คอลัมน์ : จุบคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
ยังมีคำถามมากมายสำหรับสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะหลังเกิดเหตุการณ์ “รวมดารา” เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา ซึ่ง “แนวร่วม” หรือ “โจรก่อการร้าย” หรือ “กลุ่มผู้เห็นต่าง” ซึ่งสุดแต่ใครจะเรียก ได้ก่อเหตุวางระเบิด “สัญลักษณ์” ทางการเงินคือ ตู้ เอทีเอ็ม เผาสถานที่ราชการ เช่น อบต. ปล้น จี้รถดับเพลิง ฆ่าครูและเผาบ้านพัก ขว้างระเบิดใส่แขวงการทาง และวางระเบิดร้านสะดวกซื้อ ซึ่งเป็นการทำลายเศรษฐกิจการค้าในชายแดนใต้ ซึ่งการก่อการร้ายครั้งนี้เป็น “ธง” ของขบวนการที่ปฏิบัติการมาตั้งแต่ปี 2547
แต่ที่มีคำถามจากประชาชนในพื้นที่คือ ทำไมเมื่อมีการ “พูดคุยเพื่อสร้างสันติภาพ” กันแล้วระหว่าง สมช. ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐไทย กับตัวแทนของบีอาร์เอ็นฯ ซึ่งเป็นพี่ใหญ่ของ “ขบวนการปลดปล่อยมลายูปัตตานี” ทำไมจึงยังเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นอีก แถมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีคำถามว่า ถ้ากลุ่มผู้ปฏิบัติการไม่ใช่บีอาร์เอ็น, พูโล และบีไอพีพี ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มต่างอยู่ในโหมดของการพูดคุย และการพูดคุยยังไม่เกิดการ “แตกหัก” จึงไม่น่าจะ “สั่งการ” ให้แนวร่วมปฏิบัติการรุนแรง เพราะจะกระทบกระเทือนต่อเวทีของการพูดคุย
เมื่อเป็นเช่นว่านี้ ประชาชนก็มีคำถามต่อไปว่า ถ้ากลุ่มผู้ปฏิบัติการในวันที่ 9 ตุลาคมไม่ใช่กลุ่มก้อนของพี่ใหญ่บีอาร์เอ็นฯ แล้ว เป็นการปฏิบัติการของกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มไหน มีใครเป็นผู้สั่งการ และคำถามสุดท้ายคือ ถ้าพูดคุยกับบีอาร์เอ็น พูโล บีไอพีพี รู้เรื่อง แต่ไม่สามารถทำให้การก่อเหตุร้ายลดลง และยังมีกลุ่มก่อการร้ายในพื้นที่ปฏิบัติการต่อไป การพูดคุยกับบีอาร์เอ็น, พูโล และบีไอพีพี จะเกิดมรรคผลหรือได้ประโยชน์ตรงไหน
ทั้งหมดคือ “ปุจฉา” ของคนในพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลโดย สมช.จะต้องตอบให้ชัด?!
แต่โดยข้อเท็จจริงนั้น สิ่งที่ดำรงอยู่ในชายแดนใต้คือ กลุ่มก่อการร้ายไม่ได้อยู่ภายใต้สังกัดของบีอาร์เอ็น, พูโล หรือบีไอพีพีเท่านั้น “เซลล์” ก่อการร้ายที่เป็นผลผลิตจากบีอาร์เอ็นฯ ที่ถูกปลูกฝังให้เป็น “ปรปักษ์” ต่อรัฐไทย ต่อเจ้าหน้าที่รัฐ และให้ปฏิบัติการเพื่อสร้างความสูญเสียให้แก่รัฐไทยเป็นจำนวนมาก ที่วันนี้อยู่นอกเหนือการสั่งการของบีอาร์เอ็นฯ และวันนี้กลุ่มคนเหล่านี้คือ กลุ่มคนที่ “เห็นต่าง” จากบีอาร์เอ็นฯ ที่ไม่ยินยอม “กลับกลายจากอาวุธ มาเป็นแพรพรรณ” ที่พร้อมที่จะเดินหน้าเพื่อปฏิบัติการด้วยความรุนแรงต่อไป และมีหลายกลุ่มที่ประกาศแยกตัวจากบีอาร์เอ็นฯ เพื่อตั้งกลุ่มของตนเอง เพื่อปฏิบัติการต่อเป้าหมายที่เป็นสัญลักษณ์ของรัฐไทย และที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ และอื่นๆ
ปฏิบัติการเมื่อวันที่ 9 ตุลาคมนั้น อย่าไปเชื่อตามที่เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ว่า ตรงกับวันก่อตั้ง หรือครบรอบวันสำคัญๆ ต่างๆ ของขบวนการ เพราะโดยข้อเท็จจริงกลุ่มก่อการร้ายในพื้นที่ไม่ได้รอโอกาสให้ตรงกับวันนั้น วันนี้ หรือวันที่เป็นสัญลักษณ์ทั้งของขบวนการ และของรัฐไทย แต่กลุ่มก่อการร้ายในชายแดนใต้จะปฏิบัติการทันทีที่มีโอกาส เช่น เจ้าหน้าที่เผยช่องว่าง “ประมาท” หรือเผอเรอ เพราะกลุ่มก่อการร้ายมี “สายข่าว” ที่เกาะติดหลังหน่วยกำลังต่างๆ ในทุกพื้นที่ และที่สำคัญ กลุ่มก่อการร้ายมี “หนอนบ่อนไส้” ในหน่วยงานของรัฐจำนวนไม่น้อยที่คอยรายงานความเคลื่อนไหวให้ทราบ เพื่อปฏิบัติการสร้างความสูญเสียให้เกิดขึ้น
เหตุป่วนใต้ทั้ง 4 จังหวัดเมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นการออกมา “แก้แค้น” เป็นการ “ตอบโต้” เจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติการปิดล้อม กวาดล้าง โดยการ “จับตาย” 4 แกนนำระดับ ผบ.ร้อย และ ผบ.หมวดที่มี “เปเล่ดำ” เป็นผู้นำ และ “จับเป็น” อีก 7 คนที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐมีการประโคมข่าวถึงความสูญเสียของกลุ่มก่อการร้าย
การปฏิบัติการ “เอาคืน” ของกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มนี้ นอกจากเป็นการ “แก้แค้น” ให้แก่ผู้สูญเสียฝ่ายตนแล้ว ยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่แนวร่วม และเป็นการข่มขู่มวลชนในพื้นที่ เพื่อแสดงให้เห็นว่าการสูญเสียผู้นำหน่วยอย่าง “เปเล่ดำ” อย่าง “อุสมาน เด็งสาแม” ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อ “ศักยภาพ” ในการก่อการร้ายของขบวนการ และขบวนการยังมีขีดความสามารถในการโจมตีเป้าหมายต่างๆ ที่ต้องการ และผลที่ออกมา คือ เจ้าหน้าที่ไร้หนทางในการป้องกัน
ดังนั้น จึงเห็นชัดเจนว่า เหตุป่วนใต้เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องการพูดคุยครั้งที่ 4 ซึ่งยังอยู่ระหว่างการประสานงาน!!
