xs
xsm
sm
md
lg

“1 ปี พูดคุยสันติภาพ” ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้มั่นใจมาถูกทาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยะลา - ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้เผยครบรอบ 1 ปี พูดคุยสันติภาพ มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี หวังเดินหน้าพูดคุยต่อเนื่องสร้างสันติภาพในพื้นที่ จชต.

วันนี้ (28 ก.พ.) ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DeepSouthWatch : DSW ) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพ เปิดเผยว่า ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาของกระบวนการสันติภาพ ก็พบว่าประการแรกก็คือ ความรุนแรงในภาคใต้มันยังคงอยู่ แต่ว่าจุดที่น่าสนใจก็คือ มีการเปลี่ยนเป้าหมายการก่อเหตุเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นจุดแข็งจะมากขึ้น ส่วนเหตุการณ์ที่เป็นระเบิดในเขตพื้นที่เมืองก็จะน้อยลง มีการแก้ปัญหาโดยวิธีสันติมากขึ้น ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ทหาร หรือฝ่ายความมั่นคง เน้นแนวทางที่ให้วิธีแก้ด้วยสันติ พยายามที่ไม่ให้เกิดละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือละเมิดสิทธิประชาชนในการใช้กฎหมายพิเศษต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น

นอกจากนั้น ก็จะมีกระบวนการเปิดพื้นที่ในทางการเมือง เปิดพื้นที่ในทางวัฒนธรรม ตัวอย่างเช่น ศอ.บต.ก็จะมีการเปิดสถานีวิทยุโทรทัศน์ภาษามาลายูท้องถิ่น สถานีวิทยุชมชนต่างๆ มากขึ้น กระบวนการในภาคประชาชนก็มีบทบาทในการขยายตัวในการกระบวนการสันติภาพ หรือการพูดคุยสันติภาพระหว่างประชาชนกลุ่มต่างๆ ทั้งพี่น้องมุสลิม และพี่น้องชาวพุทธก็จะมีการสร้างกลุ่มต่างๆ มากขึ้น ก็ทำให้มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องกระบวนการส่งเสริมสันติภาพในทางสันติ สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปีผ่านมา สิ่งหนึ่งที่เห็นความสำคัญว่าบทบาทของรัฐบาลของมาเลเซียคณะพูดคุยสันติภาพ หรือคณะอำนวยความสะดวกของมาเลเซีย ก็มีความพยายามที่จะแสดงบทบาทเพิ่มขึ้นโดยการที่จะประสานในการที่จะพูดคุยต่างๆ กับกลุ่มที่ก่อเหตุที่มีแนวคิดอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐ ไม่ใช่แค่กลุ่ม BRN เท่านั้น มีการพูดคุยกับกลุ่มอื่นๆ เช่น พูโล หรือ BIPP ก็ถูกชักชวนให้มาเข้าร่วมในการพูดคุยสันติภาพไม่เป็นทางการ

“ในการพูดคุยเพื่อสันติภาพในครั้งต่อไปที่จะมีขึ้น ก็จะมีกลุ่มมากขึ้นในหลายๆ กลุ่มมา ที่มีบทบาทในการพูดคุยสันติภาพ ก็จะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยสงเสริมขบวนการสันติภาพ ที่ผ่านมามีการพบปะพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ที่เป็นการพุดคุยอย่างไม่เป็นทางการ ในช่วงที่มีการพูดคุยอย่างเป็นทางการยังหยุดชะงักอยู่ในช่วงหลัง แต่การพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการก็ยังดำเนินการอยู่ เพราะฉะนั้นนี่คือ สิ่งที่มันเกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา วันครบรอบ 1 ปีของการลงนามในการที่จะทำข้อตกลงเรื่องพูดคุยสันติภาพ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ก็เห็นความก้าวหน้าความเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญคือ เรื่องของบทบาทของสื่อ การสื่อสารในพื้นที่ การสื่อสารเรื่องของสันติภาพมากขึ้นจริงๆ ได้เห็นองค์กรภาคประชาสังคม หรือสื่อสันติภาพ สื่อหลักทั้งสื่อทางเลือกมีการนำเสนอประเด็นมีการพูดคุยสันติภาพเป็นรายการเป็นกิจกรรมเป็นระดับ สื่อท้องถิ่นก็เห็นได้ชัดว่ามีกิจกรรมเพิ่มขึ้น รายการวิทยุชุมชน หรือว่าสื่อทางเลือกก็นำเสนอข่าวหรือว่าแนวคิด และข้อโต้แย้งเรื่องของประเด็น และขบวนการสันติภาพมากเพิ่มขึ้น” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับความรุนแรงที่เกิดขึ้น ถ้ามองในภาพรวมก็เห็นได้ว่าไม่ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น อย่างที่เหตุการณ์ต่อเนื่องมาตั้งแต่ ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน ลักษณะความคงที่ของเหตุการณ์ความรุนแรงมันไม่มาก และไม่น้อยกว่านี้ โดยเฉพาะช่วงหลังที่ค่อนข้างจะเห็นภาพชัดว่าเหตุการณ์นี้มันไม่เปลี่ยนไปมาก แต่มันไม่ลดลง เช่นในรอบปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนเป้าหมายการก่อเหตุมากขึ้น เห็นภาพชัดขึ้น และการก่อเหตุที่ใช้ระเบิดในที่ชุมชนเมืองก็น้อยลง แม้จะมีเหตุการณ์ที่ประชาชนได้รับสูญเสียได้รับความเสียหายในช่วงเดือนที่ผ่านมา ก็ยังมีประเด็นข้อโต้แย้งอีกมากว่ามันเกิดจากอะไรกันแน่ หรือมันเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ความไม่สงบ หรือมันเป็นเรื่องอื่นประเด็นต่างๆ

