โดย...ดร.ศักดิ์ชัย คีรีพัฒน์
ถ้าจะพูดถึงเรื่องราวของเศรษฐศาสตร์กับ ม.อ. ก็ต้องมองเป็นช่วงๆ ผมจะพูดถึงตั้งแต่ช่วงแรก ก่อนมีคณะเศรษฐศาสตร์ จนมาถึงคณะเศรษฐศาสตร์มีอายุหนึ่งทศวรรษ และอนาคตข้างหน้า
ยุคก่อนคณะเศรษฐศาสตร์
ผมเริ่มมาทำงานที่ ม.อ.ปี 2523 ที่คณะวิทยาการจัดการ สอนวิชาด้านเศรษฐศาสตร์ ตอนนั้นเรามีอาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์อยู่ 3 คน ผมสอนเศรษฐศาสตร์จุลภาค เศรษฐศาสตร์มหภาค ซึ่งเป็นวิชาที่นักศึกษาบริหารธุรกิจทุกคนต้องเรียน และยังสอนวิชาเศรษฐศาสตร์การเงินระหว่างประเทศ เศรษฐศาสตร์การจัดการ และเศรษฐศาสตร์แรงงาน เคยสอนวิชาสถิติและหลักเศรษฐศาสตร์ให้แก่นักศึกษาสาขารัฐประศาสนศาสตร์ของคณะวิทยาการจัดการในช่วงแรกๆ ส่วนนอกคณะนั้น ผมสอนหลักเศรษฐศาสตร์ให้นักศึกษาจากคณะอื่นๆ อีก 3-4 คณะ
นอกจากที่คณะวิทยาการจัดการแล้ว ยังมีอาจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์เกษตรอยู่ที่คณะทรัพยากรธรรมชาติด้วย ในตอนแรกอยู่ที่ภายวิชาพัฒนาการเกษตร ต่อมาได้แยกตัวออกมาเป็นภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร และมีหลักสูตรเศรษฐศาสตร์เกษตรขึ้น แต่นักศึกษาหลักสูตรนี้ตั้งแต่รุ่นแรกเป็นต้นมา ต้องเรียนวิชาทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ 4 วิชากับพวกเราที่คณะวิทยาการจัดการ คือ เศรษฐศาสตร์จุลภาค 2 วิชา และมหภาคอีก 2 วิชา
ความคิดที่อยากให้มีคณะเศรษฐศาสตร์ที่ ม.อ.นั้นมันมีมาตั้งแต่ผมทำงานที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ เพราะในตอนนั้นยังไม่มีคณะเศรษฐศาสตร์ หรือหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ในภาคใต้เลย เศรษฐศาสตร์เป็นศาสตร์ที่สำคัญมากศาสตร์หนึ่งสำหรับพัฒนาประเทศและพัฒนาคน ผมเห็นว่า ม.อ.น่าจะมีบทบาทสำคัญในด้านนี้ด้วย เราได้เสนอจัดตั้งภาควิชาเศรษฐศาสตร์และหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ขึ้นที่คณะวิทยาการจัดการ เมื่อเรื่องเข้าสู่สภามหาวิทยาลัยเพื่อขออนุมัติ สภาฯ กลับเห็นว่าเศรษฐศาสตร์นั้นควรตั้งเป็นคณะมากกว่าภาควิชา ประมาณว่าเป็นภาควิชานั้นเล็กไป มหาวิทยาลัยส่งเรื่องกลับให้เราเสนอใหม่เป็นจัดตั้งคณะ
แต่พอเราเสนอใหม่กลับได้คำตอบว่า แผนพัฒนาตอนนั้นไม่ให้จัดตั้งหน่วยงานใหม่ ตกลงไม่ให้ตั้งทั้งภาควิชา และคณะ ผมก็ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วเขาอยากให้เราตั้งหรือไม่ ได้แต่คิดและเชื่อว่ายังไงๆ ก็ต้องมีคณะเศรษฐศาสตร์ที่ ม.อ.แน่ๆ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง จะไม่มีอะไรมาขัดขวางได้ แล้วในปี 2546 คณะเศรษฐศาสตร์ก็ถูกตั้งขึ้นใน ม.อ.จนได้
เมื่อมีคณะเศรษฐศาสตร์
