xs
xsm
sm
md
lg

ชี้จุดอ่อนดับไฟใต้ รัฐ-BRNไม่จริงใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการชำแหละข้อดีข้อจำกัด กระบวนพูดคุยสันติภาพไทย-บีอาร์เอ็น ชี้ยังขาดความจริงใจ-ร่วมมือในการทำงาน ไม่มีช่องทางการสื่อสารโดยตรงกับบีอาร์เอ็น แนะมีทีมเลขาฯที่เข็มแข็ง เปิดเจรจาโดยตรง ลดการพึ่งพามาเลเซีย นักรัฐศาสตร์เปรียบอาเจ๊ะห์กับ 3 จังหวัดชายแดนใต้ต่างกัน รัฐบาลอินโดฯ มีเอกภาพแต่ไทยไม่มี

เมื่อวานนี้ (29 ก.ย.) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดเวทีราชดำเนินเสวนา หัวข้อ “ประสบการณ์กระบวนการสันติภาพ : บทเรียนจากต่างประเทศสู่สามจังหวัดชายแดนใต้”โดย สมาคมนักข่าวฯ ร่วมกับ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลขนแห่งประเทศไทย และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

นายเมธัส อนุวัตรอุดม จากสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า อธิบายถึงกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ ซึ่งลงนามในข้อตกลงร่วมกันเมื่อ 28 ก.พ.2556 ว่า ข้อดีของการพูดคุยในรอบนี้ คือ
1.เป็นการพูดคุยกับแกนนำบีอาร์เอ็นที่ได้รับการมอบหมายจากสภาองค์กรนำอย่างแท้จริง ผิดกับที่ผ่านมาซึ่งแม้มีการพูดคุย แต่เป็นการคุยในนามส่วนตัว 2.รัฐบาลไทยได้ประสานนายกรัฐมนตรีมาเลเซียอย่างเป็นทางการให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพูดคุยสันติภาพ ทำให้มีหลักประกัน และตรงตามความต้องการของแกนนำบีอาร์เอ็นระดับหนึ่ง 3.มีหลักประกันอย่างเป็นทางการว่ารัฐบาลยอมรับและรับรู้ในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ

4.หลังผ่านเดือนรอมฎอนแล้ว ทั้งสองฝ่ายยังยืนยันว่าจะพูดคุยกันต่อไป ทั้งๆ ที่ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับปัจจัยความรุนแรงในช่วงรอมฎอน 5.บีอาร์เอ็นยืนยันอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรว่าทางออกที่เป็นไปได้เพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกบีอาร์เอ็นแสดงท่าทีเช่นนี้ ที่ไม่ไปฏิเสธทางออกอื่นนอกเหนือจากเอกราช

อย่างไรก็ตาม การพูดคุยครั้งนี้นายเมธัส เห็นว่ายังข้อจำกัด เพราะจุดเริ่มต้นของการพูดคุยเกิดในสภาพที่จำเป็น โดยสภาบีอาร์เอ็นไม่ได้รับรู้ในตอนต้น ทำให้ไม่มีความไว้วางใจต่อกัน มีการขอมติสภาบีอาร์เอ็นย้อนหลัง ซึ่งสภาบีอาร์เอ็นก็มีมติให้พูดคุยต่อได้ แต่ยังไม่เลิกปฏิบัติการทางทหาร จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีกระบวนการสร้างความสัมพันธ์และความไว้วางใจระหว่างทีมพูดคุยหลักของทั้งสองฝ่ายให้เกิดขึ้นได้ ยังมีการการสื่อสารผ่านตัวกลางคือมาเลเซีย

ข้อจำกัดฝ่ายบีอาร์เอ็นมีกระบวนการจัดการที่มีเอกภาพ แต่อาจมีความเห็นแตกต่างในเรื่องทางออก ซึ่งฮันซัน ตอยิบซึ่งอยู่ในปีกการเมืองก็ต้องประคับประคอบและโน้มน้าวให้ปีกทหารของบีอาร์เอ็นเห็นประโยชน์จากการพูดคุย ซึ่งก็อยู่กับท่าทีรัฐบาลไทยเป็นหลักว่าจะเป็นอย่างไร

