xs
xsm
sm
md
lg

จับตา “ไทยรัฐทีวี” ในวันที่ยังไม่มีจอแก้ว

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


บ่ายวันที่ 11 พ.ย. ขณะที่คนไทยกำลังลุ้นผลการตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีปราสาทพระวิหารนั้น เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ได้ขึ้นแบนเนอร์ “เกาะติดสถานการณ์ สดจากห้องส่งไทยรัฐทีวีเฉพาะกิจ” ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นหน้าตารายการข่าวของไทยรัฐทีวี ในช่วงที่ยังไม่ได้ออกอากาศผ่านจอโทรทัศน์

บนหน้าจอบราวเซอร์ของเว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ ได้ฝังโค้ดหน้าจอโทรทัศน์ขนาด 900x507 พิกเซล ซึ่งถือว่าจอใหญ่ดูสบายตา เมื่อเทียบกับอินเตอร์เน็ตทีวี หรือเว็บไซต์สถานีโทรทัศน์เจ้าอื่นๆ ที่มีขนาดหน้าจอปานกลาง หากจะดูขนาดใหญ่กว่านี้ต้องเปิดเมนูแบบเต็มหน้าจอ แต่เสียอย่างเดียวคือไม่สามารถเลื่อนเวลาเพื่อชมรายการย้อนหลังได้

ไทยรัฐทีวีเฉพาะกิจในวันนั้นเป็นรายการพิเศษ “วันพิพากษานิรโทษ-พระวิหาร” ออกอากาศตั้งแต่ 15.00 น. ถึง 19.30 น. ยาวนาน 4 ชั่วโมงครึ่ง ผู้ประกาศข่าวหลัก คือ พีระวัฒน์ อัฐนาค อดีตผู้ประกาศข่าวมันนี่แชนแนล กับ รสริน ชนะมิตร์ อดีตผู้ประกาศช่อง 11 อีกด้านหนึ่ง โมไนย เย็นบุตร อดีตผู้ประกาศเนชั่นทีวี สัมภาษณ์แขกรับเชิญที่โต๊ะถัดมา

ฉากหลังไทยรัฐทีวี รวมทั้งกราฟฟิกส์เสมือน ไทยรัฐทีวีว่าจ้างบริษัท Vizrt (วิซ อาร์ที) ผู้ผลิตเนื้อหาดิจิตอลเรียลไทม์คอมพิวเตอร์ชื่อดัง ซึ่งเคยสร้างผลงานช่วงรายงานผลการเลือกตั้ง ออกแบบกราฟฟิกให้กับช่อง นอกจากเป็นภาพของปราสาทพระวิหารแล้ว ธีมของไทยรัฐทีวีจะเน้นโทนสีเขียว ซึ่งเป็นสีประจำของสำนักข่าวหัวเขียวอีกด้วย

แบบอักษรที่ใช้สำหรับไทยรัฐทีวีนั้น เป็นฟอนท์ลิขสิทธิ์ราคาแพง อย่างแบบอักษร DB Ozone X ตัวหนา ที่ไทยรัฐทีวีและไทยรัฐออนไลน์นำมาใช้นั้น ราคาลูกค้าองค์กรที่นำมาใช้กับหลากสื่อ ค่าลิขสิทธิ์ฟอนท์คิดชุดละ 107,000 บาท ส่วนแบบอักษรสำหรับขึ้นซีจีนั้นใช้ PSL Kanda Extra ซึ่งค่าลิขสิทธิ์นั้นจะถูกกว่าตระกูลดีบี

แต่เมื่อพิจารณาถึงการใช้แบบอักษร และการออกแบบซีจี ก็ต้องบอกว่า ไทยรัฐทีวีพยายามเปลี่ยนภาพของความเป็นหนังสือพิมพ์หัวสีแบบชาวบ้าน ที่ต้องมีแบบอักษรไทยรัฐพาดหัว (เป็นตระกูลเจเอส ชื่อ JS Kobori Allcaps) กลายมาเป็นทีวีที่มีภาพลักษณ์ของความเป็นกรุงเทพฯ และหัวเมืองต่างจังหวัดมากขึ้น โดยการใช้แบบอักษรที่สื่อถึงความทันสมัย

สอดคล้องกับเสียงจากคนที่ทำงานในไทยพีบีเอสว่า ไทยรัฐทีวีได้ซื้อตัวคนทำคอมพิวเตอร์กราฟฟิกมือหนึ่งของช่อง ที่วาดฝีมือให้ทีวีสาธารณะมีความทันสมัย ไปร่วมงานที่นั่น

เมื่อดูรูปแบบรายการข่าวตลอด 4 ชั่วโมงครึ่ง พบว่าไทยรัฐทีวีมีกลิ่นอายคล้ายกับสปริงนิวส์ ที่เน็นความรวดเร็วของข่าว โดยมีการรายงานสดจากถนนราชดำเนิน ซึ่งเป็นพื้นที่ชุมนุมต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีแขกรับเชิญซึ่งเป็นนักวิชาการ การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์แก่บุคคลในข่าว และคู่ขัดแย้งต่างๆ เช่น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.

