กอ.รมน.เผย “ประยุทธ์” เสียใจกำลังพลถูกบึ้มเสียชีวิตที่ปัตตานี ยืนยันดูแลสิทธิที่ควรได้ ขอเจ้าหน้าที่อย่าหมดกำลังใจ พร้อมใช้เป็นบทเรียนปรับปรุงการปฏิบัติงาน ตำหนิบางฝ่ายสร้างความกดดันทหารให้ไปช่วยนำบัตรเลือกตั้งออกมาจากการถูกปิดกั้น แถมนำไปเชื่อมโยงกับสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ ยันที่ผ่านมาทำดีที่สุดแล้ว
พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะรอง ผอ.รมน. ได้แสดงความเสียใจต่อการสูญเสียของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและฝ่ายทหาร จากเหตุการณ์คนร้ายลอบวางระเบิด ในพื้นที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายมีความตั้งใจในการทำงานและพยายามคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ประชาชน ยอมเสียสละเสี่ยงภัยเข้าพื้นที่วิกฤตในยามวิกาลอย่างกล้าหาญ และพยายามต่อสู้ทั้งที่เป็นฝ่ายเสียเปรียบจนทำให้เกิดการสูญเสียกำลังพลหลายนายในครั้งนี้
ทั้งนี้ กอ.รมน.จะได้ดูแลในด้านสิทธิกำลังพลอย่างเต็มที่ และขอให้ทุกคนมีกำลังใจมุ่งมั่นปฏิบัติงานต่อไป อย่าได้หมดกำลังใจ พร้อมกับนำบทเรียนที่เกิดขึ้นมาปรับปรุงแก้ไขแนวทางการปฏิบัติทางยุทธวิธีทั้งเชิงรับและเชิงรุกต่อไป
พ.อ.บรรพตกล่าวว่า เหตุการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดจากกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงหลายครั้งในช่วงนี้ แสดงว่ากลุ่มขบวนการดังกล่าวยังไม่ลดความพยายามในการก่อเหตุ แม้ว่าสื่อมวลชนส่วนใหญ่จะให้ความสนใจในสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่ง ผบ.ทบ.ได้กำชับ พล.ท.สกล ชื่นตระกูล แม่ทัพภาคที่ 4 (มทภ.4) ในฐานะ ผอ.รมน.ภาค 4 สน. โดยตรงอย่างใกล้ชิดให้พยายามดูแลพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะช่วงการเลือกตั้งทั่วไปที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายอาจฉวยโอกาสลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่
และจากการที่มีบางฝ่ายพยายามเรียกร้องให้ฝ่ายทหารเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาการปิดกั้นบัตรลงคะแนนที่ถูกกักไว้ในพื้นที่จังหวัดสงขลานั้น เชื่อว่า มทภ.4 ร่วมกับ ผวจ.สงขลา และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ตัดสินใจใคร่ครวญดีที่สุดแล้วเพื่อเห็นแก่ความสงบในพื้นที่ จึงไม่สมควรที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะนำไปกล่าวอ้างเพื่อสร้างแรงกดดันซึ่งกันและกัน หรือหากนำไปเชื่อมโยงกับปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยแล้ว ยิ่งจะทำให้ปัญหามีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นไปอีก
“ปัจจุบันยังมีความไม่เข้าใจของสื่อมวลชนบางสำนักที่มุ่งโจมตีการทำงานของภาครัฐต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไม่สร้างสรรค์ ทำให้สังคมเกิดความสับสน โดยมุ่งใส่ใจในรายละเอียดของเหตุร้ายที่เกิดขึ้น เสมือนกับเป็นการยกย่องความสำเร็จของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงจนถึงกับนำไปเปรียบเทียบกับการแก้ไขปัญหาแบ่งแยกดินแดนของประเทศอื่น โดยขาดความเข้าใจว่าปัญหามีความซับซ้อนหลากหลายมิติ ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ศาสนา ที่เป็นความละเอียดอ่อน ทุกวันนี้ยังมีปัญหาภัยแทรกซ้อนทับถมเข้ามาอีก อาทิกลุ่มอิทธิพลมืด ธุรกิจผิดกฎหมาย ยาเสพติด สินค้าหลีกเลี่ยงภาษี ฯลฯ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาจึงจำเป็นต้องบูรณาการการทำงานร่วมกับหลายส่วนราชการ เพื่อแก้ไขปัญหาในทุกมิติไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่จะมุ่งเน้นเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นสำคัญ ในโอกาสนี้ขอให้สังคมช่วยพิจารณาไปพร้อมกันด้วยว่า กระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความก้าวหน้าไปอย่างต่อเนื่อง”