xs
xsm
sm
md
lg

2 กฎเหล็กป้องกัน “ภาวะเลือดเป็นกรด”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปกติเลือดของคนเราจะมีความเป็นด่างอยู่นิดๆ คือมีค่า pH อยู่ที่ประมาณ 7.2-7.4 ซึ่งจะนับว่าเป็นคนที่มีสุขภาพ ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ แต่ทุกวันนี้คนเราเจอกับ “ภาวะเลือดเป็นกรด (acidosis หรือ hypo-Alkalinity)” มากขึ้น ซึ่งภาวะดังกล่าวจะทำให้เกิดอาการหิว อาหารไม่ย่อย มีอาการร้อนและรู้สึกเจ็บในคอหอยและช่วงอก มีอาการวิงเวียน อาเจียน ปวดศีรษะ โรคประสาทต่างๆ และอาการนอนไม่หลับ

ทั้งนี้ ภญ.สุมาพร ไทยเจริญ ได้เขียนบทความเกี่ยวกับภาวะเลือดเป็นกรดเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจในจุลสารโรงพยาบาลสระบุรี ซึ่ง ASTVผู้จัดการออนไลน์ ขอนำมาเผยแพร่ให้แฟนนานุแฟนโต๊ะข่าวคุณภาพชีวิต ดังนี้ ภาวะเลือดเป็นกรด มักพบได้บ่อย แต่ไม่ได้แสดงอาการที่บ่งบอกชัดเจน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่จะเกิดจากโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น ภาวะไตวาย โรคไต ความผิดปกติในการขับกรด ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรม รวมทั้งผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานด้วย นอกจากนี้ ยังเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันด้วย!!

พฤติกรรมประจำวันที่ส่งผลให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด ได้แก่ 1.การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ เต็มไปด้วยสารเคมี ฝุ่นละออง สารพิษ 2.การรับประทานอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่จะมีค่าเป็นกรดและล้วนเป็นอาหารที่แต่ละคนโปรดปรานทั้งนั้น เช่น อาหารฟาสต์ฟูด น้ำตาล ชา กาแฟ เนื้อสัตว์ แป้ง ผลไม้รสหวาน ไขมัน ถั่ว เม็ดมะม่วงฟิมพานต์ และ 3.ความเครียด ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะไปสะสมจนร่างกายมีปริมาณกรดในเลือดเพิ่มขึ้น หรือเมื่อปริมาณสารที่มีฤทธิ์เป็นด่างในเลือดลดลง แม้ว่าจะเป็นระดับที่เล็กน้อยก็ส่งผลให้ความสามารถในการขนส่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้รับลดลง เกิดการสะสมของกรดในเนื้อเยื่อ จึงเรียกสภาวะเช่นนี้ว่า “ภาวะเลือดเป็นกรด” และจะทำให้ร่างกายเสื่อมลงช้าๆ และรบกวนการทำงานของร่างกาย

สำหรับวิธีการป้องกันภาวะเลือดเป็นกรด สามารถทำได้ 2 วิธี คือ 1.รับประทานอาหารให้ร่างกายได้รับอาหารที่เป็นด่าง (อัลคาไลน์) เพราะเมื่อมีการรับประทานอาหารที่เหมาะสม ร่างกายก็จะลดการเสื่อมสภาพลง ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างภาวะด่างในร่างกายขึ้นมา การรับประทานอาหารที่มีความเป็นด่างมากๆ จะช่วยให้ร่างกายทำงานดีขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปการรับประทานอาหารเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราได้รับอาหารที่เป็นทั้งกรดและด่าง โดยที่โภชนาการอุดมคติที่ควรจะเป็นนั้น จะต้องประกอบด้วย อาหารที่เป็นด่าง (อัลคาไลน์) 75% และกรด (อะซิติก) 25% ของปริมาณอาหารทั้งหมดในแต่ละมื้อ

อาหารที่เป็นด่าง จะมีค่า pH ระหว่าง 7.0-9.0 อาทิ แตงกวา สาหร่าย แคนตาลูป เลมอน (มะนาวฝรั่ง) กีวี แอปเปิล อะโวคาโด ถั่วเหลือง บร็อกโคลี เยื่อไผ่ ฟักทอง ข้าวโพด อัลมอนด์ ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ผักบุ้ง แครอต ขึ้นฉ่าย กระเทียม ลูกแพร์ องุ่นแห้ง ฝรั่ง ปวยเล้ง ชาเขียว กะหล่ำปลี แตงโม และมะเขือเทศ เป็นต้น

ส่วนอาหารที่เป็นกรด จะมีค่า pH ระหว่าง 5.0-7.0 อาทิ น้ำตาลสังเคราะห์ เนื้อวัว เนื้อหมู น้ำอัดลม แป้งทำขนม เบียร์ สุรา ป็อปคอร์น อาหารแช่แข็ง น้ำสมสายชู เนื้อแกะ เนื้อแพะ ไก่งวง กาแฟ บะหมี่สำเร็จรูป เนยสังเคราะห์ ข้าวขัดสี อาหารกระป๋อง สีผสมอาหารสังเคราะห์ ช็อกโกแลต ผงชูรส อาหารที่ทอดด้วยน้ำมัน เป็นต้น

และ 2.การออกกำลังกายที่เหมาะสม จะทำให้ร่างกายอยู่ในสภาพที่เป็นด่าง แต่ต้องระมัดระวังอย่าออกกำลังกายมากจนเกินไปคือ เลยจุดความอ่อนล้า เพราะจะเกิดภาวะเลือดและเนื้อเยื่อในร่างกายมีความเป็นกรดมากเกินไป นอกจากนี้ เซลล์ที่ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอต่อความต้องการ จะส่งผลให้การหายใจระดับเซลล์บกพร่องจนค่า pH ต่ำลง และจะหันไปใช้กระบวนการสลายกลูโคสแบบไม่ใช้ออกซิเจน ซึ่งผลที่ได้จะกลายสลายจะได้เป็นกรดแล็กติก จึงทำให้คนรู้สึกแย่กับการออกกำลังกายที่หักโหมจนเกินไป

ทั้งนี้ เนื่องจากกระบวนการล้างสารพิษในร่างกายทำงานไม่สมดุลกับกรดที่มีมากเกินไปในเนื้อเยื่อ และหากไม่มีการออกกำลังกายเลย กรดและสารพิษที่ถูกสร้างขึ้นมาในร่างกาย ก็จะไม่ถูกกำจัดออกไป ส่งผลให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรดได้เช่นกัน

หากอยากหลีกเลี่ยงภาวะเลือดเป็นกรด ก็ควรรับประทานอาหารอย่างถูกต้อง อย่ารับประทานอาหารที่เป็นกรดมาก และต้องออกกำลังกายให้เหมาะสม เท่านี้ก็จะช่วยให้มีร่างกายที่แข็งแรง ไม่มีภาวะเลือดเป็นกรดให้ยุ่งยากใจอีกต่อไป
 

กำลังโหลดความคิดเห็น