ปัตตานี - อดีต ส.ส. 4 พรรคใหญ่ สมาชิกสภาจังหวัด นายกเทศมนตรี เจ้าหน้าที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา และเจ้าหน้าที่จากศูนย์สันติวิธีจังหวัดชายแดนภาคใต้ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วม เสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและหาทางออกระหว่างนักการเมืองจังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 16 พร้อมเสนอ 4 ข้อเพื่อลดความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้
วันนี้ (16 ธ.ค.) ที่โรงแรมปาร์ควิว จ.ปัตตานี กลุ่มอดีตนักการเมืองหลายพรรค ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากพรรคเพื่อไทย พรรคภราดรภาพ พรรคมาตุภูมิ พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน และนักการเมืองไม่สังกัดพรรค สมาชิกสภาจังหวัด นายกเทศมนตรี เจ้าหน้าที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา และเจ้าหน้าที่จากศูนย์สันติวิธีจังหวัดชายแดนภาคใต้ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมตัวกันเพื่อจัดสานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหา และหาทางออกระหว่างนักการเมืองจังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 16 โดยมี นายบูราฮานุดิน อุเซ็ง อดีต ส.ส. จ.ยะลา พรรคไทยรักไทย เป็นแกนนำในการเสาวนาในครั้งนี้ เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แลกเปลี่ยนปัญหา และหาทางออกร่วมกันเพื่อลดความรุนแรง และส่งเสริมให้เกิดสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมกันนี้ นายบูราฮานุดิน ได้แถลงสรุปการเสาวนา โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเด็นดังนี้
1.ที่ประชุมขอสนับสนุนกระบวนการสันติภาพให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แต่มีความกังวลว่าในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองมีความไม่แน่นอน และมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรอยู่นี้ กระบวนการสันติภาพอาจหยุดชะงักลง ทั้งๆ ที่เข้าใจว่าฝ่ายบีอาร์เอ็น และฝ่ายที่ร่วมขบวนการฯ มีความพร้อม โดยได้ยื่นข้อเสนอ 5 ข้อ ซึ่งฝ่ายรัฐบาลได้ตอบรับไว้เป็นหัวข้อการพูดคุยแล้ว พร้อมทั้งได้มีข้อเสนอ
2 ข้อต่อฝ่ายขบวนการฯ คือ การลดความรุนแรง และการร่วมกันพัฒนา ดังนั้น หากเรื่องใดเป็นเรื่องที่ฝ่ายข้าราชการประจำสามารถดำเนินการได้ เพราะสอดคล้องกับข้อเสนอของทั้ง 2 ฝ่าย และไม่ขัดกับกฎระเบียบที่มีอยู่น่าจะดำเนินการให้มีความคืบหน้าได้ กล่าวโดยเฉพาะคือ ในเรื่องความรุนแรงนั้น ฝ่ายบีอาร์เอ็นได้มีข้อเสนอที่ชัดเจนว่าถ้ามีการปล่อยผู้ถูกคุมขัง/นักโทษข้อหาการเมือง 10 คน และการยกเลิกหมายจับ 10 หมายในหนึ่งเดือน บีอาร์เอ็นจะยุติการปฏิบัติการเป็นรายอำเภอ ซึ่งถ้ามีระเบียบข้อบังคับ และกฎหมายรองรับ ควรรีบดำเนินการเพื่อลดการสูญเสียชีวิตลง 2.ขอให้รัฐบาลยอมรับกระบวนการพูดคุยที่ไม่เป็นทางการ หรือที่เรียกว่า track 2 โดยให้หลักประกันแก่คนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนักการเมือง ฝ่ายประชาสังคม ฝ่ายสื่อมวลชนในพื้นที่ ให้ดำเนินการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับฝ่ายขบวนการฯ ได้อย่างปลอดภัย และไม่มีการแทรกแซงจากการหาข่าวของฝ่ายข่าวความมั่นคง
3.ให้รัฐบาลแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อศึกษา และพัฒนากระบวนการสันติภาพ ที่คล้ายคลึงกับคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ซึ่งมี คุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้กระบวนการสันติภาพมีข้อมูลทางวิชาการเปิดโอกาสการมีส่วนร่วมโดยเฉพาะจากคนในพื้นที่ และมีการประสานงานได้อย่างกว้างขวางกับทุกฝ่าย รวมทั้งให้คำปรึกษาแก่การพูดคุย/เจรจาสันติภาพ ที่เป็นทางการด้วย โดยดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เพื่อความรอบคอบ รัฐบาลอาจปรึกษากับ กกต. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181 4.ในโอกาสที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.57 ขอเสนอให้พรรคการเมืองกำหนดนโยบายการแก้ไขความขัดแย้งใน จชต. ไว้ในการหาเสียงด้วย โดยเฉพาะนโยบายเกี่ยวกับการพูดคุย/เจรจาสันติภาพด้วย