วงกรรมการสิทธิฯ ถกปัญหาเลือกตั้ง กกต.ชี้ 56 เขตภาคใต้ และ 39 เขต กทม.เสี่ยงเลือกตั้งไม่ได้ กระทบการจัดตั้งรัฐบาล ขณะเดียวกัน วงสัมมนาห่วงประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะเปิดโอกาส จนท.อ้างเพื่อจับกุมผู้ชุมนุม
วันนี้ (22 ม.ค.) นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง จัดประชุมในประเด็นปัญหาและอุปสรรคในกระบวนการจัดการเลือกตั้ง โดยได้มีการเชิญผู้แทนของตำรวจ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และนักวิชาการเข้าร่วม โดยในส่วนของ กกต.มอบหมายให้ นายเมธา ศิลาพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานเลือกตั้งเป็นผู้แทน
นายเมธา ชี้แจงว่า การเลือกตั้งทั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบ่งเขตเลือกตั้งในภาคเหนือ อีสาน สถานการณ์ปกติ แต่ภาคใต้ กรุงเทพมหานคร มีปัญหา โดยภาคใต้ 56 เขต มีปัญหาครบทุกเรื่อง เช่น บุคลากร คือ คณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัด คณะกรรมการประจำเขต คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ผู้อำนวยการประจำหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งมีการถอนตัว ขณะนี้กำลังพยายามหาบุคคลมาประจำแทน ในส่วนของ กทม.39 เขตไม่สามารถดำเนินการจัดการอบรมได้แล้วเสร็จ เนื่องจากถูกปิดล้อมและไม่ให้จัดการอบรมต่อ
นายเมธา ยังกล่าวว่าในส่วนของบัตรเลือกตั้ง ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง การจัดส่งบัตรเลือกตั้งเรียบร้อยดี ได้จัดเก็บรักษาในที่ปลอดภัยแล้ว แต่สำหรับภาคใต้ไม่สามารถนำออกมาจากที่จัดเก็บเพื่อประทับตราได้ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญหลักๆ ของการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้
“นโยบายของ กกต.คือพยายามจัดให้มีการเลือกตั้งเต็มที่ แต่หากดำเนินการไปแล้วมีความขัดแย้งกระทบกระทั่งกันก็จะไม่ดำเนินการต่อ” นายเมธา กล่าว
เมื่อถามถึงสถานการณ์ที่ไม่สามารถนำไปสู่การลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า หรือการเลือกตั้งทั่วไปได้ จะทำอย่างไรต่อไป หรือถ้ามีการจัดการเลือกตั้งสำเร็จ จะนำไปสู่ปัญหาการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ นายเมธา ชี้แจงว่า ถ้าเกิดปัญหาว่าแต่ละเขตไม่สามารถรวมคะแนนได้ จะเกิดปัญหาว่าไม่สามารถคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพื่อจัดสรรจำนวนให้แต่ละพรรคได้ เหมือนกับระบบเขต คือถ้าไม่สามารถรวมคะแนนได้ก็จะไม่สามารถประกาศชื่อผู้สมัครที่ได้เป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ส่วนที่ดำเนินการไม่ได้ก็ต้องให้ผ่านวันที่ 2 กุมภาพันธ์ไปก่อน แล้วใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายให้มีการจัดเลือกตั้งซ่อม สำหรับการเลื่อนการเลือกตั้งหรือเปิดรับสมัครใหม่นั้น ขณะนี้ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีช่องทางด้านกฎหมาย ดังนั้นตอนนี้แนวโน้มคือต้องใช้วิธีการจัดเลือกตั้งซ่อม
“ถ้าเกิดเลือกตั้งได้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ จะได้ ส.ส.ประมาณครึ่งๆ ถ้าใช้ช่องทางตามมาตรา 78 จะสามารถขยายเวลาประกาศออกไปได้อีกเป็นเดือนหรือกว่านั้น โดยอ้างเหตุจลาจลและให้สงบลงก่อน จึงประกาศรับรอง ส.ส.โดยเฉพาะบัญชีรายชื่อ คาดว่าในวันที่ 2 ก.พ.จะยังไม่สามารถได้ ส.ส.ร้อยละ 95 เพื่อเปิดประชุมสภา และจัดตั้งรัฐบาลได้” นายเมธากล่าว
ส่วนการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ของรัฐบาล จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องขอความเห็นชอบของ กกต.ก่อน นายเมธา ชี้แจงว่า การที่ต้องขอความเห็นชอบจาก กกต.นั้น จะเกี่ยวข้องกับการใช้งบกลางสำรองจ่ายฉุกเฉิน หรือการแต่งตั้งตำแหน่งที่มีการโปรดเกล้าฯ ระดับสูง ถ้าส่วนล่างก็ไม่เกี่ยว ดังนั้นการประการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงไม่เกี่ยวข้องกับ กกต.ทั้งนี้ นัยของมาตรา 181 ของรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ให้อำนาจ กกต.ไปเกี่ยวข้องกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ที่ประชุมได้มีการสอบถามและตั้งข้อสังเกตกรณีที่รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งนายเมธา ชี้แจงว่า ในเรื่องการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่อยู่ในเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ที่จะต้องขอความเห็นจาก กกต.เพราะในมาตราดังกล่าวเป็นการป้องกันเรื่องการบริหาร ที่จะทำให้ไม่เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้ง
ที่ประชุมได้ฝากผู้แทน กกต.ไปพิจารณาว่าหากมีการโยกย้ายข้าราชการ โดยอาศัยอำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะต้องหารือ กกต.หรือไม่
หลังจากนั้น ได้เป็นการสอบถามมาตรการป้องกันความรุนแรง ซึ่ง พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงยืนยันและยินดีที่จะช่วยป้องกันเหตุ โดยเฉพาะบริเวณสถานที่ชุมนุมทั้ง 7 เวที
“เจ้าหน้าที่ตำรวจมีความปรารถนาที่จะป้องกันเหตุไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้น หลังจากที่เราได้มีการพูดคุยกันมาแล้ว 3 ครั้ง และได้นำไปปฏิบัตินั้น ได้มีปัจจัยต่างๆ เข้ามากระทบไม่ให้สามารถดำเนินการไปตามแผนได้ ทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ให้ความไว้วางใจเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ ก็อยากให้ประชาชนรับรู้ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการเพื่อประชาชนมาตลอด หากเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถดำเนินการได้เต็มศักยภาพตามที่เราชำนาญ จะทำให้สะดวกขึ้นในการป้องกันเหตุ เช่น การตั้งด่าน ถ้าสามารถทำได้ทุกด่านจะดีมาก เพราะถ้าทำเป็นบางที่ผู้ก่อการร้ายจะรู้และยากที่จะป้องกัน ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ อยากให้ผู้ชุมนุมยอมรับ เพราะมันเป็นเรื่องจำเป็น แม้แต่ในการถวายความปลอดภัยก็ต้องทำ” พล.ต.อ.วรพงษ์ กล่าว
ที่ประชุมต่างแสดงความกังวลว่าเมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่เกรงว่าจะเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ใช้อ้างเพื่อจับกุมผู้ชุมนุม พล.ต.อ.วรพงษ์ กล่าวว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.ก.ที่จะจับกุมผู้รวมตัวกันได้ แต่ขณะนี้ ผอ.ศรส.ยังไม่ได้มีนโยบายให้ใช้