xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูปพลังงาน

เผยแพร่:   โดย: ชวินทร์ ลีนะบรรจง, สุวินัย ภรณวลัย

                  ปฏิรูปมิใช่ปฏิวัติ
         ต้องการความต่อเนื่องและมีส่วนร่วม

ข้อเสนอปฏิรูปประเทศไทย 5 ด้านโดย กปปส.เป็นประเด็นขึ้นมาก็เพราะมีข้อเรียกร้องและวิพากษ์ในภายหลังออกมาทางสื่อบางแห่งว่าเหตุใดจึงไม่รวมเรื่องการปฏิรูปพลังงานเข้าไปด้วย

มีข้อเท็จจริงที่ต้องมาทำความเข้าใจก็คือ ปฏิรูปมิใช่เรื่องเดียวกับการปฏิวัติเพราะมิได้เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วฉับพลันเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ต้องการเหมือนดังเช่นปฏิวัติ

ในทางตรงกันข้ามปฏิรูปเป็นกระบวนการที่ดำเนินไปอย่างไม่รีบร้อนแต่ต้องทำอย่างต่อเนื่องด้วยการมีส่วนร่วมให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อการหาฉันทามติร่วมกันจึงจะสำเร็จได้

ปฏิรูปจึงมีส่วนดีกว่าปฏิวัติตรงที่ไม่มีผลข้างเคียงที่ไม่พึงปรารถนา เช่น ความขัดแย้ง ความวุ่นวาย หรือการไร้ซึ่งกติกา ที่จะเกิดติดตามมาจากการปฏิวัติ

ปฏิรูปเป็นการปรับสภาพที่เป็นอยู่ที่ไม่ดีไม่ถูกต้องให้เป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม เป็นการสร้างสถานะที่ดีกว่าเดิมอาศัยสิ่งที่มีอยู่โดยมิได้คิดค้นหรือประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่เหมือนการพัฒนา

ข้อเสนอการปฏิรูปประเทศอย่างเร่งด่วน 5 ด้านจึงเป็นความพยายามที่จะปรับสภาพของสังคมไทยที่เป็นอยู่เดิมที่ไม่ถูกต้องให้มีความถูกต้องมากกว่าเดิม กล่าวในรูปธรรมก็คือการขจัดระบอบทักษิณนั่นเอง

ความไม่ถูกต้องที่ระบอบทักษิณทำกับประเทศไทยจนต้องมีการปฏิรูปนั้นกล่าวโดยย่อก็เป็นการขจัดการใช้อำนาจอธิปไตยอย่างบิดเบี้ยวของระบอบทักษิณ(รูปขวา)ที่นำโดยทักษิณและยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เพราะการเข้าสู่อำนาจของระบอบทักษิณอาศัยการเลือกตั้งและยกเอาหีบบัตรเลือกตั้งให้อยู่เหนืออำนาจอื่นๆ ทั้งปวงไม่ว่าจะเป็น รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ หรือแม้แต่ตัวรัฐธรรมนูญเองดังจะเห็นได้จากการกระทำที่ผ่านมาและที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่ไม่ยอมรับอำนาจอื่นๆ ในการตรวจสอบถ่วงดุล พยายามทุกวิถีทางเดินหน้าจัดการเลือกตั้งโดยไม่สนใจสภาพความขัดแย้งที่เกิดขึ้นที่ไม่สามารถแก้ไขโดยหีบบัตรเลือกตั้งแต่อย่างใดไม่

   อำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ(ซ้าย)และที่บิดเบี้ยวของระบอบทักษิณ (ขวา)

การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งจึงมีความจำเป็นและไม่สามารถปล่อยให้นักการเมืองซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียจากการปฏิรูปนี้เข้ามามีอำนาจในการกำหนดทิศทางหรือเห็นชอบกับการปฏิรูปได้ กระบวนการเลือกตั้ง และการบังคับใช้กฏหมาย ซึ่งเป็นเรื่องของการเข้าสู่อำนาจและการตรวจสอบถ่วงดุลจึงเป็นประเด็นสำคัญในการปฏิรูปทั้ง 5 ด้านดังกล่าว

หากสามารถทำได้สำเร็จเกิดการปฏิรูปขึ้นมา การเมืองก็จะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเหมือนดังเช่นเศรษฐกิจด้วยการเป็นกลไกในการแสวงหาฉันทานุมัติระหว่างกลุ่มคนในสังคมอย่างกว้างขวางเพื่อกำหนดและแสวงหาประโยชน์ส่วนรวมที่มิใช่ประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้องดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้อย่างถูกต้องชอบธรรม