คณะเศรษฐศาสตร์ ได้รวมเอาอาจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์จากคณะวิทยาการจัดการ และทางด้านเศรษฐศาสตร์เกษตรจากคณะทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมกับสร้างหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ระดับปริญญาตรีขึ้นมาใหม่ และได้โอนหลักสูตรปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์เกษตร และปริญญาโทธุรกิจเกษตรมาจากคณะทรัพย์ฯ ด้วย พูดง่ายๆ ทางด้านเศรษฐศาสตร์เกษตรนั้นยกอาจารย์ทั้งหลักสูตรมาจากภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรที่สังกัดคณะทรัพย์ฯ
ในช่วงแรกเรายังไม่มีสถานที่ของตนเอง สำนักงานคณะฯ ก็ต้องเช่าสำนักงานเดิมของเศรษฐศาสตร์เกษตรจากคณะทรัพย์ฯ อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งได้รับความเอื้อเฟื้อให้ใช้สำนักงานที่คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม ส่วนห้องเรียนนั้นนักเรียนได้เรียนแบบจรยุทธ์ คือจรไปเรียนตามห้องของคณะต่างๆ หลายคณะมาก เนื่องจากปัญหาความล่าช้าของการก่อสร้างของตึกของคณะ ทำให้เราเพิ่งเข้ามาอยู่ที่คณะของเราเองเมื่อ 5 พฤษภาคม 2553
ทรัพยากรบุคคลของคณะฯ ในช่วงเริ่มต้นนั้น ด้านอาจารย์ก็จะมีส่วนผสมระหว่างอาจารย์เก่ากับอาจารย์ใหม่ ด้านบุคลากรสายสนับสนุนก็จะเป็นคนใหม่ๆ เสียเป็นส่วนใหญ่ อาจารย์ใหม่เหล่านี้จบปริญญาโทมาก็ต้องไปเรียนต่อปริญญาเอก คณะได้ให้ความสำคัญกับคุณภาพของคนมาก เพราะเรายังเป็นคณะใหม่ที่มีคนน้อย ถ้าคนเรามีปัญหาเสียคนสองคนก็จะส่งผลกระทบต่อคณะรุนแรงมาก ไม่เหมือนกับคณะเก่าๆ ที่มีคนมากแล้วส่งผลกระทบก็จะไม่รุนแรงเท่าเรา ได้ส่งเสริมการพัฒนาความรู้คนของเรา ทั้งอาจารย์ และทีมงานสายสนับสนุน เราเชื่อว่าคนเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดขององค์กร
การเรียนการสอนเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญมาก พยายามพัฒนาการเรียนการสอนในทุกด้าน หลักสูตรจะถูกปรับปรุงให้เหมาะสมเสมอ บางครั้งแม้ยังใช้ไม่ครบรอบช่วงเวลาการปรับปรุง ถ้าเราพบว่ามีส่วนที่เราต้องปรับเปลี่ยนเราก็ทำทันที หลักสูตรเศรษฐศาสตร์เราใช้ตำราภาษาอังกฤษเป็นหลัก โดยคัดสรรตำราที่ได้มาตรฐานระดับโลก
ผมเคยบอกลูกศิษย์ว่า จากประสบการณ์ในอาชีพสอนหนังสือของผม ผมสรุปได้ว่า ครูดีนั้นหายากกว่าหนังสือดี หนังสือดีภาษาไทยนั้นหายากกว่าหนังสือดีภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะหนังสือทางด้านเศรษฐศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เราจึงสนับสนุนให้ลูกศิษย์เราพยายามอ่าน textbooks ตั้งแต่ตอนเขาอยู่ปีหนึ่ง ส่วนด้านวิธีการสอนเราพยายามพัฒนา โดยนำวิธีการใหม่ๆ มาใช้ เช่น เรานำวิธีการสอนแบบ problem Based Leaning (PBL) มาใช้ในบางวิชา
