กกต.ถูลู่ถูกังเลือกตั้ง 2 ก.พ.ช่วยรัฐบาล ที่ประชุมเผยใช้วิธีเจรจาเอาบัตรออกมาให้ได้ ส่อกลิ่นหึ่งไฟเขียวยกเว้นระเบียบ กกต.ไม่ต้องประทับตราสัญลักษณ์ลงในบัตรเลือกตั้งในภาคใต้ จัดเลือกตั้งใหม่ 23 ก.พ.ทดแทนเลือกตั้งล่วงหน้า แล้วเอาคะแนนมายำ เมินพิจารณา ธ.ก.ส.ขออนุมัติใช้หนี้จำนำข้าว 5.5 หมื่นล้าน ย้ำไม่มีอำนาจ เปิดช่อง “อียู” ส่องเลือกตั้งไทย เตรียมเจรา “พุทธะอิสระ” ขอเปิดใช้สำนักงาน
วันนี้ (29 ม.ค.) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงปัญหาบัตรเลือกตั้งในภาคใต้ที่มีผู้ชุมนุมไปปิดล้อมที่ทำการไปรษณีย์ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจานำบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ชนิด คือ บัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ออกมา โดยจังหวัดนำออกมาได้คือ จ.ปัตตานี จ.ยะลา จ.นราธิวาส ส่วน จ.สงขลา และ จ.สตูล ไม่แน่ใจว่าจะนำบัตรเลือกตั้งออกมาได้หรือไม่ ตอนนี้กำลังประสานงานกับคนในพื้นที่เพื่อนำบัตรออกมาให้ได้
นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติให้ยกเว้นการใช้ระเบียบ กกต.ที่กำหนดให้ต้องมีการประทับตราสัญลักษณ์ของ กกต.ในบัตรเลือกตั้งที่จะใช้ในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากขณะนี้ยังไม่สามารถนำบัตรเลือกตั้ง ทั้งระบบบัญชีรายชื่อ และระบบแบ่งเขตออกมาจากที่ทำการไปรษณีย์และสถานที่จัดเก็บที่กลุ่มมวลชนไปปิดล้อม ซึ่งการงดเว้นการประทับตาจะทำให้ กกต.สามารถที่จะนำบัตรไปส่งให้กับหน่วยเลือกตั้งอย่างช้าที่สุดได้คือภายในวันที่ 1 ก.พ.หรือก่อนวันเลือกตั้ง 1 วัน
นายสมชัย กล่าวด้วยว่า กกต.จะมีการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้งและนอกเขตจังหวัดในวันอาทิตย์ที่ 23 ก.พ.ทดแทนการเลือกตั้งหน้าในวันที่ 26 ม.ค.ที่มีปัญหาผู้สิทธิเลือกตั้งไม่สามารถไปลงคะแนนในวันดังกล่าวได้ เมื่อถามว่าจะแนะนำคนที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิในวันที่ 2 ก.พ.ได้อย่างไร นายสมชัย กล่าวว่า ถ้าหน่วยเลือกตั้งยังเปิดอยู่ก็สามารถไปใช้สิทธิได้ แต่ถ้าหน่วยเลือกตั้งไม่เปิดก็จะมีการกำหนดวันให้มีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งในหน่วยเลือกตั้งที่มีปัญหา
ด้าน นายสุเทพ พรหมวาศ รองเลขาธิการ กกต.กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุม กกต.ได้มีการพิจารณาคำขอหารือของส่วนราชการต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181 โดยในกรณีที่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหรกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.หารือว่า คณะกรรมการ ธ.ก.ส.มีมติอนุมัติให้ใช้เงินทุนสำรองจ่าย วงเงินไม่เกิน 5.5 หมื่นล้านบาท ในการดำเนินการโครงรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/2557 จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ กกต.เห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นนิติสัมพันธ์ระหว่าง ธ.ก.ส.กับกระทรวงการคลัง และเกษตรกร รวมทั้งไม่ต้องด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 181(1) (2) (4) กกต.จึงไม่มีอำนาจพิจารณาในประเด็นนี้
ส่วนที่สำนักงบประมาณขอให้ กกต.พิจารณาการใช้งบกลาง เพื่อชดใช้เงินไปยังจังหวัดต่างๆ จากการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดได้สั่งจ่ายเงินทดรองจ่ายเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินรวม 291 ล้านบาทไปแล้ว กกต.เห็นว่าสามารถดำเนินการได้ โดยเป็นการใช้งบสำรองจ่ายฉุกเฉินโดยเป็นอำนาจหน้าที่ที่คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการ และ กกต.มีอำนาจพิจารณาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181(2)
