6 ปี นับตั้งแต่มาร์เวล สตูดิโอ ขยับบทบาทลงมาเล่นในตำแหน่งผู้สร้างผู้ผลิตภาพยนตร์ด้วยตนเอง ค่ายหนังที่มีรากฐานจากการเป็นค่ายหนังสือคอมิคส์แห่งนี้ก็มีผลิตผลออกสู่สาธารณะมาโดยตลอดแทบจะทุกปี รวมแล้วทั้งหมด 8 เรื่อง ซึ่งรวมถึง Thor ภาคสอง ที่ใช้ชื่อขยายว่า The Dark World และคงไม่ใช่คำกล่าวที่เกินจริง ถ้าจะบอกว่า ผลงานทุกชิ้นของมาร์เวลนั้น ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในแง่ของรายรับ และหลายเรื่องก็มีคำสรรเสริญจากคนดูผู้ชมไปแบบสมควรแก่ฐานะ
ว่ากันอย่างสัตย์ซื่อ โดยส่วนตัว ผมมองว่ามาร์เวล สตูดิโอ นั้น ค่อนข้างวางพิกัดให้กับตัวเองได้ดี ในการสร้างหนังที่มุ่งตอบสนองความบันเทิงแก่คนดูผู้ชมเป็นอันดับแรก แล้วสอดแทรกเรื่องของเนื้อหาสาระเข้ามาเป็นส่วนรองและไม่สลับซับซ้อน และอาจเป็นเพราะเหตุนี้ที่ทำให้หนังของมาร์เวลสามารถกวาดต้อนคนดูได้แทบจะครบทุกวัย ไล่ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ จะว่านี่เป็นกลยุทธ์ด้านการตลาดซึ่งถูกกำหนดไว้อย่างเข้าอกเข้าใจก็คงไม่ผิด การทำหนังบล็อกบัสเตอร์ให้ประสบความสำเร็จด้านรายรับ ความลึกลับซับซ้อนไม่ควรจะมาก่อนตัวเลขรายรับที่จะปรากฏบนตารางบ็อกซ์ออฟฟิศ กล่าวเช่นนี้ ผมไม่ได้จะบอกว่ามาร์เวลนั้นตื้นเขินนะครับ เพียงแต่รู้สึกว่าเขาเก่งในการบาลานซ์เนื้อหาเรื่องราวให้เหมาะสำหรับคนดูหลากกลุ่มหลายวัยได้
และเหนืออื่นใด ต้นทุนวัตถุดิบในแง่คาแรกเตอร์ของซูเปอร์ฮีโร่ในจักรวาลมาร์เวลแต่ละตัว ต่างก็มีเสน่ห์เฉพาะตัวในแบบของตน ทุกๆ ตัว ต่างมี “คนรัก” อันหมายถึงแฟนคลับเป็นของตนเอง ซึ่งจริงๆ แฟนคลับเหล่านั้นก็อาจจะนิยมชมชอบฮีโร่ทั้งหมดไปพร้อมๆ กัน หากแต่ชมชอบในมุมที่แตกต่างกันไป ผมพูดไว้หลายครั้งว่า ความสำเร็จอะไรก็ตามที จะตามมาแน่นอน หากสามารถทำให้ตัวละครเป็นที่รักของคนดูได้ และสำหรับเทพเจ้าสายฟ้านามว่า “ธอร์” เขาก็มีคนรักของเขาเป็นจำนวนมากมายอย่างไม่อาจปฏิเสธ
...หลังจากเว้นวรรคไปพักใหญ่ บรรดาวายร้ายดาร์คเอลฟ์ ซึ่งนำโดย “มาเลคิธ” ก็หวนฟื้นคืนชีพสู่จักรวาลอีกครั้ง ด้วยความหวังอันชั่วร้ายว่าจะต้องครองความเป็นใหญ่เหนือดินแดนทั้งเก้าให้จงได้ เทพเจ้าสายฟ้าแห่งดินแดนแอสการ์ด จำต้องปฏิบัติภารกิจครั้งใหม่เพื่อพิชิตผีร้ายจากอดีตอีกรอบ โดยมีหญิงสาวจากโลกมนุษย์คนเดิม “เจน ฟอสเตอร์” กับสมาชิกของเธอ ถูกลากดึงเข้ามาเกี่ยวข้องในสถานการณ์ขัดแย้งครั้งนี้ด้วย...
