ศธ.เห็นชอบยุทธศาตร์ปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ระยะ 5 ปี ชูจุดเน้น 4 ด้านต้องผ่านมาตรกฐานสากล CEFR ก่อนชง “จาตุรนต์” ลงนามประกาศ ศธ.เล็งนำร่องใช้สอน ป.1, 4 และ ม.1, 4 และขยับให้ทุกระดับชั้นใช้เรียนภายในปี 2560
นางอ่องจิต เมธยะประภาส รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่าที่ประชุมองค์กรหลักกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่มี นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานได้เห็นชอบยุทธศาสตร์การปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ระยะ 5 ปี พ.ศ.2551-2556 ที่มีจุดเน้นใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.การปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนเน้นให้นักเรียนสามารถสื่อสารได้จากเดิมการเรียนการสอนจะเน้นด้านไวยากรณ์ การปรับโครงสร้างการเรียนให้ยืดหยุ่น กำหนดให้นักเรียนเข้าค่ายภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้น การปรับสภาพแวดล้อมในห้องเรียน โรงเรียน และจัดให้มีการวัดคุณภาพผู้เรียนตามมาตรฐานสากล CEFR (Common European Framework of Reference for Languages) โดยจะมีคลังข้อสอบภาษาอังกฤษให้นักเรียนได้ใช้ฝึกฝนในการทดสอบ 2.ยกระดับ ความสามารถครู 3.ใช้สื่อและโปรแกรมที่เป็นตัวช่วยสำหรับครูที่ไม่สามารถออกเสียงได้ชัดเจน และ 4.ขยายโครงการห้องเรียนพิเศษ เช่น ห้องเรียนอิงลิชโปรแกรม เป็นต้น
ทั้งนี้ สพฐ.เตรียมนำยุทธศาสตร์ดังกล่าวเสนอให้ นายจาตุรนต์ ลงนามออกเป็นประกาศ ศธ.เพื่อใช้ในปี 2557 จากนั้น สพฐ.จะจัดทำรายละเอียดต่างๆ เพื่อนำไปปฏิบัติการกำกับติดตามด้วย ซึ่งการใช้ประกาศใช้ยุทธศาสตร์นี้บางส่วนอาจจะใช้กับทุกระดับชั้นแต่บางส่วน อาจจะใช้บางระดับชั้นตามความเหมาะสม เช่น กระบวนการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่เน้นการสนทนาจะประกาศใช้ได้ทุกระดับชั้น ส่วนการจะกำหนดให้จัดห้องเรียนภาษาอังกฤษไม่เกิน 25 คนต่อห้องเพื่อให้ได้ผลในการเรียนการสอนจะค่อยๆ ประกาศใช้ก่อนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1, 4 และมัธยมศึกษาปีที่ 1, 4 และจะขยับให้ครบทุกระดับชั้นภายในปี 2560 อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้จะระบุชัดเจนว่าในแต่ละระดับชั้นควรมีทักษะการสื่อสารด้านใดบ้าง ซึ่งการพัฒนาด้านภาษาอังกฤษนี้จะต้องค่อยเป็นค่อยไปและมีความคาดหวังในอนาคต ว่าเด็กไทยที่จบจากตรงนี้ไปต่อไปไม่ต้องไปสอบวัดความรู้ภาษาอังกฤษโทเฟล หรือสอบไอเอล แต่จะต้องสอบผ่านตามมาตรฐาน CEFR จะเหมือนกับเด็กในบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ ที่เขาจบออกไปแล้วก็ไม่ต้องไปสอบโทเฟล หรือ ไอเอลเวลาจะไปเรียนต่อ เป็นต้น