดจากความ “ไม่เป็นธรรม” ความ “ไม่เท่าเทียม” ที่รัฐไทยในอดีตได้สร้างให้เกิดขึ้น จนเกิดความ “คับแค้น” ในจิตใจ และตามมาด้วยการจัดตั้งขบวนการต่างๆ ขึ้น เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม และใช้วิธี “ฟันต่อฟัน” ในการ “ดับไฟแค้น” จนกลายเป็น “ไฟใต้” ที่วันนี้ทุกฝ่ายต้องร่วมกันดับไฟที่เกิดขึ้น
 
ดังนั้น ถ้ารากเหง้าของปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างถูกวิธี ไฟใต้ที่บอกกว่าดับยากดับเย็น อาจจะดับได้ง่ายขึ้นก็เป็นได้.
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น