ในภาพรวมแล้วกระบวนการสันติภาพในช่วงแรกก็ไม่ได้ทำให้เหตุการณ์ลดลง แต่ก็จะสามารถที่จะรักษาระดับได้ ถ้าหากมีการพูดคุยกันมากขึ้นพูดคุยกันต่อเนื่อง ก็จะตกลงกันให้ชัดเจนว่าจะลดความรุนแรง หรือถ้าจะหยุดยิงจะทำอย่างไร มีรายละเอียดมาก พวกนี้จะมีการหาทางออก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ในช่วงรอมาฎอนที่ผ่านมา มีการทดลองข้อตกลงในการหยุดยิง มีการจัดการ และในช่วงแรก 3 สัปดาห์แรกตามข้อตกลง แต่พอสัปดาห์ที่ 4-5 ก็มีเหตุการณ์ ซึ่งเป็นการทดสอบข้อตกลงขั้นต้น ยังไม่มีกลไกในการที่จะมีการจัดการในเรื่องของในการหยุดยิงกัน ได้ทดลองบางจุดในการหยุดยิงกันและทำได้ ถ้าประเมินแล้วก็มันได้ผลก็ทำในขั้นต่อไปได้ ซึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการเจรจาในการพูดคุยกันว่าจะมีข้อตกลงอะไรกันเกิดขึ้น แต่ตอนนี้มันยังไม่มีข้อตกลง เมื่อยังไม่มี จากข้อเรียกร้องที่ BRN เสนอมา 5 ข้อ ทางฝ่ายของรัฐบาลเองก็ยังไม่ได้ตอบ และมันก็ยังเป็นข้อที่ยังค้างคากันอยู่

“ที่สำคัญก็คือ พูดคุยในเรื่องของการแลกเปลี่ยนเงื่อนไขทั้ง 2 ฝ่ายต้องการให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น ข้อเรียกร้อง 5 ข้อของ BRN ทางรัฐจะทำได้อย่างไรจะสนองตอบอย่างไร หรือ ข้อเรียกร้องของฝ่ายรัฐบาล หรือทางฝ่ายทหารเองจะทำอย่างไรให้เป็นรูปธรรมในพื้นที่ คือต้องหาข้อตกลงกันให้ได้อย่างเป็นรูปธรรมให้มากขึ้น คือ ต่างฝ่ายต่างมีเงื่อนไขมีข้อเรียกร้องในตอนนี้ที่เราเห็นภาพชัดขึ้นในปีที่ผ่านมา BRN ก็มีข้อเสนอ 5 ข้อ มีแนวทางที่ตัวเองต้องการและทางรัฐบาลไทยก็มีความต้องการหยุดยิง หรือยุติความรุนแรงก็มีข้อเสนอ หรือการปล่อยตัวนักโทษการเมือง หรือการปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังในคดีการเมือง หรือเหตุการณ์ความมั่นคงภาคใต้จะตกลงกันได้อย่างไรมันจะมีรูปธรรมที่ชัดขึ้น

ซึ่งหากมีการพูดคุยก็คงจะมีโอกาสที่จะคืบหน้าได้ หลังจากที่การพูดคุยได้หยุดชะงักไป ก็มีการพูดคุยกันในระดับ สมช.หรือว่าทหาร หรือ ศอ.บต. รวมทั้งมีการตั้งกลุ่ม หรือคณะทำงานกันเพื่อที่จะศึกษาข้อเสนอข้อเรียกร้องของ BRN กลุ่มนักวิชาการก็มีการศึกษาในเรื่องนี้ ข้อเสนอ หรือข้อตกลงของ BRN หรือทำให้เกิดพื้นที่เดินทางสันติภาพก็มีการศึกษา ภาคประชาสังคมก็ทำ ตอนนี้ที่สำคัญกลุ่มที่ศึกษาเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายราชการ หรือนักวิชาการหรือฝ่ายภาคประชาสังคม น่าจะมีจุดร่วม หรือว่ามีกลไกลในการประสานงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดการเตรียมตัวการปรับตัว ถ้าจะมีการพูดคุยสันติภาพต่อไปหรือว่าไม่ไปมือเปล่าในการเจรจา ทางฝ่ายรัฐไปมือเปล่า หรือว่าไปเริ่มกันใหม่นับศูนย์ และก็มีความพร้อม และกลไกอะไรบางอย่างที่จะทำให้เกิดการประสารงาน ความรู้ ประสบการณ์ เตรียมคนที่จะไปสู่การพูดคุยสันติภาพในครั้งต่อไปกลไกจะต้องมีการเตรียม” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น