xs
xsm
sm
md
lg

ศอ.บต.จับมือประมงพื้นบ้านช่วยเหลือชาวประมงที่ปัตตานี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัตตานี - ศอ.บต.ร่วมกับประมงพื้นบ้าน ช่วยเหลือเยียวยาชาวประมงที่ไม่สามารถออกเรือหาปลาได้ในช่วงมรสุม เพื่อแก้ไขปัญหาความอดอยาก และความยากจน

วันนี้ (29 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี ร่วมกับผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น กลุ่มแม่บ้าน ต.แหลมโพธิ์ และ ต.ตะโล๊ะกะโป อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ร่วมกันจัดกิจกรรมช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน และให้การช่วยเหลือเด็กกำพร้า 1,152 คน เนื่องจากประสบกับปัญหาความอดอยาก ความยากจน สืบเนื่องจากชาวประมงพื้นบ้านในแถบนี้ไม่สามารถออกเรือหาปลาในช่วงมรสุมได้ คือ ช่วงระหว่างเดือน พฤศจิกายน ถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี

ผศ.ปิยะ กิจถาวร รองเลขา ศอ.บต. และคณะได้ออกเยี่ยมเยือนพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อน โดยรองเลขาธิการได้กล่าวกับชาวบ้านในพื้นที่ว่า ท้องทะเล และทรัพยากรในพื้นที่เป็นของมนุษย์ทุกคน สิ่งสำคัญคือ การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่กับเรา ธรรมชาติช่วยเลี้ยงมนุษย์ มนุษย์จึงสมควรที่จะช่วยกันอนุรักษ์ โดยใช้หลักการทางศาสนาที่ว่าการแสวงหาความรู้ของมุสลิมไม่จำกัดเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ เพศ ช่วงอายุ เวลา สถานที่และสถานการณ์

ความรู้ที่ถูกต้อง และสติปัญญาได้เป็นเครื่องมือที่ทำให้มนุษย์รู้จักใช้ชีวิตร่วมกับทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย อ่อนน้อมถ่อมตน และความพอเพียงที่อยู่บนพื้นฐานของหลักการสันติภาพอันแท้จริง นอกจากนี้ ยังฝากความห่วงใย และขอให้ชุมชนช่วยกันสนับสนุนการศึกษาของลูกหลาน เพื่อเป็นคนดีที่มีคุณภาพ และส่งเสริมการศึกษาสายสามัญ และการส่งเสริมการเรียนการสอนด้านภาษาทั้ง 4 ภาษา คือ ไทย จีน อังกฤษ และภาษาถิ่น เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนต่อไป

ด้านนายมูหามะสุกรี มะสะนิง นายกสมาคมชาวประมงพื้นบ้าน จังหวัดปัตตานีกล่าวว่า ชาวประมงที่นี่นับถือศาสนาอิสลามทั้งหมด เป็นชุมชนมุสลิมต้นแบบ 2 ปีซ้อน เพราะมีกิจกรรมที่ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ อย่างเช่น การรวมตัวกันตรวจตราเฝ้าระวังผู้กระทำผิดทางกฎหมายในการใช้อาวุธจับสัตว์น้ำ การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงสู่ทะเล การสร้างปะการังเทียมเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นเครื่องมือที่ดึงดูดสัตว์น้ำให้มาอยู่รวมกัน เพื่อความสะดวกในการทําประมง และการส่งเยาวชนในพื้นที่เข้าค่ายพหุวัฒนธรรม

เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การใช้ชีวิตที่แตกต่างกันระหว่างลูกหลานชาวประมง ลูกหลานชาวนา และลูกหลานชาวสวน เป็นการปลูกฝังให้รักอาชีพในบ้านเกิดของตน และเกิดความหวงแหนในธรรมชาติ แต่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี จะเป็นช่วงฤดูมรสุม ชาวประมงออกเรือไม่ได้ จึงอยากให้กลุ่มชาวประมงได้รวมตัวกันสร้างอาชีพเสริมในช่วงของฤดูมรสุม เพื่อหารายได้เลี้ยงดูครอบครัว

ทางด้าน นางญาวียะห์ ฮูเซ็น หนึ่งในชาวบ้านกลุ่มประมงพื้นที่บ้านกล่าวว่า ปัจจุบันตนเองอายุ 41 ปี มีลูก 4 คน ประกอบอาชีพการประมงมากว่าหลายชั่วอายุคน ปกติจะช่วยสามีออกเรือหาปลา แต่ในช่วงมรสุมของทุกปีไม่สามารถออกไปหาปลาได้ ทำให้ขาดรายได้ถึง 4 เดือน ต่อปี โดยตนเองก็พยายามที่จะหาอาชีพเพื่อรองรับ คือ การถักอวนขาย แต่รายได้ก็ไม่เพียงพอ วันนี้ขอขอบคุณทุกคนที่ได้ให้ความช่วยเหลือ และตนเองเห็นว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ เพราะตนเองไม่ได้เรียนจึงต้องอยู่อย่างยากลำบาก จึงส่งเสียให้ลูกๆ ทั้ง 4 คน เรียนสูงๆ ปัจจุบันเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยทุกคน และเห็นว่าการศึกษาเท่านั้นที่จะช่วยให้คนเราหลุดก้นจากความยากลำบากได้


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น