xs
xsm
sm
md
lg

แบบเรียนเร็ว

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ สิริรัตนจิตต์

โดย...อภินันท์ สิริรัตนจิตต์
คณะศิลปศาสตร์และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

กลายเป็นหัวข้ออภิปรายในวงการศึกษา ควบคู่ไปกับข่าวร้อนการสอบบรรจุข้าราชการครูผู้ช่วยทั่วประเทศ หลังจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีแนวคิดและจะนำแบบเรียนเร็วใหม่ระดับต้น กลาง และปลาย ของอำมาตย์โทพระวิภาชน์ วิทยาสิทธิ์ (สังข์ พุกกะเวส) มาเป็นแบบเรียนสำหรับเด็กช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-ป.3) กลับมาใช้ในปีการศึกษา 2557

รายงานข่าวหลายแหล่งได้กล่าวถึงสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เตรียมกลับมาใช้ตำราเรียนเร็วใหม่ระดับต้น กลาง และปลาย ของอำมาตย์โทพระวิภาชน์ วิทยาสิทธิ์ (สังข์ พุกกะเวส) มาเป็นแบบเรียนสำหรับเด็กช่วงชั้นที่ 1 อีกครั้ง โดยชี้ว่าเป็นแบบเรียนที่อ่านง่าย เน้นการสะกดคำแจกลูกประโยคไว้ชัดเจน ทำให้เด็กอ่านออก เขียนได้ และจดจำได้ง่ายขึ้นเริ่ม เพื่อแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ โดยนายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เตรียมนำแบบเรียนเร็วใหม่ ระดับต้น กลาง และปลาย ของ อำมาตย์โทพระวิภาชน์ วิทยาสิทธิ์ (สังข์ พุกกะเวส) มาเป็นแบบเรียนสำหรับเด็กช่วงชั้นที่ 1 ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 1 2 และ 3 ซึ่งเป็นแบบเรียนฝึกสะกดคำ และได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นแบบเรียนมาตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2499 ซึ่งเป็นแบบเรียนที่อ่านง่าย เน้นการสะกดคำ แจกลูกประโยคไว้ชัดเจน ทำให้เด็กอ่านออก เขียนได้และจดจำได้ง่ายขึ้น

แต่เมื่อเข้าสู่ยุคปัจจุบัน โรงเรียนไม่เน้นการสอนแบบแจกคำ เมื่อเด็กเจอศัพท์ใหม่ จึงไม่สามารถอ่านประโยคได้ จึงเชื่อว่า เมื่อนำกลับมาใช้ใหม่ จะทำให้เด็กอ่านออกเขียนได้อย่างแน่นอน พร้อมระบุ จุดประสงค์ของการรื้อฟื้นแบบเรียนเร็วใหม่ เพื่อต้องการแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ โดยจะให้โรงเรียนแจ้งความประสงค์และสพฐ.จะจัดเสริมให้เพราะจากการหารือกับครูภาษาไทย พบว่า แบบเรียนเร็วใหม่มีความน่าสนใจ ซึ่งมีบางโรงเรียนนำร่องใช้แบบเรียนนี้แล้ว ทำให้เด็กมีพัฒนาการการเรียนภาษาไทยดีขึ้น ดังนั้นเชื่อว่าภายใน 1-2 ปี จะสามารถแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม สพฐ.ได้เริ่มพิมพ์แบบเรียนเร็วใหม่แล้ว 600,000 เล่ม งบประมาณ 10 ล้านบาท โดยจะเริ่มใช้เรียนตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 ทันที

ความคิดเห็นของผู้เขียนต่อแบบเรียนเร็ว เห็นว่า แบบเรียน หนังสือ หรือตำราเรียนแบบไหน ยังไม่สามารถตั้งสมมติฐานได้ว่า จะมีประสิทธิภาพ (กระบวนการจัดการเรียนรู้) และประสิทธิผล (ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน) เพียงใด แต่ในเมื่อความพยายามในการคิดแก้ปัญหาการอ่าน-การเขียนภาษาไทยในระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น นับว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งที่ควรคำนึงคือแบบเรียนหรือตำราเรียนนั้น เป็นเพียงสื่อหรือเครื่องมือที่ใช้ในการเรียน ยังไม่ใช่วิธีการสอนหรือวิธีการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน ดังนั้นการใช้แบบเรียน จึงควรมีการประยุกต์หรือออกแบบวิธีการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เข้ากับยุคสมัย ธรรมชาติของผู้เรียน นิสัยการเรียนของผู้เรียนและมีการวัดผลประเมินผลตามวัตถุประสงค์ของเนื้อหาและรายวิชาของหลักสูตรด้วย

