xs
xsm
sm
md
lg

รัฐ “ปู” กอดสต๊อกยาง 2.2 แสนตันแน่น ส่งผลวิกฤตชาวสวนราคาดิ่งสุดในรอบ 4 ปี (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางพารา 2.2 แสนตัน ที่รัฐบาลเก็บไว้ไม่ยอมปล่อย ส่งผลสะเทือนถึงชาวสวนทำราคายางดิ่งสุดในรอบ 4 ปี ขณะที่ค่าครองชีพสูงขึ้น ประกอบกับช่วงหน้าแล้งซ้ำเติมฤดูยางผลัดใบขาดรายได้ หากจะหันไปพึ่งเงินชดเชยต้นทุนการผลิต 2,520 บาท/ไร่ ที่รัฐโปรยยาหอม ก็สิ้นหวัง จนถึงวันนี้ชาวสวนส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับเงิน

สถานการณ์ราคายางพาราในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งได้ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 4 ปี และมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเพียงแค่ในกรอบแคบๆ ขณะเดียวกัน เริ่มย่างเข้าสู่หน้าแล้งซึ่งเป็นช่วงฤดูยางพาราผลัดใบ นั่นหมายถึงเกษตรชาวสวนยางต้องหยุดงานขาดรายได้เป็นเวลาร่วม 2 เดือน และต้องเตรียมตัวเผชิญกับการดำรงชีพในภาวะเศรษฐกิจยุคข้าวยากหมากแพง ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ส่งผลให้หลายๆ อาชีพต้องประสบกับการใช้จ่ายอย่างฝืดเคือง เช่นเดียวกับเกษตรกรที่ต้องมาแบกรับภาระค่าครองชีพสูง ข้าวของเครื่องใช้ราคาแพงขึ้น ในขณะที่ราคายางพาราดิ่งต่ำลง

 
เกษตรกรชาวสวนยางรายหนึ่งในพื้นที่ อ.สะเดา จ.สงขลา กล่าวว่า ตนทำสวนยางมา 20 กว่าปีแล้ว ตั้งแต่ยางกิโลกรัมละ 13-14 บาท จนราคาปรับขึ้นมาเรื่อยๆ ถึง กิโลกรัมละ 100 จนถึงเกือบ 200 บาท ขณะนั้นถ้าเราซื้อกับข้าวในแต่ละวัน ข้าวสาร ณ ตอนนั้น กิโลละ 20 บาท ปลาอย่างดีที่สุดที่แพงที่สุดตอนนั้นก็ตัวละประมาณไม่เกิน 100 บาท อย่างเช่นปลาเก๋า ปลาทะเล เป็นต้น แต่ปัจจุบันปลาราคากิโลกรัมละ 280 (ปลาเก๋า) แต่ยางขึ้นมานิดนึงราคากิโลกรัม 60 บาท ก่อนหน้านี้กิโลกรัมละ 50 กว่าบาท ณ วันนี้กิโลละ 60 บาท ยาง 4 กิโล ถึงจะได้ปลา 1 กิโล ชาวสวนจึงต้องอยู่อย่างกระเบียดกระเสียร อย่างลูกจ้างที่มารับจ้างกรีดยางเมื่อก่อนจับจ่ายซื้อกับข้าว ซื้อเนื้อหมู เนื้อวัว แต่ปัจจุบันได้ซื้อเพียงแค่ปลาเค็ม

นายธนพล ทองหวาน คณะกรรมการเครือข่ายชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันค่าครองชีพค่อนข้างสูง ขณะที่ราคายางตก ช่วงนี้เกษตรกรชาวสวนยางจึงต้องตกอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ เพราะว่าราคาสินค้าอื่นๆ ทั้งด้านอุปโภคบริโภคราคาแพงขึ้น และไม่มีการลดลงเลยตามราคายางตกลงมาต่อเนื่อง เกษตรกรรู้สึกว่าย่ำแย่มาก

 
ด้าน นายสมจิตต์ ศิขรินมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา กล่าวว่า สถานการณ์ราคายางตลอดปี 2557 ยังคงมีความผันผวน และเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบจำกัด ซึ่งประกอบไปด้วยหลายปัจจัย แต่ปัจจัยสำคัญคือ สต๊อกยางของโครงการภาครัฐที่มีการซื้อยางเก็บไว้ ซึ่งมีอยู่กว่า 2.2 แสนตัน นับเป็นจุดอ่อนตัวหนึ่งที่ทำให้ผู้ใช้รู้ว่าเรามีสต๊อกอยู่ในมือแล้วพร้อมที่จะระบายออก

มันเป็นเหตุผล หรือปัจจัยหลักตัวหนึ่งที่ทำให้ราคายางไม่กระเตื้องขึ้นมากนัก เพราะฉะนั้นภาครัฐ หรือภาคเอกชน รวมทั้งในส่วนของภาคเกษตรกรด้วยก็ต้องหันมาหารือร่วมกัน และคงจะต้องมาพิจารณาในเรื่องของมาตรการที่จะผลักดันตรงนี้ และสิ่งที่สำคัญที่สุดอยากให้พิจารณาในส่วนของสต๊อกที่เก็บไว้ 2.2 แสนตันตรงนี้ด้วย เพราะคิดว่ายังไงมันก็ยังคงเป็นปัจจัยลบอยู่จะเก็บเอาไว้นานไม่ได้ อย่างไรก็ต้องปล่อยออก

 
ทั้งนี้ ทางตัวแทนเครือข่ายชาวสวนยางยังบอกอีกว่า เครือข่ายกำลังมีการประชุมเพื่อหารือแนวทางในการช่วยเหลือ แต่ขณะนี้รัฐบาลเป็นเพียงรัฐบาลรักษาการก็ยังไม่เห็นทางว่าจะสามารถช่วยเหลือชาวสวนยางได้อย่างไร เพราะฉะนั้น เกษตรกรชาวสวนยางอาจจะต้องออกมาแสดงตัวเรียกร้องร่วมกับกลุ่ม กปปส. เพื่อให้มีการปฏิรูป และต้องมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่

นอกจากเกษตรกรต้องประสบกับปัญหาราคายางตกต่ำแล้ว ในส่วนของโครงการที่รัฐบาลจะช่วยเหลือเรื่องค่าชดเชยต้นทุนการผลิต 2,520 บาทต่อไร่นั้น ตอนนี้เกษตรกรอีกกว่าครึ่งยังไม่ได้รับเงินในส่วนนี้ ซึ่งโครงการจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มี.ค.ที่จะถึงนี้ ชาวสวนยางกำลังจะตกชะตากรรมเดียวกับชาวนา ที่มีเพียงใบประทวนมานอนกอดไว้เท่านั้น
 
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น