ประเด็นต่างๆ ในเรื่องพลังงานที่ต้องการปฏิรูปก็จะสามารถแสวงหาจุดร่วมและตัดสินใจกำหนดทิศทางได้อย่างถูกต้อง เช่น ระหว่างระบบสัมปทานแบ่งปันผลผลิตกับระบบเดิมที่จ่ายค่าสัมปทานแบ่งปันตามมูลค่า คนไทยควรใช้น้ำมันหรือก๊าซของตนเองในราคาที่ถูกกว่าราคาตลาดหรือไม่ รูปแบบการเป็นเจ้าของ ปตท. หรือนโยบายพลังงานทดแทน/หมุนเวียนจะทำอย่างไร สังคมไทยที่รวมประชาชน พ่อค้า นักอุตสาหกรรมจะยอมรับพลังงานที่ยั่งยืนและสะอาดแต่มีราคาแพงที่ต้องจ่ายหรือไม่

รัฐบาลมีหน้าที่หลักอันชอบธรรมในการแก้ไขปัญหากลไกตลาดล้มเหลวอันเนื่องมาจากปัจจัยต่างๆ นอกเหนือจากนั้นจะเป็นเรื่องการเมืองที่นักการเมืองจะต้องแสวงหาจุดยืนและหาฉันทานุมัติจากคนในสังคมเพื่อเป็นทิศทางให้รัฐบาลไปดำเนินการ

มีความเข้าใจผิดคิดอยู่เสมอว่าพลังงานเป็นเรื่องของสินค้าสาธารณะซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กลไกตลาดล้มเหลว ทำให้เข้าใจผิดว่ารัฐบาลต้องเข้ามามีบทบาทดูแลโดยการแทรกแซงไม่ว่าจะโดยการควบคุมราคาและ/หรืออาจเข้ามาเป็นผู้ผลิตเสียเอง ในความเป็นจริงแล้วพลังงาน เช่น น้ำมันเป็นสินค้าเอกชน หรือแม้แต่ไฟฟ้าซึ่งเป็นสาธารณูปโภคแต่ก็มิใช่สินค้าสาธารณะเหมือนเช่นงานการรักษาความสงบหรือความมั่นคงเช่น ตำรวจหรือทหาร ซึ่งเป็นบริหาร/สินค้าสาธารณะที่รัฐบาลจำเป็นต้องเข้าไปเกี่ยวข้องผลิตบริการเช่นที่ว่านี้เสียเอง

การที่รัฐบาลเข้าไปแย่งผลิตสินค้าเอกชนแทนเอกชนก็ผิดฝาผิดตัวเสียตั้งแต่เริ่มแรกเสียแล้วเพราะมิใช่หน้าที่ของรัฐบาลแต่ประการใด ดูตัวอย่างเรื่องการซื้อขายข้าวโดยรัฐบาลที่เรียกว่าจำนำข้าวก็ได้ว่าก่อให้เกิดความเสียหายมากน้อยเพียงใดจากการเข้าไปทำหน้าที่ที่มิใช่ของรัฐบาลเอง การผลิต ค้าขายโดยรัฐวิสาหกิจน้อยใหญ่ทั้งหลายก็เช่นกัน

ดังนั้นการแสวงหาฉันทานุมัติเกี่ยวกับบทบาทของรัฐบาลในเรื่องพลังงานนี้จึงควรหรือไม่ที่จะปล่อยให้เป็นเรื่องของนักการเมืองที่จะแสดงจุดยืนของตนเองกับประชาชน นี่จึงเป็นเรื่องการเมืองและต้องการการปฏิรูปเสียก่อนหากสภาพที่เป็นอยู่ไม่เอื้ออำนวยให้การเมืองทำงานได้อย่างถูกต้องตามที่ควรจะเป็น

คำตอบจึงปรากฏออกมาชัดเจนว่าหากไม่ทำการปฏิรูป 5 ด้านที่เสนอโดย กปปส.เสียก่อนการเลือกตั้ง การปฏิรูปพลังงานที่อาจริเริ่มทำไปควบคู่กันหรือในภายหลังก็ไม่อาจบรรลุความสำเร็จได้หากการปฏิรูปทั้ง 5 ด้านดังที่กล่าวยังทำไม่แล้วเสร็จ

การเรียกร้องการปฏิรูปพลังงานไม่ใช่เรื่องผิด แต่การออกมาแจกคำเชิญทางอากาศท้าทายเพื่อให้ไปโต้เถียงเอาชนะทางวาทกรรมจึงเป็นเรื่องไม่สมควร เช่นเดียวกับผู้รู้ที่ทำตนเป็นนักวิชาการในหอคอยงาช้างที่มิอาจยินยอมลงมาเกลือกกลั้วแบ่งปันความรู้กับชาวบ้านก็เป็นเรื่องไม่สมควรเช่นกัน

          ปฏิรูปพลังงานจึงต้องเริ่มปฏิรูปที่แนวคิดของคนเสียก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น