ความคิดเห็นต่อจุดอ่อนของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2544 และหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 นั้นผู้เขียนเห็นว่าทั้ง 2 หลักสูตรมีเนื้อหามากเกินไป เพราะทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ มีสาระการเรียนรู้ย่อยมากกว่า 20 สาระ หากแยกเป็นวิชา ก็คงไม่น้อยกว่า 20 วิชา ต่างจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2521 ที่มีเพียง 5 กลุ่มประสบการณ์และใช้วิธีการบูรณาการเนื้อหาในการเรียนรู้ และถึงแม้ปัจจุบันได้มีการนำร่องปรับปรุงหลักสูตรใหม่ให้เหลือเพียง 6 กลุ่มสาระการเรียนรู้แล้วก็ตามที แต่สภาพปัญหาการใช้หลักสูตรในปัจจุบันคงต้องยอมรับว่า หลักสูตรสถานศึกษายังไม่ถูกใช้เต็มประสิทธิภาพและยังใช้ไม่ครอบคลุมสัมพันธ์ระหว่างตัวชี้วัด เนื้อหาการเรียนรู้ การวัดผลประเมินผลและการบูรณาการคุณลักษณะอันพึงประสงค์ การเสริมสร้าง 5 ทักษะสำคัญที่พึงมีต่อผู้เรียน ยังไม่ประสบความสำเร็จตามหลักการของหลักสูตร ซึ่งอาจเป็นเพราะครูผู้สอนกังวลกับปริมาณเนื้อหาจำนวนมาก รวมทั้งเวลาในการพัฒนาตนเองด้านเทคนิคการสอนและการออกแบบกระบวนการจัดการเรียนรู้ ยังทำได้ไม่ครบวงจรและต่อเนื่องซึ่งความคิดเห็นดังกล่าวเป็นข้อมูลที่เกิดจากประสบการณ์ของผู้เขียนในการบริการวิชาการความรู้ด้านหลักสูตรสู่สถานศึกษาขั้นพื้นฐานในพื้นที่

ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอแนะเบื้องต้นต่อการใช้แบบเรียนเร็ว ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งในการแก้ปัญหา ควรทบทวนและพัฒนาสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้ควบคู่กันไป

1. ทบทวนการใช้ตัวชี้วัดในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ช่วงชั้นประถมศึกษาตอนต้น ให้ครูผู้สอนและสถานศึกษาได้กำหนดน้ำหนักและชั่วโมงเรียน ครบตามเวลาเรียนของหลักสูตรในรายวิชา

2. พัฒนาครูผู้สอนให้มีวิธีการออกแบบกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เข้ากับยุคสมัย โดยใช้แบบเรียนเร็วเป็นสื่อหนึ่งในการจัดการเรียนการสอน

3. ทบทวนเครื่องมือวัดผลและประเมินผลการอ่าน-การเขียนภาษาไทย ให้สอดคล้องกับตัวชี้วัดและเป็นเครื่องมือที่มีคุณภาพ โดยไม่ต้องคำนึงถึงการทดสอบระดับชาติอย่างการสอบโอเน็ตหรือการสอบเอ็นที ที่มาจากส่วนกลางมากเกินไป

4. พัฒนาครูผู้สอนให้วิจัยชั้นเรียนอย่างง่าย เพื่อสร้างนวัตกรรมด้านวิธีการเรียนการสอนภาษาไทยที่มีประสิทธิภาพ โดยใช้สื่อในท้องถิ่น ซึ่งจะสามารถใช้ได้ดีกับบริบทของผู้เรียน

จากการศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการอ่าน-การเขียนภาษาไทย ผู้เขียนได้พบงานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับการสอนภาษาไทยให้เด็กชาวเขา หรือการสอนภาษาไทยให้เด็กไทยที่ใช้ภาษามลายูถิ่นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แบบระบบสองภาษา คือมีการเทียบเคียงระหว่างภาษาไทยกับภาษาถิ่น ที่เด็กใช้ในชีวิตประจำวัน แล้วเชื่อมโยงมาสู่การสอนภาษาไทยตามหลักสูตรของสถานศึกษา นับได้ว่าเป็นการพัฒนาศักยภาพครูและคุณภาพการเรียนการสอนที่ดีเยี่ยม ซึ่งจะเป็นทางเลือกในการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะวิธีการสอนที่ดีที่สุด คือวิธีการสอนที่ผู้เรียน ได้เรียนแล้วเกิดความเข้าใจ สามารถนำความรู้มาใช้และปฏิบัติในชีวิตจริงได้

ด้วยความเชื่อว่า ภาษาไทย คือรากฐานในการเข้าถึงความรู้และวิทยาการต่างๆ ของผู้เรียนในระดับประถมศึกษาตอนต้น ดังนั้น การจัดการเรียนการสอนภาษาไทย จึงควรใช้กระบวนการฝึกซ้ำๆ ทำต่อเนื่อง ทั้งการอ่าน การแจกลูกคำ การผสมคำ การแจกลูกประโยคและการเขียน ซึ่งจะใช้แบบเรียนเร็วเป็นสื่อด้วยก็ควรประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบทของสถานศึกษา และควรให้น้ำหนักกับเวลาเรียนภาษาไทยพอกับคณิตศาสตร์ในระดับประถมศึกษาตอนต้น จากข้อเสนอแนะดังกล่าวนี้ ผู้เขียนจึงขอส่งกำลังใจครูภาษาไทยทั่วประเทศที่พยายามฝึกฝนผู้เรียนให้มีความสามารถด้านการอ่าน-เขียน ภาษาประจำชาติของตนเองได้อย่างมีคุณภาพตามหลักสูตร เพื่อให้ผู้เรียนสามารถอ่านออก-เขียนได้และใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง เหมือนนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยหลายคนที่ผ่านมาแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น