ที่เป็นเช่นนี้เพราะคนที่ทำไทยรัฐทีวีส่วนหนึ่งมาจากค่ายสปริงนิวส์ โดยเฉพาะ “ฉัตรชัย ตะวันธรงค์” อดีตซีอีโอสปริงนิวส์ วันนี้เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ (ซีโอโอ) ของไทยรัฐทีวีเมื่อต้นปี 2556 และเครือญาติอย่าง “ระวี ตะวันธรงค์” ที่วันนี้หันมาเป็นบรรณาธิการโซเชียลทีวีของไทยรัฐทีวี ขณะที่ลูกน้องบางส่วนก็มาจากสปริงนิวส์เช่นกัน

แหล่งข่าวที่เคยทำงานอยู่ที่สปริงนิวส์ เปิดเผยกับเราว่า ไทยรัฐทีวีนั้นเฟสแรกลงทุนไป 400 ล้านบาท ไม่รวมเฟสต่อไป แต่เฟสสุดท้ายจะใช้พนักงานสูงถึง 700 คน ซึ่งใหญ่กว่าไอทีวี เขายอมรับว่า ไทยรัฐกล้าลงทุนเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือ แต่คนที่ย้ายมาอยู่ไทยรัฐทีวีก็ไม่ได้หมายความว่าเงินเดือนจะดีกว่า ส่วนใหญ่ได้กันเท่าเดิม

แต่ถึงกระนั้น แหล่งข่าวยังทิ้งท้ายประโยคเป็นปริศนา คือ “รูปแบบรายการที่ไทยรัฐทีวีจะเจ๋งมาก พี่ซัน(ชื่อเล่นของฉัตรชัย) ไปสร้างที่โน่นแล้ว” กระตุ้นให้อยากรู้ว่าไทยรัฐทีวีว่าหน้าตาจะเป็นยังไง

อย่างไรก็ตาม ในการประมูลทีวีดิจิตอลที่กำลังจะมาถึงนี้ ไทยรัฐทีวีไม่ได้ประมูลช่องข่าวตามที่หลายฝ่ายได้วิเคราะห์ โดยหันมาสนใจประมูลช่องวาไรตี้ความคมชัดธรรมดา (เอสดี) ซึ่งมีผู้ยื่นซองประมูล 16 บริษัท จากสัมปทานทั้งหมด 7 ช่อง และวาไรตี้ความคมชัดสูง (เอชดี) มีผู้ยื่นซองประมูล 9 บริษัท จากสัมปทานทั้งหมด 7 ช่อง

เหตุที่ไทยรัฐเลือกประมูลช่องวาไรตี้ แทนที่จะเป็นช่องข่าวเหมือนสื่อค่ายอื่น อาจเป็นเพราะช่องข่าวแม้จะได้ ชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือ แต่ส่วนใหญ่ขาดทุน ไอทีวีที่มีชื่อเสียงเรื่องข่าว สุดท้ายต้องปิดตัวเพราะขาดทุนจากค่าสัมปทาน หรือจะเป็นช่องสปริงนิวส์ ถึงจะมีรายได้จากโฆษณา 7-8 ล้านบาท แต่ก็มีรายจ่ายสูงถึง 13-14 ล้านบาทต่อเดือน

ฉัตรชัยในฐานะคนที่ออกแบบพิมพ์เขียวให้กับไทยรัฐทีวี คงรู้ดีว่า หากจะให้ไทยรัฐทีวีเป็นสถานีข่าวแบบเน้นๆ ก็จะเสี่ยงต่อการขาดทุนมหาศาล จึงกำหนดบุคลิกไทยรัฐทีวีให้กลายเป็นช่องวาไรตี้ คล้ายกับช่อง 3 ที่แม้จะมีสัดส่วนรายการข่าวไม่มาก แต่ก็เน้นเป็นพิเศษ ใช้ชื่อ “ครอบครัวข่าว 3” โดยใส่ความเป็นวาไรตี้และข่าวชาวบ้านลงไป

ทายาทรุ่นที่สามของกำพล วัชรพล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จูเนียร์-วัชร วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และเจ้าของไทยรัฐทีวี กล่าวกับเว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ ว่า ถึงแม้จะไม่มีความถนัด แต่ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทีวีจะเป็นอนาคตใหม่ของไทยรัฐในยุคต่อไป

เขามีเป้าหมายกับตัวเองไว้ว่า ในอนาคตธุรกิจทีวีจะต้องทำรายได้สูงสุดให้กับไทยรัฐ จากที่ตอนนี้มีรายได้หลักจากหนังสือพิมพ์ ขณะนี้ไทยรัฐทีวีได้เตรียมความพร้อมเกือบหมดแล้ว เหลือเพียงทดลองออกอากาศภายใน เบื้องต้นกำหนดเนื้อหาข่าวและสาระเป็นหลักราวร้อยละ 50 อีกส่วนหนึ่งเป็นรายการที่จับมือกับพันธมิตรรายใหญ่หลายราย