ในช่วงแรกของคณะฯ อาจารย์เราไปเรียนต่อปริญญาเอกกันเกือบครึ่ง ส่วนใหญ่ไปเรียนในต่างประเทศ อเมริกา ออสเตรเลีย และฝรั่งเศส เราเชิญอาจารย์พิเศษมาช่วยสอน ส่วนใหญ่มาจากมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ เช่น จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ และเกษตรศาสตร์ แต่อย่างไรก็ตาม ในหลักสูตรเศรษฐศาสตร์นั้น เราจะให้อาจารย์พิเศษสอนในกลุ่มวิชาเลือกเท่านั้น ถ้าเป็นพวกวิชาแกนแล้วเราจะสอนของเราเอง แต่ไม่ว่าจะสอนโดยใครก็ตาม เราจะให้ความสำคัญกับคุณภาพการสอนมาก
ผลผลิตด้านการเรียนการสอนคือ คุณภาพของลูกศิษย์ เราพบว่าบัณฑิตของเราสามารถสอบเรียนต่อปริญญาโทในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับแนวหน้าของประเทศได้หลายคน บางคนก็เรียนต่อในต่างประเทศ พวกที่ทำงานหลายคนก็ได้ทำงานที่ดีทั้งในภาครัฐ และภาคเอกชน
ส่วนนักศึกษาของเราก็พิสูจน์ให้เห็นความสามารถทางวิชาการ เช่น ในการแข่งขันตอบปัญหาทางเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ซึ่งจัดขึ้นทุกปีในตอนที่คณะมีอายุได้เพียง 2 ขวบ เราได้ส่งนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ไปแข่ง (เพราะนักศึกษาชั้นปีที่สูงสุดของหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ แต่หมาวิทยาลัยอื่นส่วนใหญ่เขาจะส่งเด็กปี 4 ไปแข่งกัน) ผลคือเราได้ที่ 9 แต่หลังจากนั้นในปีต่อๆ มา เราได้ลำดับที่ดีขึ้นมาเรื่อยๆ จน 2 ปีล่าสุด นักศึกษาเราได้ลำดับที่ 3 แล้ว เด็กเราสามารถเอาชนะคู่แข่งจากมหาวิทยาลัยดังๆ ระดับประเทศบางแห่งได้
นอกจากนั้น การแข่งขันในระดับประเทศอื่น เช่น ที่กระทรวงการคลัง ลูกศิษย์ก็ได้ที่ 3 เช่นกัน ส่วนผลงานวิจัยของนักศึกษาระดับปริญญาตรี เด็กเราก็ได้ที่ 3 ในการประกวดผลงานวิจัยระดับประเทศ และได้การตอบรับให้ลงตีพิมพ์ในวารสารของกระทรวงการคลัง เราเชื่อมั่นว่าอีกไม่นานลูกศิษย์เราจะขึ้นไปถึงระดับที่ 1 ในการแข่งขันระดับประเทศเหล่านั้น
นอกจากความรู้ความสามารถของนักศึกษาแล้ว เราให้ความสำคัญพอๆ กันกับการเป็นคนดีของลูกศิษย์ของเรา เราพยายามสร้างคนเก่งและคนดี จะเป็นคนดีก็ต้องมีคุณสมบัติที่จำเป็นข้อหนึ่งคือ จะต้องไม่คดโกง เรากำลังอยู่ในประเทศที่มีปัญหาใหญ่เรื่องการทุจริต และกำลังมีความเชื่อที่อันตรายมากว่า “ใครจะทุจริตหรือโกงก็ไม่เป็นไร ถ้ามันทำให้ตัวเราเองได้ประโยชน์”
เราจะพยายามทำทุกด้าน ทั้งสั่งสอนและลงโทษเพื่อไม่ให้ลูกศิษย์ทุจริต เพราะคนเราถ้าโกงได้ในเรื่องเล็กๆ ต่อไปก็โกงได้ในเรื่องใหญ่ๆ โตขึ้นก็จะเป็นคนดีได้ยาก เรารู้ว่าการสร้างคนให้เป็นคนดีนั้นยากพอๆ กับการสร้างคนให้เป็นคนเก่ง แต่มันก็เป็นหน้าที่ของคณะที่จะต้องทำ
ด้านการวิจัย และการบริการวิชาการ อาจารย์ของคณะได้ผลิตงานวิจัยอย่างสม่ำเสมอ บางงานวิจัยไปเสนอผลงานที่ต่างประเทศ และได้ลงตีพิมพ์ในวารสารวิชาการในระดับนานาชาติ ส่วนการบริการวิชาการให้แก่สังคมนั้น เราก็ทำอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เราจัดฝึกอบรมให้แก่ครูผู้สอนวิชาเศรษฐศาสตร์ระดับมัธยมปลายจากโรงเรียนใน 14 จังหวัดภาคใต้มาเกือบทุกปี เพื่อพัฒนาความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ให้ครูเหล่านี้ ซึ่งเกือบทั้งหมดไม่ได้จบปริญญาตรีทางเศรษฐศาสตร์มาก่อน
