xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.ขยายผลสอนทวิภาษา ร.ร.ชายแดนทั่วประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สมเด็จพระเทพรัตนฯ” ทรงรับสั่งให้ สพฐ.เร่งแก้ปัญหาเด็กพื้นที่ภาคใต้อ่าน-เขียนภาษาไทยไม่ได้ ให้เป็นรูปธรรม ขณะที่ สพฐ.เล็งขยายผลการจัดการเรียนสอนแบบทวิภาษา ให้ครอบคลุม ร.ร.ในพื้นที่ชายแดนตั้งเป้าให้ได้ 1,600 โรง ภายในปี 60
นายกมล รอดคล้าย
วันนี้ (22 ม.ค.) ที่ รร.รอยัลริเวอร์ นายกมล รอดคล้าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนาหาแนวทางและยุทธศาสตร์การพัฒนาการเรียนการสอนในโรงเรียนชายแดนและพื้นที่พิเศษ ว่า เรื่องนี้ถือเป็นประเด็นสำคัญที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้พยายามหายุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาการศึกษาสำหรับผู้ที่ใช้ภาษาท้องถิ่นตามแนวชายแดนและพื้นที่พิเศษ โดยเฉพาะการจัดให้มีการเรียนการสอนแบบทวิภาษา-พหุภาษาศึกษา ดังนั้นกระบวนการแก้ปัญหาต่อจากนี้ไปจะทำอย่างไรให้เด็กที่อยู่ตามชายแดนและพื้นที่พิเศษมีโอกาสเรียนรู้ภาษาไทย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องได้ ซึ่งหาก สพฐ.ทำให้เด็กกลุ่มนี้อ่าน ออก เขียนได้ ก็จะทำให้เด็กได้ออกไปแสวงหาความรู้ด้านอื่นได้ด้วย

“เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้มีโอกาสเฝ้ารับเสด็จฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งสมเด็จพระเทพฯทรงเป็นห่วงพร้อมรับสั่งว่า อยากให้ สพฐ.แก้ปัญหาเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากมีความห่วงใยเด็กในพื้นที่เหล่านี้ เพราะหากเด็กอ่านออก และเขียนภาษาไทยได้ ก็จะทำให้เด็กสามารถไปเรียนรู้ในด้านอื่นๆ ได้เช่นกัน "รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า ทั้งนี้ สพฐ.ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล จัดโครงการนำร่องการจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาษาไปแล้วใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ ในโรงเรียน 11 แห่ง ซึ่งจะเน้นในพื้นที่ที่มีการพูดภาษาท้องถิ่นเกิน 50% อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ไป สพฐ.ตั้งเป้าจะขยายผลการเรียนการสอนในรูปแบบดังกล่าวไปอีก 29 โรง ในปี 2557 พร้อมกับการจัดหาและพัฒนาครู จากนั้นภายในปี 2560 ก็จะขยายผลให้ได้ครอบคลุม 1,600 โรง

ด้าน น.ส.ไพรวัลย์ พิทักษ์สาลี ผอ.สำนักทดสอบทางการศึกษา สพฐ.กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่า มีโรงเรียนที่เด็กใช้ภาษาท้องถิ่นนอกจากภาษาไทยจำนวนมาก อาทิ ภาษาละหู่ อาข่า กะเหรี่ยง เมียน ไทยใหญ่ จีนฮ่อ ลีซอ ม้ง คะฉิ่น ละว้า มูเซอ อีก้อ เป็นต้น โดยที่ผ่านมา สพฐ.ได้มีแนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยตามแนวชายแดนและพื้นที่พิเศษ ซึ่งนำร่องโครงการทวิภาษาในโรงเรียน 11 แห่งตั้งแต่ปีการศึกษา 2550 ซึ่งก็ยังพบปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน เช่น ครูย้ายโรงเรียนบ่อย เนื่องจากเห็นว่าเป็นพื้นที่ทุรกันดาร ประกอบกับครูไม่สามารถพูดภาษาถิ่นได้จึงทำให้ครูมีภาระงานมาก รวมถึงขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดการศึกษาแบบทวิภาษา

ดังนั้น จากนี้ไป สพฐ.มีแนวทางในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนแบบทวิ-พหุภาษา ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2557-2560 โดยมีเป้าหมายส่งเสริมและพัฒนาโรงเรียนที่มีการจัดการศึกษาแบบทวิภาษา-พหุภาษาศึกษา ให้ครอบคลุมทุกเขตพื้นที่ชายแดนในประเทศไทย ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาครูโรงเรียนที่มีการจัดการศึกษาแบบทวิภาษาให้มีความรู้ความเข้าใจการจัดการเรียนรู้ รวมถึงให้สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่อย่างน้อย 4 แห่งจัดทำหลักสูตรปริญญาตรี เพื่อให้มีความรู้สามารถจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาษาได้ พร้อมทั้งให้มีการจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบเป็นศูนย์กลางประสานงาน เพื่อกำกับและติดตามการดำเนินงานและประเมินผลการจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาษาในโรงเรียนตามแนวชายแดนและพื้นที่พิเศษ
 


กำลังโหลดความคิดเห็น