นอกจากนี้ ยังมีผู้ขอหารือว่า ผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจะสามารถร่วมฟังปราศรัยหาเสียงและฟังนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ จะในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งนี้ได้หรือไม่ ซึ่ง กกต.มีมติตามแนววินิจฉัยเดิมว่า ผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามไม่ให้ฟังการปราศรัยหาเสียง และฟังนโยบายของพรรคการเมือง แต่อย่างไรก็ตามจะต้องไม่มีการกระทำในลักษณะจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนน หรืองดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองใดตามมาตรา 53 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.พ.ศ. 2550
นายสุเทพ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สหภาพยุโรป (อียู) จะส่งผู้เชี่ยวชาญมาประเมินกระบวนการการเลือกตั้ง ส.ส.ในวันที่ 2 ก.พ.ซึ่งจะมีหลายองค์กรด้วยกัน ทาง กกต.ไม่ขัดข้อง โดยได้มอบให้ ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ประสานงาน และคงจะมีการนัดพูดคุยกันต่อไป
นายสุเทพ กล่าวอีกว่า จากการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมานั้น ทางสำนักงาน กกต.ได้มีการไปรับบัตรเลือกตั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัดเรียบร้อยแล้วกว่า 1 แสนใบ และได้นำส่งไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อไปเก็บไว้ที่เขตรอมารวมนับกับการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัดที่ กกต.กำหนดทดแทนในวันที่ 23 ก.พ.ส่วนบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรชุดแรกที่ได้ส่งมาแล้วจำนวน 8,611 บัตร จาก 33 ประเทศ ก็ได้จัดส่งให้จังหวัดเรียบร้อยแล้ว มีอีกกว่า 1 หมื่นใบ ที่มาจากกว่า 50 ประเทศ จะรีบดำเนินการจัดส่งต่อไป
ทั้งนี้ หลังการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.แล้ว แม้จะมีการนับคะแนนในแต่ละหน่วยแล้ว ก็จะยังไม่ประกาศผู้ที่ได้รับเลือกตั้งในเขตนั้นๆ เพราะจะต้องเก็บคะแนนไว้รอรวมกับคะแนนที่จะได้จากการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกและในเขตจังหวัดในวันที่ 23 ก.พ.ที่ กกต.กำหนดขึ้นทดแทนการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 26 ม.ค.เสียก่อน หากทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย หลังลงคะแนนล่วงหน้าในวันที่ 23 ก.พ.แล้ว ประชาชนน่าจะทราบว่าใครเป็นว่าที่ ส.ส.รับของเขตตนเอง และน่าจะสามารถรวมคะแนนที่เลือกพรรคเพื่อคำนวณจำนวน ส.ส.ในระบบบัญชีที่แต่ละพรรคจะได้ด้วย ในส่วนของ 28 เขตเลือกตั้งใน 8 จังหวัดภาคใต้ที่ขณะนี้ยังไม่มีผู้สมัครนั้น กกต.เห็นว่าหลังการเลืออกตั้ง 2 ก.พ.จะต้องมีการเสนอออกพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตใน 28 เขต ซึ่งถ้า พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ส.ส.28 เขต สามารถดำเนินการได้ทัน ก็อาจจะมีการเลือกตั้ง ส.ส.28 เขต ในวันที่ 23 ก.พ.เช่นกัน
นอกจากนี้ นายสุเทพ ยังกล่าวด้วยว่า ในวันที่ 30 ม.ค.เวลา 09.00 น.นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต.และ ผอ.สำนักรณรงค์และเผยแพร่ จะไปเสวนาธรรมกับหลวงปู่พุทธะอิสระ เพื่อขอใช้พื้นที่ สำนักงาน กกต.ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ เพราะหากผู้ชุมนุมเปิดทางให้ กกต.การดำเนินงานจะราบรื่นกว่านี้ สามารถทำงานได้ปกติมากกว่านี้
“ถามว่าอยากจะเข้าไปสำนักงาน กกต.ในวันที่ 30 ม.ค.หรือไม่ ถ้าได้รับอนุญาตก็อยากเข้าไป เพราะจะเป็นผลดีในการทำงาน แต่ถ้ายังคุยกันไม่ได้พื้นที่ ก็ยังมีพื้นที่อื่นที่ต้องใช้เพื่อจัดการเลือกตั้งให้เดินหน้าต่อไป อย่างไรก็ตาม การเจรจาขอคืนพื้นที่ในครั้งนี้ กกต.ทั้ง 5 ท่านก็เห็นด้วย และเท่าที่ฟังข่าวหลวงปู่พุทธะอิสระก็เมตตาอยู่แล้วที่จะเอื้อเฟื้อให้เราทำงาน” นายสุเทพ กล่าว