xs
xsm
sm
md
lg

“เกษตรสงขลา” ระดม จนท.เรียนรู้เทคโนโลยีปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตข้าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สนง.เกษตรสงขลาระดม จนท.ส่งเสริม 4 อ.คาบสมุทรสะทิงพระ เสริมความรู้การใช้ปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตข้าว หนุนพื้นที่แหล่งอาหารสำคัญของจังหวัด

วานนี้ (19 ก.พ. ) ที่โรงแรมวีว่า อ.เมือง จ.สงขลา นายพีระพันธ์ แสงใส เกษตรจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดการอบรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้แก่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรระดับอำเภอ ระหว่างวันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2557 เพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว และสนับสนุนให้พื้นที่คาบสมุทรสทิงพระเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของจังหวัดสงขลา เนื่องจากข้าวจัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีพื้นที่ปลูกมากเป็นอันดับ 2 รองจากยางพารา โดยมีเกษตรอำเภอ และเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรอำเภอที่ตั้งอยู่ในคาบสมุทรสทิงพระ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.ระโนด อ. สทิงพระ อ.สิงหนคร และ อ.กระแสสินธุ์ เข้าร่วมอบรมรวม 30 คน

นายพีระพันธ์ แสงใส เกษตรจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ปีการเพาะปลูกข้าวปี 2554/55 จ.สงขลา มีครัวเรือนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำนวน 24,010 ครัวเรือน มีพื้นที่ปลูกรวม 233,882 ไร่ ผลผลิตรวม 182,866 ตัน/ปี ผลผลิตเฉลี่ยของจังหวัด 545 กิโลกรัม/ไร่ มูลค่าการผลิต 2,500 ล้านบาท พื้นที่ปลูกข้าวในคาบสมุทรสทิงพระ มีพื้นที่รวมกันกว่า 200,000 ไร่ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 70 ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งจังหวัด เกษตรกรส่วนใหญ่ในคาบสมุทรสทิงพระมีอาชีพทำนาเป็นหลัก และมีการเลี้ยงปศุสัตว์ในครัวเรือน เช่น กระบือ แพะ แกะ เพื่อเป็นรายได้เสริม พื้นที่ส่วนใหญ่จะทำนาได้เพียงปีละ 1 ครั้ง (นาปี) เนื่องจากประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ ยกเว้น อ.ระโนด ที่มีระบบชลประทานเต็มพื้นที่ จึงสามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง ทั้งนาปี และนาปรัง ปัญหาที่เกษตรกรได้รับอยู่ในขณะนี้คือ ปัญหาต้นทุนการผลิตสูง โดยเฉพาะค่าปุ๋ยเคมี เนื่องจากเกษตรกรยังใส่ปุ๋ยไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ มีการใช้เมล็ดพันธุ์ในอัตราที่สูง เกิดปัญหาโรค และแมลงระบาดได้ง่าย เนื่องจากข้าวมีความหนาแน่นมากเกินไป ทำให้ต้นทุนในการทำนาแต่ละครั้งสูงกว่ารายได้ที่ขายผลผลิตข้าว

จากปัญหาดังกล่าว สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา จึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระเพิ่มผลผลิตข้าวให้สูงขึ้น ควบคู่ไปกับการลดต้นทุนการผลิตข้าวให้ต่ำลง มีการทำนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ในรูปแบบโครงการ 1 ไร่ 1 แสน โดยลดต้นทุนในเรื่องของการใช้ปุ๋ยเคมี โดยให้เกษตรกรใส่ปุ๋ยเคมีตามศักยภาพของชุดดิน และค่าวิเคราะห์ดิน เกษตรกรจะต้องเก็บดินให้เจ้าหน้าที่พัฒนาที่ดินวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน เพื่อผสมปุ๋ยจากแม่ปุ๋ยไว้ใช้เอง (ปุ๋ยสั่งตัด) ส่งเสริมให้ใช้ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยอินทรีย์ ปรับปรุงบำรุงดิน สนับสนุนให้เกษตรกรใช้วิธีการทำนาแบบโยนกล้าแทนการหว่าน เพื่อลดอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ และลดปัญหาการระบาดของโรคเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล




 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น