xs
xsm
sm
md
lg

อย่าคิดว่าการเลือกตั้งคือ “หน้าที่” ถ้าต้องใช้สิทธิในกระบวนการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.อนันต์ บุญโสภณ ราษฎรอาวุโส จ.สงขลา
นพ.อนันต์ บุญโสภณ ราษฎรอาวุโส จ.สงขลา ฝากถึงคนไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย อย่าคิดเพียงว่าการเลือกตั้งคือหน้าที่ และจะทำให้เสียสิทธิ แต่มันจะต้องเป็นการรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย รักษาไว้ซึ่งอำนาจของประชาชน ถ้าไปเลือกแล้วเป็นการส่งเสริมให้อำนาจของประชาชนสูญเสีย นั่นไม่ใช่หน้าที่ของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย

ท่ามกลางวิกฤตการเมืองในขณะนี้ และรัฐบาลยังเดินหน้าให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.2557 มีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วย กลุ่มที่คัดค้าน กลุ่มไทยเฉย และที่ชัดเจนเป็นเอกภาพ คือ กลุ่ม กปปส.ซึ่งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือกำนันสุเทพ เลขา กปปส. ปักธงแล้วว่ามวลมหาประชาชน กปปส.จะไม่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และยังมีการเดินรณรงค์ให้ประชาชนในกรุงเทพมหานครไม่ไปเลือกตั้งอีกด้วย สำหรับในพื้นที่ภาคใต้เองก็ค่อนข้างจะชัดเจนแล้วว่า หลายจังหวัดไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ายังคงมีประชาชนที่ยังคิดไม่ตกว่า วันที่ 2 ก.พ.นี้ ควรจะไป หรือไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

นพ.อนันต์ บุญโสภณ ราษฎรอาวุโส จ.สงขลา ได้แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า รัฐบาลยังดื้อดึงที่อยากจะให้มีการเลือกตั้ง และพยายามที่จะให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น คนที่ไม่เข้าใจระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง เขาก็จะคิดว่าการเลือกตั้งคือหน้าที่ กลัวจะเสียสิทธิโดยไม่รู้ว่าสิทธินั้นสำคัญจริงแค่ไหน เลยอยากที่จะไปทำหน้าที่ อยากที่จะไปเลือก สำหรับคนที่รู้แล้วว่าระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงเป็นยังไง ก็จะเข้าใจว่าวิธีการเลือกตั้งมันแค่เป็นวิธีการหนึ่งที่สรรหาตัวแทนให้ไปทำหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่งในสภา

อย่างเช่น เราจะเลือกใครเป็นตัวแทนไปทำหน้าที่ในสภาเราก็เลือกเขาไปได้ ในการเลือกตั้งในสภาเป็นการเลือกตั้งทั่วไป แต่การเลือกตั้งในระบอบเผด็จการเขาก็เลือกตั้งได้ ซึ่งเป็นการเลือกตั้งแบบเผด็จการ โดยใช้อำนาจเผด็จการเขาสรรหามาเรียบร้อยแล้ว และต้องเลือกคนเหล่านี้เท่านั้น และก็บังคับให้ประชาชนเข้าไปเลือก พอประชาชนเลือกแล้วก็เป็นข้ออ้างว่า ประชาชนเลือกแล้ว แต่ในระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นการเลือกตั้งที่เสรี และเป็นธรรม อย่างถูกต้องตามหลักการระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง
 
ถ้าเข้าใจตรงจุดนี้ แล้วก็ต้องย้อนกลับไปดูว่าการเลือกตั้งที่เป็นอยู่ หรือที่ผ่านมาแล้ว ถูกต้องตามหลักการ วิธีการระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงหรือเปล่า มีอิทธิพลอื่นมาแทรกแซงการเลือกตั้งหรือเปล่า มีการใช้เงิน หรืออิทธิพลอื่นมาบังคับหรือเปล่า แต่ถ้ามีสิ่งเหล่านั้นมาแทรกแซงก็แสดงว่า การเลือกตั้งไม่ใช่การเลือกตั้งที่เสรี ซึ่งมาจากเสียงประชาชนที่แท้จริงก็จะกลายเป็นประชาธิปไตยที่จอมปลอม ฉะนั้นการเลือกตั้งกลายเป็นการไปส่งเสริมคนที่อ้างว่าการเลือกตั้งมาจากประชาชน ซึ่งเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเรามา 81 ปีแล้ว ที่อ้างการเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่เลย

