xs
xsm
sm
md
lg

เล็งปลดล็อกคนพื้นที่สอนเด็กดอย-ชายขอบ แก้ปัญหาครูย้ายถิ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“จาตุรนต์” ร่วมถกผู้บริหาร และเขตพื้นที่ที่สูง วางยุทธศาสตร์จัดการศึกษาเด็กดอย-ชายขอบ เล็งเปิดช่องให้คนพื้นที่มาเป็นครูแก้ปัญหาครูขอย้ายถิ่น และเพิ่มชั่วโมงเรียนภาษาไทยมากขึ้น

วันนี้ (13 มี.ค.) ที่ดอยหมอกดอกไม้รีสอร์ท อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานเสวนาแผนยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาในพื้นที่สูงและชายแดน จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยมีผู้บริหาร สพฐ.ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนครู ผู้ปกครอง และชุมชนเข้าร่วมเสวนา

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการเสวนา พบว่า ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับกลุ่มชนเผ่าในพื้นที่สูง ไม่ควรเป็นหน้าที่ของรัฐเพียงฝ่ายเดียว แต่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันส่งเสริมและร่วมกันพัฒนาระบบกลไกของการจัดการศึกษา ขณะเดียวกัน ในเวทีเสวนาได้เสนอให้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเรียนการสอนภาษาไทย โดยเฉพาะพื้นที่ที่ไม่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่ในการสื่อสาร ขณะเดียวกัน ต้องส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีน นอกจากนี้เห็นว่าการจัดการศึกษาต้องมีรูปแบบที่แตกต่างกับพื้นราบ เน้นการเรียนเพื่อการประกอบอาชีพมากกว่าการเรียนต่อ และมีการปรับระบบการประเมินผลที่เป็นการพัฒนาให้ใกล้เคียงกับมาตรฐานกลาง โดยอิงบริบทของพื้นที่ เพราะหากใช้มาตรฐานกลางจะก่อให้เกิดปัญหา ทั้งที่ศักยภาพโดยรวมของเด็กเหล่านี้ไม่ได้ด้อยไปกว่าเด็กพื้นที่ราบ

นายจาตุรนต์ กล่าวภายหลังการเสวนา ว่า เด็กในพื้นที่สูงมีประมาณ 1.8 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งเป็นเด็กชนเผ่าที่หลากหลายมีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ และที่สำคัญใช้ภาษาถิ่นเป็นภาษาแม่ และภาษาไทยเป็นภาษาที่ 2 ทำให้ต้องมียุทธศาสตร์การเรียนการสอนเป็นพิเศษ ดังนั้นการสอนภาษาไทยในโรงเรียนเหล่านี้ต้องมีการหารือกันอย่างจริงจังว่าควรมีรูแบบและเทคนิคอย่างไรเพื่อให้มีประสิทธิภาพ โดยต้องเพิ่มเวลาและเน้นการสอนแบบเข้มข้น นอกจากนี้ต้องมีการปรับระบบการอุดหนุนรายหัวสำหรับการจัดการศึกษาใหม่ ที่เพียงพอกับภาระหน้าที่ของโรงเรียนไม่ใช่จ่ายตามรายหัวเท่านั้น และจากการตรวจเยี่ยมในพื้นที่พบว่าเด็กมีการสื่อสารภาษาจีนได้ดี ถ้ามีการส่งเสริมศักยภาพจะกลายเป็นทรัพยากรที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศ

รักษาการ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า พร้อมทั้งต้องส่งเสริมให้คนในพื้นที่เข้ามาเป็นครูให้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมามักประสบปัญหาว่าครูที่ไม่ใช้คนพื้นที่ถึงเวลาก็ขอย้ายออก อีกทั้งยังประสบปัญหาความไม่เข้าใจในบริบทและวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ ดังนั้น หากสามารถส่งเสริมคนในพื้นที่มาเป็นครูและสนับสนุนเส้นทางความก้าวหน้าในวิชาชีพได้ก็จะเป็นการจูงใจให้คนอยากมาเป็นครูมากขึ้นซึ่งจะไปหารือร่วมกับคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และสถาบันการผลิตครูเพื่อหาวิธีการต่อไป อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปที่ได้จากการเสวนาจะนำไปจัดทำเป็นยุทธศาสตร์ในการจัดการศึกษาสำหรับพื้นที่สูงและชายแดน ซึ่งอาจไม่ใช่สูตรสำเร็จแต่จะมีความหลากหลาย และเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพพื้นที่มากขึ้น

ด้าน นายกมล รอดคล้าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ.ได้ตั้งคณะทำงานดูแลแผนยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาพื้นที่สูงและชายแดน ที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ระดับชาติ โดยเน้นการเพิ่มโอกาสการศึกษา เพิ่มเงินอุดหนุนรายหัว แต่จุดเน้นจะอยู่ที่การเรียนเพื่อการมีงานทำ รวมทั้งพยายามส่งเสริมให้คนในพื้นที่ได้มาเป็นครู


กำลังโหลดความคิดเห็น