ข้อจำกัดของฝ่ายไทย ยังมีปัญหาความเป็นเอกภาพของหน่วยงานรัฐฝ่ายไทย ไม่มีความชัดเจนในทางปฏิบัติ ไม่มีทีมเลขาที่เข็มแข็ง ที่จะประสานการจัดการเรื่องเนื้อหาที่จะไปพูดคุย และไม่ตกผลึกทางความคิด ไม่มีเวทีร่วมหารือเชิงลึกอย่างเพียงพอ ถึงสาเหตุของของปัญหาและทางออกที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ของฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำ แต่ละฝ่ายหวังที่จะยุติความรุนแรงแต่ไม่ได้กำหนด Negotiating Rang ที่ชัดเจน

สำหรับข้อจำกัดทั้งสองฝ่าย นายเมธัสกล่าวว่านอกจากนี้ยังพบข้อจำกัดว่ายังไม่มีการทำงานร่วมกันของฝ่ายไทยและบีอารืเอ็นเพื่อสร้างความมั่นใจและไว้ใจกันและกัน ยังขาดช่องทางการสื่อสารของทั้งสองฝ่าย แต่แต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน มีพื้นที่ปลอดภัยที่จะพูดคุยอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาและสัมผัสใจอีกฝ่าย ยังไม่มีการทำงานร่วมกันของทั้งสองฝ่ายที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ความจริงใจจากการกระทำ แต่ละครั้งที่คุยกัน 1 วัน ครึ่งวันเป็นการตรวจและแก้ไขรายงานการประชุม ที่เหลือเป็นการคุยผ่านคนกลาง ไม่ได้คุยกันเอง ปัจจุบันคุยกันทางกระดาษผ่านสื่อ

นายเมธัสได้เสนอแนะว่าฝ่ายไทยต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายการเมืองกับคณะพูดคุย ควรมี Peace Roadmap ด้านเนื้อหาและทางออก ที่สำคัยควรมีการหารือวงปิดระหว่างหน่างงานความมั่นคงทุกหน่วยงานให้มีความเข้าใจตรงกัน ไม่ว่า สมช. กอรมน. ศอบต. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงกลาโหม กองทัพบก กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม

นอกจากนี้ ต้องสร้างช่องทางการสื่อสารที่ไม่เป็นทางการกับบีอาร์เอ็นเพื่อพูดคุยแบบเปิดใจในประเด็นที่เป็นอุปสรรคหรือประเด็นที่ยากลำบากในการหาทางออก โยทั้งสองฝ่ายมาคุยกันให้เข้าใจและไว้ใจกัน อาจจะใช้แกนนำแถวสองของแต่ละฝ่าย และต้องลดการพึ่งพาจากมาเลเซียเพื่อให้สองฝ่ายคุยกันได้โดตรง

นายเมธัสกล่าวว่า ฝ่ายไทยต้องมีการบริหารจัดการ ต้องมีการเตรียมความพร้อมที่จะไปคุย มีทีมเลขาที่เข็มแข็ง ที่เข้าใจประเด็นและกรบวนการ ต้องมีทีมที่ปรึกษาอย่างเป็นทางการที่ได้รับมอบหมายอย่างชัดเจน เพื่อทำงานทำแผนจริงจริงในการทำงานระยะยาว ที่สำคัญทั้งสองฝ่ายต้องมีเวลาการพูดคุยที่มากกว่า 1 วันเพื่อให้คณะทำงานที่ไดรับการมอบหมายได้คุยในรายละเอียด

นายเมธัส กล่าวเสนอแนะว่า รัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็นต้องมีช่องทางหารือและทำงานร่วมกัน และตั้งทีมปรึกษารับมอบงานอย่างชัดเจน พร้อมทั้งรัฐบาลต้องสร้างกลไกที่ทำให้กลุ่มเห็นต่างอื่นๆ รู้สึกว่าตนมีพื้นที่แสดงความคิดเห็นมากขึ้น การที่รัฐยังไม่สามารถสร้างมั่นใจให้กับบีอาร์เอ็น แต่บีอาร์เอ็นก็ไม่ปฏิเสธ จึงเป็นสิ่งที่ดีที่บีอาร์เอ็นยอมที่จะพูดคุยอย่างเป็นทางการ ซึ่งหากรัฐบาลมีวิธีการดำเนินการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์ และมีเหตุมีผล โดยมีความจริงใจ และมีข้อตกลงที่ชัดเจน ที่สามารถยอมรับได้อาจทำให้กระบวนการพูดคุยมีประโยชน์ต่อสันติภาพได้