จูเนียร์ กล่าวว่า “ไทยรัฐถือเป็นสื่อหนังสือพิมพ์รายใหญ่ที่สุดและเป็นรายสุดท้ายที่เข้าสู่ธุรกิจทีวี เราไม่เคยทำทีวีมาก่อน ไม่เคยแม้กระทั่งลอง เรารอจนกว่าทุกอย่างตกผลึก รอให้โอกาสลงตัว และนี่คือโอกาสสำคัญ เพราะช่องทีวีดิจิตอลที่นำออกประมูลในครั้งนี้เป็นช่องระดับประเทศ”

จากที่จูเนียร์เปิดเผยว่าไทยรัฐทีวีจะมีรายการที่ผลิตโดยพันธมิตรรายใหญ่ หนึ่งในนั้นคาดการณ์ได้ไม่ยากคือ โพลีพลัส เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ผู้ผลิตรายการบันเทิงป้อนให้กับฟรีทีวีหลายช่อง เนื่องจาก นิด-อรพรรณ วัชรพล กรรมการบริษัทนั้นเป็นภรรยาของ สราวุธ วัชรพล เจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ทายาทรุ่นที่สองของกำพล

อันที่จริงไทยรัฐทีวีมีแผนที่จะทดลองออกอากาศนานแล้ว แต่ก็ต้องประสบปัญหาต้องเลื่อนออกไปหลายครั้ง อย่างจุลสารราชดำเนิน ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เคยระบุเอาไว้ว่าไทยรัฐทีวีจะทดลองออกอากาศในเดือนสิงหาคม 2556 แต่สุดท้ายก็เลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด ทั้งๆ ที่ทีมงานก็เตรียมพร้อมมานานแล้ว

แต่ถึงกระนั้น เมื่อ 19 กันยายน 2556 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 7 ปีของเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 ไทยรัฐทีวีได้เชิญสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี สัมภาษณ์ถาม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าพร้อมจะหยุดเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งต่อมา พ.ต.ท.ทักษิณได้สไกป์เพื่อตอบนายสุเทพ เผยแพร่ผ่านทางไทยรัฐออนไลน์

ปัจจุบันไทยรัฐทีวีได้ผลิตรายงานพิเศษเผยแพร่ผ่านทางไทยรัฐออนไลน์ และยูทิวบ์ภายใต้ชื่อ “thairathonline” โดยมีเนื้อหาทั้งการเมือง สังคม และไลฟ์สไตล์ วีดีโอคลิปที่ให้ความสนใจมากที่สุดก็คือ คลิปข่าวสถานการณ์ทางการเมือง อย่างการสัมภาษณ์นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย

ส่วนการทดลองออกอากาศนั้น เป็นที่คาดหมายว่า ไทยรัฐทีวีมีเคเบิ้ลทีวีเบอร์สองอย่างซีทีเอช เจ้าของลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ซึ่งไทยรัฐลงทุนร้อยละ 25 และส่งจูเนียร์เป็นรองประธานกรรมการ ลูกค้ากว่า 2 ล้านรายจะเป็นผู้ชมกลุ่มแรกที่ได้ดูไทยรัฐทีวีก่อนใคร โดยไทยรัฐทีวีถูกบรรจุช่องรายการเป็นช่องที่ 1 ออกอากาศด้วยระบบเอชดีรองรับไว้แล้ว

ในยุคที่ธุรกิจสิ่งพิมพ์กำลังหนีตายจากวิกฤตสื่อใหม่ (New Media) เข้ามาแทนที่ มีสถานีข่าวผ่านดาวเทียมผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด มีผู้เล่นหน้าใหม่จากธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์กระโดดเข้ามายังสื่อทีวีมากยิ่งขึ้น การลงมาเป็นผู้เล่นในธุรกิจทีวีของหนังสือพิมพ์หัวสีที่มีอายุยาวนานกว่า 60 ปี อาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการทำทีวีมีความสลับซับซ้อนมากกว่าการเขียน

หากแต่การมีแม่ทัพที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงสื่อมายาวนาน ประกอบกับสายสัมพันธ์ผู้ผลิตรายการทีวีรายใหญ่ เมื่อมีพิมพ์เขียวที่ดี เป้าหมายที่ไทยรัฐทีวีจะทำรายได้สูงสุดแทนที่หนังสือพิมพ์ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เทียบกับตระกูลมาลีนนท์ ช่อง 3 และตระกูลรัตนรักษ์ ช่อง 7 สี ที่ฟรีทีวีทั้งสองช่องผูกขาดสังคมไทยมานาน
กำลังโหลดความคิดเห็น