คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
มีการพูดกันมานานแล้ว และพูดกันมาหลายแม่ทัพแล้วเช่นกัน สำหรับเรื่องราวของอาวุธปืนที่ใช้ในการก่อเหตุร้าย หรือสร้างสถานการณ์ฆ่ารายวันในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีตัวเลขระบุว่าเป็น “ปืนนิรนาม” มากกว่า 6,000 กระบอกที่ “เร่รอน” ไปมาอยู่ในมือของหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งในมือของ “พลเรือน”
และที่สำคัญเรื่องนี้ก็เคยมีการเสนอให้กองทัพภาค 4 และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ดำเนินการ “เก็บอาวุธ” คืนจากหน่วยงานในพื้นที่เพื่อ “หยุด” การใช้ปืนเหล่านี้ไปก่อเหตุเพื่อสร้างสถานการณ์
ล่าสุด พล.ท.สกล ชื่นตระกูล แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้มีคำสั่งให้มีการเก็บอาวุธของหน่วยงานต่างๆ ที่มีการแจกจ่ายให้แก่ “กลุ่มบุคคล” ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อใช้ในการ “ช่วยราชการ” และการป้องกันตนเอง หรือไปใช้ปฏิบัติ “ภารกิจลับ” คืนให้แก่หน่วยงานเจ้าของปืน
ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการตัดวงจรของการใช้ “ปืนหลวง” ไปก่อเหตุรายวัน ทั้งการสร้างสถานการณ์ การแก้แค้นส่วนตัว และการคุ้มครองผลประโยชน์ผิดกฎหมายของกลุ่มผู้มีอิทธิพลต่างๆ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นมายาวนานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
การที่แม่ทัพภาคที่ 4 ตัดสินใจเก็บปืนของหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการที่จะลดเหตุร้าย ลดความรุนแรง แม้ว่าจะไม่สามารถทำให้การฆ่ารายวันหมดไปโดยเร็ว แต่ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่จะให้หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่รัฐไม่เอาอาวุธไปส่งเสริมให้พลเรือนไปก่ออาชญากรรม
นอกจากการเก็บปืนของราชการคืนแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ การเก็บ “ปืนเถื่อน” หรือปืนที่ไม่มีอนุญาตในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย โดยเฉพาะที่อยู่ในมือของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐทำให้สามารถที่จะพกพาปืนเถื่อนได้โดยไม่มีการจับกุม และปืนเถื่อนเหล่านี้คือเครื่องมือที่ใช้ในการก่อเหตุ และหลังการก่อเหตุเจ้าหน้าที่ก็หาหลักฐานของอาวุธปืนไม่พบ
ในขณะเดียวกัน ปัญหาการดับไฟใต้ที่ยังไม่ได้ผลนั้น มีการพูดกันมายาวนาน ทั้งพูดเชิงวิเคราะห์ในทุกเวทีว่า สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองไม่ได้ทำหน้าที่ของ “นักปกครอง” อย่างแท้จริง นายอำเภอ และปลัดอำเภอยังไม่กล้าลงพื้นที่ ปล่อยทิ้งประชาชน ไม่ได้ให้บทบาท และหน้าที่ของฝ่ายปกครองเพื่อเข้าถึงมวลชน รวมถึงไปได้นำผู้นำท้องที่ และท้องถิ่นเข้าร่วมในการร่วมแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
ล่าสุด พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.ได้พยายามจัดเวทีเสวนา โดยนำเอาบุคคลจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ หน่วยงานที่อำนวยความยุติธรรม เช่น ตำรวจจากกองพิสูจน์หลักฐาน ตำรวจท้องที่ และอัยการพิเศษอาญา 2 มาร่วมแสดงความคิดเห็น แสวงหาข้อเท็จจริง ปัญหา และอุปสรรคของกระบวนการอำนวยความยุติธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ ก็เพื่อต้องการชี้ให้เห็นความสำคัญของนักปกครองในระดับ “นายอำเภอ” ที่เป็นผู้หนึ่งที่สามารถใช้ศักยภาพความเป็นนักปกครองในการแก้ปัญหาไฟใต้ที่เกิดขึ้นได้
เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้ว ในระหว่างหน่วยงาน 3 หน่วยคือ ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ซึ่งถือเป็นเสาหลักในการแก้ปัญหาความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ฝ่ายปกครองเป็นหน่วยงานที่ประชาชนในพื้นที่ ผู้นำท้องที่ และผู้นำท้องถิ่นให้ความเชื่อมั่น และสามารถเข้าถึงประชาชนมากที่สุด รวมทั้งได้รับความร่วมมือจากประชาชนมากที่สุดด้วยเช่นกัน
ถ้าฝ่ายปกครองที่มีนายอำเภอเป็นใหญ่ที่สุดในระดับอำเภอนั้นๆ มียุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเข้าใจ โดยทำงานมวลชน และงานด้านการพัฒนาอย่างจริงจัง แบบไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแต่ฝ่ายทหาร และตำรวจ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงไม่มีความชำนาญในเรื่องของมวลชน และงานพัฒนาเหมือนนักปกครอง เพราะงานเหล่านั้นเป็นหน้าที่ของกรมการปกครองโดยตรง
รวมทั้งในความรู้สึกของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ทหาร และตำรวจยังถูกมองด้วยสายตาที่หวาดระแวง ไม่เชื่อมั่น ไม่เชื่อใจว่าจะจริงใจกับชาวบ้านอย่างแท้จริง การให้ความร่วมมือกับตำรวจ และทหารของชาวบ้านจึงยังอยู่ในลักษณะที่ขาดๆ เกินๆ และส่วนใหญ่ถ้าให้ความร่วมมือก็จะเป็นในรูปแบบของ “ปัจเจก” มากกว่า “องค์กร”
ดังนั้น ถ้าฝ่ายปกครองในทุกอำเภอที่นำโดยนายอำเภอจะเข้าไปมีบทบาทโดยตรง และมีอำนาจในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น “วิญญาณ” ของการเป็นนักปกครองอย่างในอดีตที่สามารถ “เข้าไปนั่งในหัวใจ” ของผู้นำท้องที่ และของประชาชนได้ ไฟใต้ที่กำลังโชนแสงระลอกใหม่ก็มีโอกาสที่จะลดความร้อนแรงลง
แต่เมื่อดูโครงสร้างการบริหารงานของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่นำนโยบายการแก้ปัญหาความไม่สงบ และความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาใช้ กลับยังไม่เห็นการสิ่งเสริม หรือให้บทบาทการเป็น “พระเอก” แก่นายอำเภอ รวมถึงหน่วยงานฝ่ายปกครองต่างๆ อย่างแท้จริง
แต่กลับมีภาพให้เห็นมาโดยตลอดว่า บทบาทของนายอำเภอในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นได้แค่เพียง “พระรอง” ทั้งในด้านของการใช้ “อำนาจ” และ “งบประมาณ”
ดังนี้แล้ว การที่ต้องการให้ฝ่ายปกครอง ซึ่งมีนายอำเภอเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาเพื่อดับไฟใต้นั้น สิ่งนี้จะทำให้เกิดขึ้น และเป็นจริงได้อย่างไร
มีการพูดกันมามากแล้ว และพูดกันในแทบทุกเวทีเสวนาเพื่อหาทางออกของวิกฤตไฟใต้ถึง “โครงสร้าง” ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่ง “กดทับ” หน่วยงานอื่นๆ ที่มีอยู่และมีหน้าที่ในการแก้ปัญหาในพื้นที่ว่า ไม่สามารถมี “ส่วนร่วม” ในการแก้ปัญหาทุกเรื่องที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่
ทั้งนี้ ก็เนื่องจากโครงสร้างของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้เข้าไป “ครอบงำ” ทั้งงบประมาณ และอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานอื่นๆ จนทำให้ “17 กระทรวง” และ “66 หน่วยงาน” ที่มีอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ จนดูเหมือนว่าแผ่นดินปลายด้ามขวานเป็นพื้นที่สงบสุขไปแล้ว เมื่อนำเปรียบเทียบกับพื้นที่ในภูมิภาคอื่น
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เกิด “สงครามประชาชน” มาต่อเนื่อง
แน่นอนว่า ทั้งเรื่องการยึดคืนอาวุธปืนของกองทัพ และการปลุกวิญญาณนักปกครองของ ศอ.บต. เป็นไปเพื่อลดระดับความร้อนแรงของไฟใต้ถือเป็นสิ่งที่ดี และเป็นการกระทำที่ถูกต้อง สอดรับกับทั้งในทาง “ยุทธศาสตร์” และ “ยุทธวิธี”
แต่ถ้าโครงสร้างของ กอ.รมน.ภาค 4 ยังไม่ถูกปรับให้เอื้อต่อการที่จะให้ฝ่ายปกครอง ร่วมถึงฝ่ายพลเรือนในกระทรวงอื่นๆ เข้ามามีบทบาทอย่างเต็มที่ “ความคาดหวัง” ที่จะเห็นความร่วมมือจากประชาชนอย่างแท้จริงนั้น อาจจะยังเป็นความคาดหวังที่ดำเนินไปแบบยัง “ห่างไกลความเป็นจริง” อยู่อย่างนั้น