xs
xsm
sm
md
lg

ส่งเสริมอัตลักษณ์เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็นภาษาถิ่นจาก “บางเก่า” เป็น “มืองาแบ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัตตานี - เลขาธิการ ศอ.บต.ลงพื้นที่ร่วมเป็นสักขีพยานเปลี่ยนชื่อหมู่บ้าน ในโครงการชื่อบ้านในความทรงจำ ที่ ต.บางเก่า อ.สายบุรี จากชื่อ บ้าน “บางเก่า” เป็น “มืองาแบ” ซึ่งเป็นชื่อเดิมที่ชาวบ้านในพื้นที่คุ้นเคย เพื่อเป็นการคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ด้านภาษา และประวัติศาสตร์

วันนี้ (9 ก.พ.) ที่ศูนย์ยุติธรรมตำบลบางเก่า องค์การบริหารส่วนตำบลบางเก่า อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธานเปิดงานโครงการชื่อบ้านในความทรงจำ “บางเก่า” เป็น “มืองาแบ” พร้อมด้วย ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายขวัญชาติ วงศ์ศุภรานันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายอดุลย์ หมัดเส็น นายอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี อาจารย์อิสมาแอล เบญจสมิทธ์ ประธานศูนย์อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม Mr.Kim Mc Quay (มิสเตอร์คิม แมคเควย์) ผู้แทนจากมูลนิธิเอเชียแห่งประเทศไทย นายโมฮามัดแผนดี ยูซง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางเก่า อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี มีประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับเป็นจำนวนมาก

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากหน่วยงานทุกภาคส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นความต้องการของประชาชนที่ได้ร่วมกันดำเนินโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ชื่อบ้านนามเมืองจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีการนำร่องไป 10 หมู่บ้าน เป็นมาตรฐานตามเจตนารมณ์ของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะนโยบายของรัฐบาลได้มีมติ ครม. เมื่อปี พ.ศ.2554 คืออยากให้ปรับปรุงชื่อหมู่บ้าน ป้ายบอกเส้นทาง และตามหน่วยงานราชการต่างๆ อย่างน้อย 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาถิ่น (ภาษามลายู) และภาษาอังกฤษ เป้าหมายของพี่น้องประชาชนทุกคน คือ ต้องการจะสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งที่สำคัญคือเราจะต้องทำให้ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

เชื่อว่าเบื้องหลังของสันติสุข คือการที่ประชาชนอยู่กันอย่างมีความสุข ประชาชนจะต้องเป็นคนดี ประชาชนจะต้องมีความศรัทธาต่อศาสนา และนอกจากนี้ ประชาชนจะต้องมีการศึกษาที่ดี และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ประชาชนในชุมชนจะต้องมีค่านิยมในเรื่องของสายสัมพันธ์ มีความรักความสามัคคีต่อกัน ต้องเป็นคนดีศรีสังคม ภาษาโดยเฉพาะภาษามลายูเป็นการแสดงออกถึงชาติพันธุ์มลายู การสูญสิ้นภาษาก็เหมือนกับการสูญสิ้นชาติพันธุ์ มีความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมอัตลักษณ์ด้านภาษา

“เพราะปัจจุบันภาษามลายูเป็นภาษาที่มีการเปิดกว้าง และทางรัฐบาลก็มีนโยบายที่จะต้องส่งเสริมด้านภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย ภาษามลายูกลาง ภาษามลายูถิ่น และภาษาอื่นๆ ขอแสดงความยินดีต่อประชาชนชาวตำบลบางเก่าทุกคนที่ได้ชื่อหมู่บ้านกลับคืนมา เพราะชื่อหมู่บ้านเป็นมรดกทางวัฒนธรรม เป็นมรดกทางภูมิปัญญาของบรรพชนที่ได้รวบรวมไว้” เลขา ศอ.บต.กล่าว

นายโมฮามัดแผนดี ยูซง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางเก่า อำเภอสายบุรี กล่าวว่า การเปลี่ยนชื่อตำบลนั้น เป็นความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพราะมืองาแบ เป็นชื่อเดิม และเป็นชื่อที่ประชาชนในพื้นที่รู้จัก และนิยมเรียกขานเป็นระยะเวลานานมาแล้ว อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงชื่อเพื่อใช้ภาษาท้องถิ่น ถือเป็นการอนุรักษ์ด้านภาษา ส่งเสริมความภูมิใจในอัตลักษณ์ทางภาษาและประวัติศาสตร์ โดยคำนึงถึงการตัดสินใจอย่างมีส่วนร่วมของชุมชน



 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น