xs
xsm
sm
md
lg

จัดยิ่งใหญ่ “มาฆบูชา แห่ผ้าขึ้นธาตุนานาชาติ เมืองนครฯ” เตรียมขึ้นมรดกโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครศรีธรรมราช - ผู้ว่าฯ นครฯ และหน่วยงานต่างๆ ร่วมแถลงงาน “มาฆบูชา แห่ผ้าขึ้นธาตุนานาชาติ ที่เมืองนครฯ” ที่จัดยิ่งใหญ่ ในปีนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทรงพระราชทานผ้าพระบฏ ถวายเป็นพุทธบูชา พร้อมเชิญทูตานุทูตร่วมพิธีแห่ผ้าพระบฏ เพื่อสนับสนุนการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

วันนี้ (10 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ผศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช นายจุมพต ตระกูลนุช วัฒนธรรมจังหวัด นางนภสร ค้าขาย ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครศรีธรรมราช และพระครูโสภณเจติญานุรักษ์ รองเจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ร่วมแถลงถึงประเพณีมาฆบูชา แห่ผ้าขึ้นธาตุนานาชาตินครศรีธรรมราช

นายอภินันท์ กล่าวว่า การจัดงาน “มาฆบูชา แห่ผ้าขึ้นธาตุนานาชาติ ที่เมืองนครฯ” ในปีนี้ถือว่ายิ่งใหญ่กว่าทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจาก จ.นครศรีธรรมราช ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานผ้าพระบฏแก่ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อนำขึ้นห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา จำนวน 5 ผืน คือ ผ้าพระบฏพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

โดยจะมีการจัดพิธีสมโภชผ้าพระบฏพระราชทาน ผ้าพระบฏขององค์กรหน่วยงานใน อ.ปากพนัง ที่โรงเรียนปากพนัง อ.ปากพนัง เวลา 19.00 น. ในวันที่ 12 ก.พ. ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการพบผ้าพระบฏ จากนั้นเวลา 13.00 น. วันที่ 13 ก.พ. จัดริ้วขบวนแห่ผ้าพระบฏพระราชทาน จาก อ.ปากพนัง ไปประดิษฐานที่มณฑลพิธีสวนสาธารณะศรีธรรมาโศกราช เพื่อประกอบพิธีสมโภชอย่างเป็นทางการ ในเวลา 17.00 น. พร้อมจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย 4 ภาค และการแสดงศิลปวัฒนธรรมนานาชาติ

จากนั้นในวันที่ 14 ก.พ. ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 “วันมาฆบูชา” เวลา 16.00 น.จัดริ้วขบวนแห่ผ้าพระบฏพระราชทาน พร้อมขบวนเกียรติยศ และริ้วขบวนผ้าพระบฏของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน จากหน้าศาลาประดู่หก ถนนราชดำเนิน เขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ไปยังวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร โดยมีคณะสงฆ์ไทย พระสงฆ์จากประเทศต่างๆ รวม 9 ประเทศ ข้าราชการ นักเรียน ศึกษา พ่อค้า ประชาชนร่วมในพิธี และเมื่อริ้วขบวนถึงลานโพธิ์หน้าพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช มีการแสดงรำบูชาพระบรมธาตุเจดีย์ ประกอบพิธีทางศาสนา กล่าวถวายผ้าพระบฏ แล้วอัญเชิญผ้าพระบฏพระราชทานขึ้นห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ จากนั้นผู้เข้าร่วมพิธีร่วมกันประกอบพิธีเวียนเทียนเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาต่อไป

นายอภินันท์ กล่าวต่อว่า สำหรับกิจกรรมต่างๆ ที่จัดในงานนั้นก็จะมีดังนี้ การสาธิตวิธีการผลิต การทอ และการแสดงผ้าพระบฏ 4 ภาค การจัดแสดงนิทรรศการ เรื่อง “ต้นธารสยาม-ลังกาวงศ์” ตลาดนัดโบราณ ขนมพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง กวนข้าวมธุปายาส (ยาคู) แจกข้าวมธุปายาส (ยาคู) การแสดงศิลปวัฒนธรรมของนักเรียน นักศึกษา พิธีสวดด้านการปฏิบัติธรรมถวายเป็นพุทธบูชา พิธีทำบุญตักบาตร การสัมมนาทางวิชาการระดับนานาชาติ เรื่อง “พระธาตุเจดีย์สู่มรดกโลก” และพิธีเวียนเทียน เป็นต้น จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ โดยพร้อมเพรียงกัน และขอให้ลด ละ เลิก อบายมุขทุกชนิดแต่ให้ร่วมทำบุญใส่บาตรไปวัด เพื่อปฏิบัติธรรมและฟังพระธรรมเทศนา และไปเวียนเทียนที่วัดใกล้บ้านทุกแห่ง

