xs
xsm
sm
md
lg

“ประชาคมสงขลานครินทร์” เชิญ “ส.ว.รสนา” ร่วมเสวนาแนวทางปฏิรูปพลังงานไทย (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “ม.อ.รักชาติ” ร่วม “ประชาคมสงขลานครินทร์” จัดเสวนาวิชาการหัวข้อ “วิเคราะห์พลังงานไทยและแนวทางการปฏิรูป” โดยมี ส.ว.รสนา เข้าร่วม เสนอแนวทางปฏิรูปพลังงาน ชี้การแปรรูป ปตท.เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ ต้นตอของปัญหา แนะเปลี่ยนระบบจากสัมปทานเป็นแบ่งปันผลผลิต ชี้ลดใช้พลังงานจากถ่านหินเพิ่มใช้พลังงานแสงอาทิตย์

วันนี้ (9 มี.ค.) กลุ่ม ม.อ.รักชาติ ร่วมกับประชาคมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดเสวนาหัวข้อ “วิเคราะห์พลังงานไทยและแนวทางการปฏิรูป” เพื่อให้ความรู้ถึงแนวทางการปฏิรูปพลังงาน ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนาโดย คุณรสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร คุณอิฐบูรณ์ อันวงษา อนุกรรมธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาล ด้านพลังงานวุฒิสภา และคุณประสาท มีแต้ม อนุกรรมธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาล ด้านพลังงานวุฒิสภา โดยมี คุณปิยะโชติ อินทรนิวาส หัวหน้าศูนย์ข่าว “ASTVผู้จัดการภาคใต้” ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ เป็นผู้ร่วมดำเนินรายการ ที่ห้องประชุมใหญ่ คณะวิทยาการจัดการ ม.อ.หาดใหญ่

ในช่วงต้นของการเสวนา ส.ว.รสนา กล่าวว่า “การปฏิรูประบบพลังงานในประเทศไทยเป็นสิ่งที่ทำได้ค่อนข้างยาก หากประเทศยังคงมีระบบการเมืองอย่างเช่นในปัจจุบัน เนื่องจากถึงแม้แต่ละพรรคการเมืองจะมีนโยบายที่แตกต่างกัน แต่กลับมีนโยบายด้านพลังงานที่เหมือนกัน ทั้งนี้คณะกรรมการตรวจการแผ่นดินได้ให้ความเห็นออกมาแล้วว้า กองทุนน้ำมันผิดกฎหมาย ฉะนั้นซึ่งหากยกเลิกกองทุนน้ำมันราคาน้ำมันในประเทศจะลดลงทันทีอย่างน้อย 10 บาท”

“ในส่วนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟ้องคดีต่อศาลปกครอง โดยขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการแปรรูป ปตท.ถึงแม้ศาลจะไม่พิพากษาให้เพิกถอนการแปรรูป แต่คำพิพากษาของศาลมีนัยสำคัญ โดยศาลพิพากษาให้ ปตท.ส่งมอบระบบท่อส่งก๊าซทั้งหมดกลับคืนสู่รัฐ เนื่องจาก ปตท.ถูกแปรรูปเป็นบริษัทเอกชนไปแล้วไม่มีสิทธิใช้อำนาจทางมหาชน แต่ ปตท.คืนเฉพาะท่อบนบกเท่านั้น ท่อทางทะเลยังไม่ได้คือ ซึ่งท่อทางทะเลมีจำนวนมากมายมหาศาล”

คุณอิฐบูรณ์ อันวงษา กล่าวว่า “ประเทศไทยมีปัญหาด้านพลังงานมาตั้งแต่มีการแปรรูปจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งถือหุ้นโดยกระทรวงการคลัง 100% มาเป็นบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในปี 2544 ในปีที่ คุณทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้น จึงส่งผลให้การดำเนินธุรกิจของบริษัท ปตท.จะต้องมุ่งเน้นถึงผลประโยชน์ด้านกำไรเพื่อตอบสนองต่อผู้ถือหุ้นเป็นหลัก อีกทั้ง ปตท.เป็นผู้ประกอบธุรกิจพลังงานรายเดียวในประเทศ ไม่ต้องแข่งขันกับใคร จึงส่งผลให้ ปตท.สามารถควบคุมราคาน้ำมันในประเทศได้ตามใจชอบ”

“บริษัท ปตท.จำกัด มีความแตกต่างจากบริษัท ปิโตรนาส จำกัด บริษัทด้านพลังงานในประเทศมาเลเซีย ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียเป็นเจ้าของทั้งหมด และอีกประการที่สำคัญในปัจจุบันประเทศไทยใช้ระบบสัมปทานในการขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งมีปัญหาตรงรัฐได้รับค่าสัมปทานน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ฉะนั้นประเทศไทยจึงควรเปลี่ยนมาใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตในระบบการขุดเจาะน้ำมันเช่นเดียวกับในประเทศมาเลเซีย และอินโดนิเซีย ซึ่งอุปมาอุปไมยเหมือนการแบ่งปันผลผลิตระหว่างเจ้าของสวนยางพารากับคนกรีดยาง” คุณอิฐบูรณ์ อันวงษา กล่าว

คุณประสาท มีแต้ม กล่าวว่า “ไม่มีธุรกิจใดที่ทำกำไรได้กว่า 97% ของเงินลงทุนนอกจากธุรกิจขุดเจาะพลังงาน ซึ่งในปัจจุบัน จากการสำรวจราคาน้ำมันในประเทศไทยแพงเป็นอันดับ 9 ของโลกจากการจัดอันดับโดยเทียบกับค่าครองชีพซึ่งไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น เนื่องจากประเทศไทยส่งออกน้ำมันเป็นอันดับ 3 ของสินค้าทั้งหมด เราส่งออกน้ำมันในราคาที่ถูกกว่าที่ต่างประเทศขายให้แก่เราซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตลกมาก”

คุณประสาท มีแต้ม กล่าวอีกว่า “ซึ่งตนคิดว่าในการปฏิรูปพลังงานควรพิจารณาถึงสิ่งต่อไปนี้ 1 ความยั่งยืน 2 ความเท่าเทียม 3 สิ่งแวดล้อม 4 การมีส่วนร่วม 5 สิทธิมนุษยชน 6 ธรรมาภิบาล แต่ในปัจจุบัน ประเทศไทยประสิทธิภาพการใช้พลังงานในประเทศไทยต่ำกว่ามาตรฐานของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เห็นได้จากการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะปัจจุบันมีคนตายไปแล้วกว่า 300 คน ทั้งนี้ อายุไขของชาวยุโรปสั่นลง 11 ปี เนื่องจากมลพิษของโรงไฟฟ้าถ่านหิน”

“เราควรดูตัวอย่างจากประเทศเยอรมนี ซึ่งมีปริมาณผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งประเทศเท่ากับพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ และ 14 จังหวัดภาคใต้ ประเทศไทยจึงควรพิจารณานโยบายการใช้พลังงานทางเลือกแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานโซลาร์เซลล์ แต่ติดขัดที่นโยบายของรัฐเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ประเทศเยอรมนี ผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์มากสุดในโลกทั้งที่มีแสงแดดน้อยกว่าประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์ลดลงปีละ 2% แต่ต้นทุนพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นปีละ 2%” คุณประสาท มีแต้ม กล่าว
 
 

ตอนที่ 1
 
 

ตอนที่ 2
 
 

ตอนที่ 3
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น