นายเมธัสกล่าวว่าจากการพูดคุยระหว่างคณะพูดคุยของไทยกับบีอาร์เอ็นมีความเห็นร่วมกันเบื้องต้นที่เป็นนัยยะสำคัญที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับคือ 1.การพูดคุยเป็นแนวทางที่จำเป็นในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ 2. ยอมรับทางออกที่ยอมรับได้ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักไทย 3. ทั้งสองฝ่ายต้องการลดและยุติความรุนแรงเพื่อสันติสุขในพื้นที่ซึ่งเป็นเป็นความประสงค์ร่วมของทั้งสองฝ่ายและ 4 ทั้งสองฝ่ายยอมรับว่าข้อตกลงสุดท้ายต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา

“ถ้าแบ่งคนในพื้นที่ว่ามีความเห็นต่อกระบวนการสันติภาพอย่างไร โดยแบ่งอย่างหยาบๆ ก็จะมีอยู่ 3 กลุ่มเท่าๆ กัน คือ เห็นด้วย ราว 33% รอดูท่าที 33% และไม่เห็นด้วยเลยอีก 33% โดยกลุ่มหลังต้องการเอกราชเท่านั้น ข้อพิจารณาก็คือ 2 กลุ่มแรกมีถึง 66% การที่กระบวนการสันติภาพจะเดินหน้าต่อหรือไม่จึงขึ้นอยู่กับท่าทีของรัฐบาลเอง โดยเฉพาะข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ถ้ารัฐบาลมีคำตอบอย่างสร้างสรรค์ มีเหตุมีผล รับได้เพราะอะไร หรือรับไม่ได้เพราะอะไร การพูดคุยก็จะเดินหน้าต่อไปได้ ส่วนข้อกังวลและข้อสงสัยต่างๆ สามารถหยิบไปคุยในกระบวนการพูดคุยได้เลย เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับการพูดคุยทั้งสิ้น" นายเมธัส กล่าว

ด้านผศ.ชนินท์ทิรา ณ ถลาง อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในแง่ของการเปรียบเทียบกระบวนการสันติภาพอาเจะห์กับกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยนั้น บอกว่า มีความแตกต่างกันอยู่ เช่น ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มติดอาวุธมีหลายกลุ่มและไม่มีความชัดเจน ขณะที่อาเจะห์มีกลุ่มหลักคือกลุ่มกัมเพียงกลุ่มเดียว ขณะที่รัฐบาลอินโดนีเซียมีเอกภาพมากในช่วงที่ตัดสินใจใช้กระบวนการเจรจาสันติภาพผิดกับไทยที่ผู้นำทางการเมืองยังมีความเห็นแตกต่างกัน
นอกจากนั้น ในกระบวนการสันติภาพอาเจะห์ ยังมีสิ่งที่เรียกว่า Ache Desk ซึ่งมีทั้งผู้นำทางการเมือง นักวิชาการ นักธุรกิจ และเอ็นจีโอ ร่วมอยู่บนโต๊ะ ทำให้กระบวนการมีความแข็งแกร่ง แต่ของไทยยังไม่มีกลไกลักษณะนี้

ส่วนข้อตกลงเรื่องการปกครองพิเศษ หรือ Autonomy ผศ.ดร.ชนินท์ทิรา ชี้ว่า คำว่า Autonomy หมายถึง shared rule plus self-rule ซึ่งก็คือการตกลงในเรื่องกฎที่ต้องใช้ร่วมกันกับกฎที่เป็นของตนเอง เป็นช่องทางให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม ภาษา และศาสนา ได้มีส่วนร่วมจัดการบริหารพื้นที่และทรัพยากรของตนเอง แต่ในส่วนของ self-rule ขึ้นอยู่กับรัฐบาลกลางว่าจะมอบอำนาจเรื่องใด และแค่ไหน

"กรณีพื้นที่ขัดแย้งทางชาติพันธุ์ มีแนวทางเรื่องการปกครองแบบพิเศษหลายรูปแบบ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และไม่ขัดกับการเป็นรัฐเดี่ยวของประเทศไทย เนื่องจากอินโดนีเซียก็เป็นรัฐเดี่ยว แต่ก็ให้อาเจะห์เป็นเขตปกครองพิเศษได้"

ผศ.ชนินท์ทิรา อธิบายถึงกระบวนการสันติภาพในอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งประสบความสำเร็จไปแล้วเมื่อปี 2548 ว่า การเจรจาสันติภาพมีอยู่ 3 ครั้งใหญ่ๆ ล้มเหลว 2 ครั้ง คือในปี 2543 ปี 2545