นี่คือพล็อตเรื่องโดยย่อของธอร์ภาคใหม่ ซึ่งอันที่จริง ยังมีพล็อตรองที่ว่าด้วยความทะเยอทะยานอยากเป็นใหญ่ของโลกิขนาบขนานไปด้วย และพูดก็พูดเถอะ ผมว่านี่คือเสน่ห์ของหนังในแบบมาร์เวลนะครับ ที่แม้จะไม่ได้เน้นความลึกซึ้งซับซ้อน แต่ก็ยังมีก้อนความคิดอะไรบางอย่างที่ทำให้หนังไม่กลวงเปล่าเกินไป สงครามกับผู้ร้ายก็ดำเนินไปตามวิถีทางของมันอย่างที่ควรจะเป็น แต่ก็ยังมีอะไรพอให้เก็บเกี่ยวได้บ้างนอกเหนือไปจากมหาสงครามที่วางกล้ามใหญ่โต สังเกตก็ได้ครับ อย่างใน Iron Man เนื้อหาที่จะแขวนอยู่ในความทรงจำของคนดู ก็คือ ความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์เตารีดที่ต่อสู้ขัดแย้งกันเองอยู่ภายใน การไปสู้กับตัวร้ายที่เป็นพล็อตใหญ่ ก็จึงเป็นเพียงภารกิจที่พึงกระทำโดยมโนสำนึกหรือเพราะรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ หรือแม้กระทั่ง The Avengers ที่เอาเข้าจริง การฟาดฟันกับศัตรูผู้รุกรานซึ่งวางไว้เป็นธีมหลักก็เป็นเพียงส่วนที่ให้ความเอนเตอร์เทนโครมคราม แต่ความน่าประทับใจของเรื่อง กลับเป็นการรวมกลุ่มกันของบรรดาซูเปอร์ฮีโร่ ที่กว่าจะรวมกันได้ ก็ยากเย็น
และก็เช่นเดียวกัน สำหรับธอร์ภาคสอง กลุ่มก้อนความคิดที่จะหลงเหลืออยู่ในความทรงจำของคนดู หลังจากบันเทิงเริงใจไปกับสงครามการต่อสู้ระหว่างฝ่ายดีและฝ่ายร้าย พร้อมกับเคี้ยวป็อปคอร์นอย่างอร่อยลิ้น...ก็คือเรื่องราวระหว่างโลกิกับธอร์ซึ่งผมคิดว่าหนังเล่นกับประเด็นนี้ได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โลกิผู้น้องที่สมควรต่อการได้รับขนานนามว่าเป็น “บุรุษหลายหน้า” นั้น ถือเป็นตัวละครที่แต่งเสริมเติมมิติให้กับเรื่องราวได้เป็นอย่างดี เราอาจเกลียดโลกิที่เขามุ่งมั่นเหลือเกินต่อการได้นั่งเหนือบัลลังก์กษัตริย์ แต่หนังก็พยายามหาเหลี่ยมหามุมอื่นๆ ให้เขาได้หยัดได้ยืนอยู่ ตัวร้ายแบบโลกิจึงมีมิติที่เหวี่ยงไประหว่างด้านมืดด้านสว่าง ตรงกันข้ามกับตัวเอกของเรื่องอย่างธอร์ที่ต้อง “หล่อ” ตลอดเวลาตามธรรมดาของฮีโร่ตัวเอก ความน่าประทับใจของหนังประมาณครึ่งหนึ่ง จึงตกอยู่ที่ตัวของโลกิผู้นี้ เพราะจะ “ร้าย” ก็ได้ หรือจะ “ตลกร้าย” ก็ได้อีก
เดอะ ดาร์ก เวิลด์ มีองค์ประกอบทุกส่วนที่ควรจะมี ไล่ตั้งแต่ตัวละครหลากสีสัน เจน ฟอสเตอร์, ดาซี่ ไปจนกระทั่งถึงผู้ช่วยของดาซี่ หรือแม้แต่ด็อกเตอร์อัจฉริยะสติเฟื่อง ทุกบทบาทของทุกตัวแสดง ช่วยแต่งเติมเสริมอรรถรสของหนังให้มีความเพลิดเพลินเจริญใจในการรับชม หนังเปี่ยมด้วยอารมณ์ขัน พอๆ กับฉากแอ็กชั่นที่เกลี่ยไว้ตลอดรายทาง อีกทั้งยังมีความดราม่านิดๆ เป็นจุดแวะพักเว้นวรรคจากเสียงอึกทึกของการต่อสู้ ทั้งหมดทั้งมวล หลอมรวมเป็นความบันเทิงตามแบบฉบับที่น่าจะถูกใจมหาชนคนดู และก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า เทพเจ้าสายฟ้าจะมีภาคสามตามมาอย่างแน่นอน ผ่านภาพในช่วงเอ็นเครดิตและข้อความที่ขึ้นบอกอย่างชัดเจนว่าจะกลับมาพบกันอีกในภาคต่อไป
อย่างไรก็ดี ถ้าจะมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ผมขอตั้งเป็นสังเกตไว้ ก็คือ ส่วนของตัวร้ายของเรื่อง ซึ่งมีการปูพื้นอย่างดิบดีราวกับว่าจะมีพิษสงล้ำเหลือนักหนา แต่สุดท้ายก็มักจะพบกับจุดจบอย่างง่ายๆ ซึ่งจะว่าไป นี่เป็นปรากฏการณ์ปกติในหนังของมาร์เวลแทบทุกเรื่องเลยก็ว่าได้ ลองย้อนกลับไปดู The Avengers หรือแม้แต่ Iron Man บางภาค ตัวผู้ร้าย นอกจากจะไม่ได้มีมิติอะไรแล้ว ยังตายง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ ดิ อเวนเจอร์ส นี่ค่อนข้างชัด อุตส่าห์ไปรวมพลกองทัพฮีโร่มาห้าหกชีวิต แต่ถึงบทตัวร้ายจะสิ้นฤทธิ์ ก็ง่ายดายราวกับปลิดใบไม้ใบหนึ่ง
แต่คิดอีกที แบบคิดเล่นๆ บางที นี่อาจเป็นปริศนาธรรมของมาร์เวลก็ได้นะครับ เพราะความร้ายแท้จริงในมุมมองของมาร์เวล อาจไม่ใช่ไอ้พวกที่เปิดหน้าเปิดตากันมาให้เห็นอย่างเด่นชัดจะแจ้ง และถ้ามันจะตายอย่างง่ายๆ ก็นับว่าสมควร เพราะดันเสนอหน้าว่าเป็นตัวร้าย ก็ต้องถูกกำจัดไปตามระเบียบ แต่ไอ้พวกที่แบบว่าเหมือนจะดีก็ไม่ใช่ จะร้ายก็ไม่เชิง นี่ต่างหากที่น่าจับตาดูมากกว่า และในแง่นี้ ก็คงไม่มีใครเก๋าได้ใจเกินไปกว่าท่าน “โลกิ” ของผม หรือว่าไม่จริง??