ทางด้าน ผศ.ฉัตร กล่าวว่า ผ้าพระบฏพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถือเป็นผ้าพระบฏผืนสำคัญสูงสุด ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเมื่อเดือนกันยายน 2556 เป็นผ้าพระบฏ ที่มีความยาว 39 เมตร กว้าง 1.20 เมตร เขียนเป็นภาพจิตรกรรมไทย แบ่งเป็น 30 ช่อง ช่องแรกเป็นพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. ช่องที่ 2 เป็นภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ ช่องที่ 3 ถึงช่องที่ 24 เป็นภาพทศชาติ ช่องที่ 25-29 เป็นภาพพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติถึงปรินิพพาน ส่วนช่องสุดท้ายเป็นสัญลักษณ์ หรือโลโก้หน่วยงานที่ผลิตผ้าพระบฏผืนนี้ ซึ่งจิตรกรที่เป็นผู้รังสรรค์ภาพในผ้าผืนนี้เป็นคณาจารย์ และนักศึกษาของวิทยาลัยช่างศิลปนครศรีธรรมราช จำนวน 30 คน ใช้เวลาในการวาดทั้งสิ้น 150 วัน

ส่วนผ้าพระบฏพระราชทานอีก 4 ผืน ก็มีลักษณะการผลิตเช่นเดียวกัน มีตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ ภาพทศชาติ ภาพพุทธประวัติ และสัญลักษณ์ของหน่วยงานผู้ผลิตผ้าพระบฏ สำหรับ “ผ้าพระบฎ” หมายถึง ผ้าที่มีภาพวาด หรือถักทอเป็นรูปพระพุทธเจ้า พระพุทธรูป หรือพุทธประวัติ ที่พุทธศาสนิกชนจัดทำขึ้นเพื่อใช้บูชาแทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในปูชนียสถานหรือเจดียสถานมาตั้งแต่โบราณกาล มีการจัดทำกันโดยทั่วไปทั้งในประเทศศรีลังกา เนปาล ทิเบต จีน เกาหลี ญี่ปุ่น รวมทั้งทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศพม่า และประเทศไทย

ผ้าพระบฏ ใน จ.นครศรีธรรมราช ปรากฏเป็นหลักฐานชัดเจนเมื่อราว 780 ปี ที่ผ่านมา เมื่อครั้งที่พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ซึ่งเป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรนครศรีธรรมราช โปรดให้นำผ้าพระบฏที่ชาวเมืองอินทปัตย์ ซึ่งประสบภัยทางทะเลจนเรือแตกรอดมาขึ้นฝั่งที่อ่าวนคร และพบผ้าพระบฏของชาวเรือที่อับปางครั้งนั้นผืนหนึ่ง จึงโปรดให้นำผ้าดังกล่าวขึ้นห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์เมื่อปี พ.ศ. 1773 นับเป็นการแห่ผ้าพระบฏขึ้นห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์จึงกลายเป็นประเพณีสำคัญของเมืองนครศรีธรรมราชมาจนถึงปัจจุบัน ผ้าพระบฏ จึงกลายเป็นหัวใจของประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุที่ รู้จักกันอย่างกว้างขวางทั่วประเทศในเวลานี้

ผศ.ฉัตรชัย กล่าวเพิ่มอีกว่า ในการจัดงานในปีนี้ ทาง ม.ราชภัฏนครศรีธรรมราช ได้จัดสัมมนาทางวิชาการระดับนานาชาติเรื่อง “พระธาตุเจดีย์สู่มรดกโลก” เพื่อรวบรวมข้อมูล หลักฐาน ที่ได้รับจากนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ มาประกอบในการจัดทำเอกสารทางวิชาการฉบับสมบูรณ์เพื่อประกอบการนำเสนอพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกต่อไป นอกจากนี้ ยังได้เชิญคณะทูตานุทูตประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ และพำนักอยู่ในกรุงเทพฯ เข้าร่วมงานมาฆบูชาในครั้งนี้ด้วย เพื่อเป็นการยืนยันว่า หากพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการมรดกโลก องค์การยูเนสโก ให้เป็นมรดกโลกจะเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่มีชีวิตเนื่องจากมีการกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องเป็นประจำ

สำหรับความคืบหน้าในการจัดทำเอกสารทางวิชาการฉบับสมบูรณ์ภาษาไทย ตามหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนมรดกโลกขององค์การยูเนสโกนั้น ต้องรวบรวม และเรียบเรียงเอกสารให้เสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 จากนั้นให้ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาการเป็นมรดกโลกอย่างสมบูรณ์ ใน ปี 2558 ต่อไป เนื่องในสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา วันมาฆบูชาของทุกปี จ.นครศรีธรรมราช ร่วมกับคณะสงฆ์ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคม ชมรม มูลนิธิต่างๆ ร่วมจัดงาน “มาฆบูชา แห่ผ้าขึ้นธาตุนานนาชาติ” ซึ่งปีนี้กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 10-14 กุมภาพันธ์ 2557 ที่สวนสาธารณะศรีธรรมาโศกราช และวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เพื่ออนุรักษ์ไว้ซึ่งประเพณีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวของประเทศไทย ที่ปฏิบัติสืบทอดต่อเนื่องกันมายาวนานเกือบ 800 ปี อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของ จ.นครศรีธรรมราช และสนับสนุนการผลักดันวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร (พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช) เป็นมรดกโลก




   

กำลังโหลดความคิดเห็น