xs
xsm
sm
md
lg

มาเลเซียชี้ 1 ปีเจรจาสันติภาพชายแดนใต้ไม่เหลว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ประเทศมาเลเซียร่วมเวทีเสวนา “ความขัดแย้ง ความรุนแรง และกระบวนการสันติภาพปาตานี” ที่เชียงใหม่ ย้ำ 1 ปีการเจรจาสันติภาพชายแดนใต้ยังไม่ล้มเหลว ชี้ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้น การประสานงานยังมีต่อเนื่อง

วันนี้ (26 ก.พ.) ที่สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายดาโต๊ะ เสรี อาหมัด ซัมซามิน ฮาซิม ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ประเทศมาเลเซีย ร่วมเวทีเสวนาวิชาการ เรื่อง “ความขัดแย้ง ความรุนแรง และกระบวนการสันติภาพปาตานี” ซึ่งศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (RCSD) ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ และศูนย์อาเซียนศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสถาบันวิจัยความขัดแย้ง และความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกันจัดขึ้น

โดยในการเสวนาครั้งนี้มีการอภิปรายหัวข้อ “10 ปีความรุนแรง กับ 1 ปีกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้” ซึ่งมีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ร่วมการอภิปราย เช่น รศ.ดร.มาร์ค ตามไท ผู้เชี่ยวชาญด้านสันติภาพ ผศ.ดร.สุขาติ เศรษฐมาลินี มหาวิทยาลัยพายัพ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มี รศ.ดร.วัฒนา สุกัณศีล จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ทั้งนี้ นายดาโต๊ะ เสรี อาหมัด ซัมซามิน ฮาซิม ระบุว่า รัฐบาลมาเลเซียยินดีเป็นตัวกลางในการเจรจาสันติภาพในฐานะเป็นประเทศเพื่อนบ้านกับประเทศไทย เพราะเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดภาคใต้ของไทยนั้นทางมาเลเซียก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ ความมั่นคง ชุมชน และสิทธิมนุษยชน รวมทั้งความสัมพันธ์ในระดับทวิภาคีกับประเทศไทย

สำหรับกระบวนการสันติภาพในช่วง 1 ปีที่ผ่านมามองว่ายังไม่ล้มเหลว เพราะเพิ่งเริ่มต้นพูดคุยยังไม่ได้มีการเจรจากันอย่างเป็นทางการ และปัญหาก็มีความซับซ้อน โดยความสำเร็จที่สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา คือคู่กรณีทั้งสองฝ่ายระหว่างรัฐบาลไทย กับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้มีการพูดคุยกันอย่างเปิดเผย ขณะเดียวกัน ในกระบวนการพูดคุยเรื่องสันติภาพก็มีกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมหลายกลุ่ม ไม่เฉพาะแต่บีอาร์เอ็นเท่านั้นและเชื่อว่าจะมีกลุ่มต่างๆ เข้ามาอีก แม้ที่ผ่านมาการพูดคุยสันติภาพจะชะงักงันไปบ้าง แต่ก็ยังมีการประสานงานกันอย่างต่อเนื่อง

กำลังโหลดความคิดเห็น