xs
xsm
sm
md
lg

ปัตตานีจัดงานมหกรรมวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ชู “กระบวนการสันติภาพ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัตตานี - ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) จัดงานมหกรรม วันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี 2014 เพื่อทบทวนความรู้ การเคลื่อนไหวทางสังคมของเครือข่ายสื่อ และภาคประชาสังคมในห้วงเวลา 10 ปีของการใช้ความรุนแรง และทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในสนามสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา หนุนเสริมกระบวนการสันติภาพให้มั่นคง และแข็งแรงมากขึ้น

วันนี้ (28 ก.พ.) ที่คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมปอง ทองผ่อง รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นประธานเปิดงานมหกรรม วันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี 2014 ซึ่งศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) จัดขึ้น เพื่อเป็นการทบทวนความรู้ และการเคลื่อนไหวทางสังคมของเครือข่ายสื่อ และภาคประชาสังคมในห้วงเวลา 10 ปีของการใช้ความรุนแรง และทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในสนามสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา โดยเปิดโอกาสสร้างพื้นที่การเรียนรู้การทำงานร่วมกันของภาคเครือข่ายสื่อ และภาคประชาสังคมชายแดนใต้ เพื่อเสริมสร้างพลังการทำงานของภาคประชาสังคมและชุมชนในระดับฐานรากให้เป็นตาข่ายนิรภัย หรือเครือข่ายหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพให้มั่นคง และแข็งแรงมากขึ้น

สำหรับรูปแบบของงานมีการจัดเวทีเสวนาวิชาการ และความเคลื่อนไหวทางสังคมของเครือข่ายสื่อ และภาคประชาสังคมในระยะเวลา 10 ปีของการใช้ความรุนแรง และทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในสนามสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา โดยเน้นสาระสำคัญว่าด้วยเรื่องสื่อ (Media) มีการนำเสนอผลการวิจัย Peace Media Monitors เพื่อสะท้อนภาพการนำเสนอข่าวสารกระบวนการสันติภาพผ่านสื่อประเภทต่างๆ ในรอบปีที่ผ่านมา/มีเวทีเสวนาวิชาการที่เอาประสบการณ์การขับเคลื่อนการทำงานของภาคเครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมชายแดนใต้ขึ้นมาเป็นความรู้ใหม่ให้แก่สังคมไทย

ว่าด้วย “วารสารศาสตร์สันติภาพเพื่อสันติธรรม” (Peace Journalism for Civility) ตลอดจนมีการเปิดพื้นที่ให้เครือข่ายสื่อต่างๆ ในพื้นที่ได้ปรับองศาการมอง และชี้ทิศทางด้วยการจัดเวทีเสวนาวิสัยทัศน์ ในหัวข้อ “ก้าวต่อไปสื่อประชาคมสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี” อีกทั้งยังมีการปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “สันติสนทนาและกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี : หนึ่งปีที่ผ่านมาและอีกหลายปีต่อจากนี้” โดย ดาโต๊ะ ศรี อะหมัด ซัมซามิน ฮาชิม ผู้อำนวยความสะดวกของรัฐบาลมาเลเซียในคณะทำงานร่วมเพื่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ (JWG-PDP) ต่อด้วยเวทีสันติเสวนาพิเศษ “หนึ่งปีที่ผ่านมาและก้าวต่อไปของกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี” วิทยากรโดยคนที่มีความสัมพันธ์กับโต๊ะพูดคุยสันติภาพ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ทั้งทางตรง และทางอ้อม

รวมทั้งการแสดงข้อคิดเห็นจากศาสตราจารย์ด็อกเตอร์ ดันแคน แมคคาร์โก ผู้เขียนหนังสือ “ฉีกแผ่นดิน” พร้อมทั้งเปิดพื้นที่ให้ “คนใน” ที่ขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพในขณะนี้ ได้บอกเล่าทิศทางการทำงานเพื่อเชื่อมร้อยงานของเครือข่ายในพื้นที่อย่างมั่นคงมากขึ้น ในเวทีเสวนาหัวข้อ “แทร็ก 3 : เราทำอะไรไปบ้างและทำอะไรได้อีกในกระบวนการสันติภาพ” นอกจากนี้ ยังมีตลาดนัดจากเครือข่ายสื่อ และภาคประชาสังคม จำนวนกว่า 40 องค์กร มาร่วมออกบูท/จัดนิทรรศการ/จัดเวทีย่อยคู่ขนาน เพื่อนำเสียงที่เกี่ยวข้องของเจ้าของปัญหาขึ้นนำมาเสนอ ซึ่งทั้งหมดนี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงการทำงานที่เป็นพื้นที่ร่วม (Common Space)/การทำงานร่วมกันของเครือข่ายหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ และแสดงถึงพื้นที่ของสันติภาพที่ขยายตัวมากขึ้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด็อกเตอร์ ศรีสมภพ จิตภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ได้กล่าวถึงที่มาของงานว่า นับจากปี 2554 เครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมจำนวนหนึ่งได้ริเริ่มผลักดันให้เกิด “วันสื่อทางเลือกชายแดนใต้” ซึ่งจัดทุกวันที่ 13 มีนาคมของทุกปี เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์การแสดงออกถึงการทำงานร่วมกันของเครือข่ายที่มีเป้าหมายสร้างพลังการต่อรองกับผู้ใช้ความรุนแรงทุกฝ่าย และใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวประเด็นทางสังคมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กระบวนการสื่อสารสาธารณะจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อทุกฝ่าย ซึ่งได้จัดต่อเนื่องมา 3 ปีแล้ว และในปี 2557 ในวาระที่ผ่านทศวรรษความรุนแรง และครบรอบ 1 ปีการริเริ่มกระบวนการสันติภาพ บทบาทของวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ จึงถือโอกาสนี้ปักหมุดหมายใหม่เปลี่ยนเป็น “มหกรรมวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้” เพื่อทำหน้าที่สร้างความหมาย และหนุนบทบาทเครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมในการเสริมสร้างกระบวนการสันติภาพให้เข้มแข็ง และสามารถเดินต่อไปอย่างมั่นคงยิ่งขึ้น โดยวัตถุประสงค์ของงานนี้เพื่อต้องการสร้างกระบวนการสันติภาพจาก “คนข้างล่าง” และ “คนใน” ของคู่ขัดแย้งหลัก และผู้ใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่าย ให้สังคมไทย และนานาชาติได้รับรู้
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น