ศธ.ระดมสมองทำแนวปฏิบัติปฏิรูปสอนภาษาอังกฤษ ตั้งเป้าเริ่มต้นแต่ปีการศึกษา 57 ยอมรับเป็นเรื่องยากในการเตรียมตัวในช่วงไม่กี่เดือน
วันนี้ (7 มี.ค.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมระดมความคิดเห็นเรื่องแนวปฏิบัติตามประกาศ ศธ.เรื่อง นโยบายปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ว่า ที่ผ่านมา ศธ.ได้จัดประชุมเสวนาเพื่อการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องมาหลายครั้งจนมีข้อสรุปออกมา และได้จัดทำเป็นประกาศนโยบายปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของ ศธ.ที่ตนได้ลงนามไปแล้ว สำหรับการประชุมครั้งนี้เพื่อรับฟังความเห็นประกอบการทำแนวปฏิบัติของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่จะนำออกไปใช้กับโรงเรียนทั่วประเทศ โดยนโยบายปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษและแนวปฏิบัติที่จะกำหนดออกมาจะเป็นการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนภาษาอังกฤษครั้งใหญ่ ซึ่งจะใช้กรอบการเรียนภาษาของประเทศในยุโรปแต่สาระที่สำคัญจะให้มีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษตามกระบวนการเรียนภาษาตามธรรมชาติของมนุษย์ คือ เรียนจากการใช้ภาษาและเรียนเพื่อใช้ภาษาเรียงลำดับจากการฟัง พูด อ่าน เขียนและเน้นการใช้ ทั้งนี้ แนวปฏิบัติแบบนี้จะต้องนำไปสู่การปรับหลักสูตรการเรียนการสอน สื่อการเรียน หนังสือ และการวัดผลประเมินผลต้องเน้นการเรียนการสอนเพื่อการสื่อสาร
“การระดมความเห็นในวันนี้ เพราะอยากให้เกิดผลทางปฏิบัติเป็นขั้นเริ่มต้นในบางส่วน บางโรงเรียนต่างๆ ตั้งแต่ต้นปีการศึกษา 2557 นี้ ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่ยากว่าจะเตรียมการอย่างไรให้ทันเปิดภาคเรียนใหม่นี้เพราะเหลือเวลาไม่กี่เดือน โดยการเรียนการสอนต้องเพิ่มความเข้มข้น ให้โรงเรียนมีวิชาสนทนามากขึ้น รวมทั้งสามารถทำให้โรงเรียนที่มีความพร้อมและเด็กสนใจการเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเวลาชั่วโมงเรียนวิชานี้ได้ด้วย ซึ่งจริงๆแล้วหลายโรงเรียนก็ได้ดำเนินการแล้ว เช่น เพิ่มชั่วโมงเรียนจากสัปดาห์ละ 4 คาบเป็น 6 คาบ การจัดค่ายฤดูร้อน” นายจาตุรนต์ กล่าว
รักษาการ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม แม้การเรียนการสอนภาษาอังกฤษแต่ละโรงเรียนจะมีความแตกต่างกันไปแต่ตนก็ต้องการให้ได้มาตรฐานและคุณภาพที่ดีขึ้นไปพร้อมกัน และขอฝากไปยังโรงเรียนว่าการจะให้นักเรียนสามารถเรียนสนทนาภาษาอังกฤษได้ทางโรงเรียนจะต้องไปดูว่าจะจัดห้องเรียนให้เหมาะสมอย่างไร รวมถึงการเพิ่มชั่วโมงการเรียนวิชานี้ด้วย โดยทางผู้อำนวยการโรงเรียนและครูต้องช่วยกันวางแผนในเรื่องนี้เพื่อให้บรรลุผล