สำหรับเหตุผลที่ทำให้กระบวนการสันติภาพล้มเหลวทั้ง 2 ครั้ง คือ 1.อำนาจในการตัดสินใจของคนกลาง คือ เอชดีซี (อังรีดูนังต์ เซ็นเตอร์) มีสถานภาพและได้รับมอบอำนาจไม่เพียงพอ 2.การต่อสู้ยังคงมีอยู่ ไม่มีการหยุดยิง และมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง 3.ทั้งสองฝ่าย (รัฐบาลอินโดนีเซีย กับกลุ่มกัม) ขาดความจริงใจในการเจรจา และ 3.กำลังทหารของอินโดนีเซียมีผลประโยชน์ทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายในพื้นที่อาเจะห์ถึงราวๆ25%ของงบการทหารทั้งหมด 4.กลุ่มกัมยังคิดว่าสามารถเอาชนะรัฐบาลอินโดนีเซียได้ ในขณะที่อินโดนีเซียก็อ่อนแอทั้งการเมืองและเศรษฐกิจที่ยังไม่นิ่ง 5.สื่อมวลชนและกระแสสังคมคัดค้านการเจรจา 6.มีการละเมิดข้อตกลงเบื้องต้นจากทั้งสองฝ่าย โดยที่คนกลางไม่สามารถทำอะไรได้

ส่วนปัจจัยที่ทำให้กระบวนการสันติภาพกลับมาประสบความสำเร็จในปี 2548 คือ 1.คนกลางในการเจรจาถูกเปลี่ยนจากเอชดีซี เป็น ซีเอ็มไอ (Crisis Management Initiative) ซึ่งมี นายมาร์ตติ อาห์ติซารี อดีตประธานาธิบดีประเทศฟินแลนด์เป็นประธาน ทำให้สามารถพูดคุยกับผู้นำหลายประเทศในสหภาพยุโรป (อียู) ได้ จึงได้รับการสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศ และสุดท้ายได้เสนอให้ตั้งองค์กรร่วมระหว่างอียู กับชาติในอาเซียน เรียกว่า เอเอ็มเอ็ม หรือ Ache Monitoring Mission เพื่อปลดอาวุธของทั้งสองฝ่าย และนำผลการเจรจาไปสู่การปฏิบัติจริง 2.กลุ่มกัมอ่อนแอลง และได้รับการสนับสนุนจากประชาชนลดลงจากปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน 3.รัฐบาลอินโดนีเซียมีเสถียรภาพมากขึ้น มีความต้องการให้เกิดสันติภาพมากขึ้น และทหารอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ประชาธิปไตยมากขึ้น

"2 ประเด็นสำคัญที่นำไปสู่ข้อยุติของความขัดแย้ง คือ การมีกฎหมายกระจายอำนาจในอาเจะห์ และกระจายทรัพยากร โดยในส่วนของการกระจายอำนาจทางปกครอง ทำให้มีการเลือกตั้ง 5 ระดับในอาเจะห์ และอนุญาตให้ตั้งพรรคการเมืองในระดับท้องถิ่นได้ ซึ่งเป็นเพียงพื้นที่เดียวในอินโดนีเซีย ส่วนการกระจายทรัพยากร มีข้อตกลงแบ่งผลประโยชน์จากทรัพยากรของอาเจะห์ในอัตราท้องถิ่น 75% และส่งเข้ารัฐบาลกลาง 25% ทั้ง 2 ประเด็นนี้ถือว่าตอบโจทย์ที่เป็นเหตุผลที่แท้จริงของความขัดแย้ง 2 เรื่อง คือการเมืองกับเศรษฐกิจ"

นายมาร์ค ตามไท รองประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธี กองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า รู้สึกว่า กระบวนการสร้างสันติภาพสำหรับภาคใต้ ตัวกระบวนการยังอยู่ที่ระดับสูงของทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หรือบีอาร์เอ็น ซึ่งยังไม่มีกลุ่มอื่นเข้ามาออกแบบตัวกระบวนการเพื่อการเจรจามีการพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ มองว่าในการพูดคุยระหว่างรัฐบาลและบีอาร์เอ็น ยังไม่มีความชัดเจนว่ามีจุดหมายที่เป็นรูปธรรมอย่างไร การลงทุนในการหาจุดหมายร่วมกันยังไม่พอ.
กำลังโหลดความคิดเห็น