“อรรถวิชช์” แจงปฏิรูปพลังงานเถียงกันไม่จบสิ้น เหตุ “เอ็นจีโอ-ข้าราชการ” มักทะเลาะกันเอง ทั้งที่หวังดีต่อประเทศทั้งคู่ เสนอสิ่งที่ทำได้ทันทีหากชนะ ต้องเอาคืนท่อส่งก๊าซทั้งระบบ และเก็บค่าแก๊สแอลพีจีกับภาคปิโตรเคมีให้เท่าเทียมกับภาคอื่น ส่วนระบบแบ่งปันผลผลิตเป็นสิ่งที่ดีแต่มีความเสี่ยง ซึ่งต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อให้เห็นภาพเปรียบเทียบกับระบบสัมปทานอย่างชัดเจน ยันไม่มีวาระซ่อนเร้น วอนเอเอสทีวีอย่าระแวง
วันนี้ (21 มี.ค.) นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ขึ้นปราศรัยบนเวทีสวนลุมพินี เรื่องการปฏิรูปพลังงานตอนหนึ่งว่า พอพูดเรื่องปฏิรูปพลังงานจะมีคน 3 ประเภท คือ 1. เอ็นจีโอ เป็นคนดี มีจิตใจบริสุทธิ์ทำเพื่อชาติ 2. อดีตข้าราชการกระทรวงพลังงานระดับสูง ซึ่งหวังดีต่อประเทศเช่นกัน แต่จะพูดภาษาเข้าใจยาก พอสองฝ่ายนี้มาพูดกัน เอ็นจีโอมักเริ่มด้วยการด่า ข้าราชการเลยถอย จึงทะเลาะกัน และ 3. คนไม่คิดอะไร รอกินอย่างเดียว
นายอรรถวิชช์กล่าวต่อว่า ตนได้เดินสายพบเอ็นจีโอและข้าราชการ และเห็นว่าถ้าทั้งสองฝ่ายมารวมกันได้จะเป็นเรื่องดีในการปฏิรูปพลังงาน และได้ข้อสรุปที่เห็นพ้องต้องกัน สามารถทำได้ง่ายๆ ในอนาคต
เรื่องแรกต้องเอาระบบท่อก๊าซทั้งบกและทะเล คืนจาก ปตท. เพราะเป็นส่วนที่ไม่มีการแข่งขัน แล้วก๊าซทั้งระบบจะถูกลงแน่นอน แล้ววิธีนี้ไม่ต้องเสียเงินด้วย เพราะผู้ลงทุนตอนซื้อหุ้น ปตท.ก็เขียนในหนังสือชี้ชวนแล้วว่ามีความเสี่ยง เพราะต้องแยกท่อก๊าซออกไปภายใน 1 ปี หากปฏิรูปสำเร็จวิธีนี้ทำได้ทันที และแก๊สถูกลงแน่นอน
นายอรรถวิชช์กล่าวต่อว่า ในอ่าวไทยมี 4 กลุ่มที่ใช้แก๊สแอลพีจี คือ 1. ภาคครัวเรือน 2. ภาคขนส่ง 3. ภาคอุตสาหกรรม 4. ภาคปิโตรเคมี ภาค 4 นี่สำคัญสุด เป็นพวกทำเม็ดพลาสติก ซึ่งเป็นบริษัทลูก ปตท. ภาคปิโตรเคมีใช้แก๊สเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ของทั้งระบบ ที่สำคัญดันใช้ถูกสุด พอสุดท้ายไม่พอใช้ต้องนำเข้าแอลพีจี ดันให้ประชาชนแบกรับด้วย
ฉะนั้นต้องขึ้นราคาแก๊สกับภาคปิโตรเคมี ขึ้นให้เท่าประชาชนทั่วไป เงินส่วนต่างที่ ปตท. จ่ายเพิ่ม ก็จะเอาไปหนุนแก๊สหุงต้ม ราคาน้ำมันกับแก๊สก็จะถูกลง บางคนกลัวว่าจะกระทบธุรกิจผลิตเม็ดพลาสติก อันนี้บริษัทก็ต้องพัฒนาตัวเองด้วยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลก ซึ่งประเทศอื่นยังสามารถทำได้ทั้งที่ต้องนำเข้าแก๊ส ไม่ได้ผลิตเองด้วยซ้ำ
นายอรรถวิชช์ยังกล่าวถึงระบบสัมปทานว่า ระบบนี้ขุดได้เท่าไหร่จะใช้เป็นการจ่ายค่าภาคหลวง เก็บเป็นภาษี กระทรวงพลังงานทำงานง่ายเก็บเป็นเม็ดเงินมาเลย แต่ตอนนี้มีคนคิดใหม่ โดยเฉพาะทางเอเอสทีวี บอกว่าทำไมไม่ทำเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต ซึ่งทั่วโลกทำแล้ว
ความคิดแบ่งปันผลผลิตนี้ดีมาก สมมติขุดเจาะได้น้ำมัน 120 ลิตร ทั้งหมดเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐบาล แบ่งคืนดังต่อไปนี้ 20 ลิตรแรกถือเป็นราคาต้นทุนที่เสียค่าขุดเจาะ ให้เอกชนไป อีก 80 ลิตรตรงกลางเป็นของรัฐเต็มๆ และ 20 ลิตรหลังเป็นส่วนกำไรให้เอกชน แล้วเวลาปิดราคามาประมูล ให้เอาส่วนหลังนี้ว่าอยากกำไรเท่าไหร่ นี่คือระบบแบ่งปันผลผลิต รัฐเป็นเจ้าของน้ำมันถึง 80 ลิตร แต่ปัญหาคือรัฐต้องเอา 80 ลิตรนี้ไปขาย ความคิดเข้าท่า แต่ต้องเข้าใจว่ากระทรวงพลังงานมีความพร้อมแค่ไหน ตนเชื่อว่ายังไม่มีความพร้อม
เทียบกับระบบสัมปทานเก่าที่ข้าราชการพลังงานนอนเฉยๆ ก็ได้เงินเข้าหลวง ไม่ต้องเสี่ยงอะไร ฉะนั้นข้าราชการพลังงานเลยค้านหัวชนฝาในเรื่องเปลี่ยนให้เป็นระบบแบ่งปันผลผลิต
ฉะนั้นมันต้องฉายภาพให้ชัดเจนเลยว่าระบบไหนได้มากกว่ากัน ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ น่าทำ แต่ทั้งหลายต้องเกิดตอนเราชนะ ถ้าไม่ชนะจะเถียงกันไปทำไม หลังชนะต้องมีการตั้งคณะกรรมการเป็นจริงเป็นจัง เรื่องพลังงานไม่มีอะไรเบื้องหลังทั้งสิ้น อย่าตั้งแง่กัน เพราะคนที่รอกินจะสบาย
“กราบจริงๆ เอเอสทีวี อย่าระแวง นาทีนี้คือนาทีที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ถ้าไม่สู้ด้วยกันจะปล่อยให้เขาชนะหรือ ปล่อยให้มันกินประเทศไทยหรือ” นายอรรถวิชช์กล่าว