ล่าสุด ในปี 2556 นี้ เราเพิ่มจัดอบรมให้เป็นครั้งที่ 6 แล้วในช่วง “ม.อ.วิชาการ” เดือนสิงหาคมทุกปี เราจัดแข่งขันตอนปัญหาทางเศรษฐศาสตร์ของนักเรียนระดับมัธยมปลายจาก 14 จังหวัดภาคใต้ (ทีมละ 3 คน) ที่ได้ที่ 1 2 และ 3 ถ้ามีคุณสมบัติผลการเรียนมัธยมปลายผ่านเกณฑ์ของเรา เราจะให้โควตารับเข้าเรียนที่คณะ และให้ทุนเรียนฟรีหนึ่งปีด้วย
นอกจากนี้ เราได้จัดทำจุลสารเศรษฐตังค์ เพื่อเผยแพร่ความรู้ และแนวคิดด้านเศรษฐศาสตร์ให้แก่คนทั่วไป ที่ผ่านมาเราให้บริการวิชาการแก่หน่วยงานต่างๆ ทั้งภายใน และนอก ม.อ. ภาคเอกชน และชุมชนหลายเรื่องมากในจำนวนนี้หลายงานเป็นการทำให้แบบงานบุญงานกฐิน
10 ปีที่ผ่านมาของคณะ เป็น 10 ปีแห่งการสร้างบ้าน ลงหลักปักฐาน เป็นช่วงเวลาของการวางโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในด้านต่างๆ เป็นช่วงเวลาที่เราต้องลงทุนในด้านทรัพยากรมนุษย์ (Human Capital) เป็นช่วงเวลาที่คนเราต้องทำงานหนัก เพื่อเปิดโอกาสให้พวกเราจำนวนหนึ่งไปเรียนต่อ แม้คนเราน้อยแต่เราได้ทำหน้าที่อย่างเต็มศักยภาพในทุกด้านที่เป็นภารกิจหลักของเรา 10 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาของการค่อยๆ สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีขึ้นมา มันเป็นวัฒนธรรมที่ใช้ปัญญาเป็นเครื่องมือในการทำงาน ในการพัฒนาคนเพื่อทำให้องค์กรเป็นองค์กรที่น่าอยู่ คนในองค์กรเป็นคนที่มีความสุขในการทำงาน และรักองค์กร
ทศวรรษที่ 2 ของคณะเศรษฐศาสตร์
10 ปีข้างหน้าของคณะ จะเป็นช่วงเวลาที่คณะจะก้าวไปข้างหน้าอย่างก้าวกระโดด กำลังคนของเราที่ไปเรียนต่อจะทยอยกลับมา ในปีนี้คาดว่าจะเรียนจบปริญญาเอกกลับมาถึง 3 คน คณะในตอนนี้เปรียบเสมือนเครื่องบินโดยสาร ที่กำลังบินอยู่ในระดับสูงที่ยังไม่ถึงระดับความสูงที่เหมาะสมที่สุดในการบิน ในขณะที่เราบินไปข้างหน้าเราก็ไต่ระดับความสูงไปด้วย
ในช่วงทศวรรษที่ 2 ของคณะเราไปถึงระดับความสูงที่เหมาะสมได้อย่างแน่นอน เราจะเริ่มไดรับดอกผลจากการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ของเรา จะเป็นช่วงเวลาที่เราจะทำหน้าที่ตามภารกิจหลักของเรา ไม่ว่าจะเป็นการผลิตบัณฑิต การทำวิจัย และให้บริการวิชาการแก่สังคมได้อย่างเต็มที่ เป็นช่วงเวลาที่เรามีศักยภาพสูงขึ้นที่จะทำหน้าที่แสวงปัญญา พัฒนาคน(Seek Wisdom, Develop People) ให้สมบูรณ์ขึ้น.
(ข้อมูลจากจุลสารเศรษฐ์ตังค์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 ตุลาคม-ธันวาคม 2556 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)