แต่อย่างไรก็ตาม เหตุป่วนใต้ครั้งล่าสุดก็ทำให้การพูดคุยครั้งที่ 4 ต้องเลื่อนออกไปโดยปริยาย เพราะต้องมี “การสืบสภาพ” ให้ชัดเจนว่ามีแนวร่วมของบีอาร์เอ็น พูโล และบีไอพีพีเข้าร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้ด้วยหรือไม่
แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ประชาชนในพื้นที่ “ข้องใจ” คือ ปฏิบัติการป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่มี “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” เป็นเจ้าภาพ เหตุผลของความข้องใจคือ จุดเกิดเหตุส่วนใหญ่อยู่ใน “เขตเมือง” ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ควรจะมีการป้องกันอย่างเข้มข้น และโดยข้อเท็จจริงการวางระเบิดตู้เอทีเอ็ม วางวางระเบิดร้านสะดวกซื้อ และการเผากล้องวงจรปิดเกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว จึงน่าจะมีแผนป้องกัน เช่น การจัดชุดลาดตระเวนในพื้นที่เหล่านี้
สิ่งที่ผู้นำท้องถิ่นอย่างนายกเทศบาล นายก อบต.หลายแห่งที่อยู่ในพื้นที่เกิดเหตุสะท้อนออกมาคือ ช่วงเวลากลางคืน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กลุ่มก่อการร้ายปฏิบัติการ ไม่มีกำลังของเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร หรืออาสาสมัครของฝ่ายปกครองออกลาดตระเวนรักษาความสงบแต่อย่างใด ดังนั้น ปฏิบัติการของกลุ่มก่อการร้ายจึงทำได้อย่างง่ายดาย ซึ่งเป็นอย่างนี้ทุกครั้ง
ซึ่งสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่มีการกล่าวว่า สถานการณ์ในชายแดนใต้นั้น “กลางวันเป็นของเจ้าหน้าที่ ส่วนกลางคืนเป็นของกลุ่มก่อความไม่สงบ” ซึ่งหากพิจารณาให้ชัดจะพบว่า ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐมีการปรับแผนการลาดตระเวนในเวลากลางวันให้กระชับ และมีวงรอบที่สั้นลง เช่น 3 ชั่วโมงจึงจะลาดตระเวน 1 วงรอบ เปลี่ยนเป็นวงรอบละ 1 ชั่วโมง การปฏิบัติการของกลุ่มก่อการร้ายก็จะสะดวกทั้งในการปฏิบัติการ และในการหลบหนี การประกบยิง การวางระเบิดแสดงเครื่องในเวลากลางวันก็อาจจะลดน้อยลง
เช่นเดียวกับในเวลากลางคืน หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องสนธิกำลังระหว่างตำรวจ ทหาร และกำลังของพลเรือน รวมทั้ง รปภ.ของบริษัทห้างร้าน และกำลัง รปภ.ของท้องถิ่น เพื่อร่วมกันจัดเป็นชุดสายตรวจ และชุดลาดตระเวนในรูปแบบต่างๆ เช่น รถยนต์สายตรวจ รถจักรยานยนต์เคลื่อนที่เร็ว ชุดสายตรวจเดินเท้า ชุดแจ้งข่าว ซึ่งในแต่ละเขตเมือง หรือแต่ละเทศบาลมีพื้นที่ไม่มากนัก ถ้ามีการ “เอาจริง” จากทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และท้องถิ่น ก็สามารถที่จะคุ้มครองพื้นที่เพื่อให้ยากต่อการก่อเหตุของกลุ่มขบวนการได้อย่างแน่นอน
แต่ที่กลุ่มก่อการร้ายยังมี “ศักยภาพ” ในการก่อเหตุ ทั้งแบบ “รายวัน” และแบบ “รวมดารา” เป็นเพราะตลอดระยะเวลาที่ 9 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานที่รับผิดชอบ “บูรณาการ” ด้วยลมปาก มากกว่าที่จะมาจากความจริงใจต่างหาก.