นพ.อนันต์ กล่าวต่ออีกว่า มีคำกล่าวสากลของการต่อสู้ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง หรือเมื่อก่อนประชาชนรู้แล้วว่า ระบอบประชาธิปไตยเป็นยังไง และเมื่อมีกฎเกณฑ์มาบังคับใช้ที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ก็จะเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะลุกขึ้นคัดค้าน ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของเขา

“เมื่อประชาชนรู้แน่ว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างไร และสิ่งที่เกิดขึ้นผิดจากประชาธิปไตยอย่างไร ในขณะที่รัฐบาลเสนอสิ่งต่างๆ ที่เป็นของปลอม เมื่อประชาชนรู้ว่าสิทธิเสรีภาพของพวกเขาถูกลิดรอนไป และวิธีการที่นำมาบังคับใช้นั้น ไม่นำไปสู่การปฏิรูป หรือการสร้างสรรค์ระบอบประชาธิปไตยเลย ประชาชนก็ต้องลุกขึ้นต่อสู้ แต่การต่อสู้ของประชาชนเป็นไปอย่างเป็นขั้นตอน และเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด”

ซึ่งประชาชนเริ่มจากการพูดเจรจาดีๆ ทักท้วง ให้เหตุผล แต่ในเมื่อรัฐบาลไม่รับฟังเลย ถึงขั้นกับทำร้ายกันในที่สาธารณะ และฆ่ากันให้ตายเลย ซึ่งไม่เกรงกลัวประชาชน และชาวโลก ฉะนั้นจะให้ประชาชนขอร้องคงเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นแล้วก็เป็นธรรมชาติของคนที่จะต้องลุกขึ้นมาสู้ แม้แต่ในทางธรรมก็ต้องรักษาธรรมถึงแม้จะต้องเสียชีวิต ซึ่งประชาชนได้ก้าวไปถึงขั้นนี้แล้ว เขายอมตายเพื่อรักษาความเป็นธรรม และรักษาความถูกต้อง พวกเขาเหล่านั้นควรที่จะได้รับความสรรเสริญด้วยซ้ำ

สำหรับเรื่อง “โหวตโน” และ “โนโหวต” ประชาชนที่เลือก โนโหวต เขารู้แล้วว่ามันไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยเป็นหน้าที่ที่ถูกบังคับให้ไปเลือก เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หากไปเลือกก็เท่ากับเป็นการส่งเสริมระบอบเผด็จการให้ดำเนินต่อไป ประชาชนหลายคนเลยตัดสินใจที่ไม่ไปเลือกตั้ง เพราะประชาชนปฏิเสธแล้วกับโครงสร้างอำนาจที่เป็นอยู่ในขณะนี้ แต่สำหรับ โหวตโน เป็นการยอมรับกติกาที่เป็นอยู่ เพียงแต่ว่าเลือกที่จะไม่เลือกใคร ซึ่งกลายเป็นว่ายอมรับกติกา

“เมื่อวิเคราะห์มาได้แบบนี้แล้ว ตัวผมเองก็เลือกที่จะโนโหวต เพราะไปโหวดก็เท่ากับยอมรับกติกา ย้อนกลับไปในอดีตเมื่อรู้แล้วว่าไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย แต่ทำไมถึงไปเลือกตั้ง ก็เป็นเพราะเมื่อก่อนเหตุการณ์ไม่ดุเดือดเสียเลือดเนื้อเหมือนกับคราวนี้ ที่มีเผด็จการออกมาเข่นฆ่าประชาชน เพราะฉะนั้นเมื่อก่อนคิดว่าค่อยๆ พูดเจรจากัน ถ้ารัฐบาลมีจิตสำนึกดีอยู่บ้าง ก็จะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นวิวัฒนาการไม่ใช่ปฏิรูป และไม่ใช่ปฏิวัติ ก็จะเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดี แต่คราวนี้เป็นการยืนยันแล้ว เพราะถึงกับฆ่าให้ตายเมื่อไม่เห็นด้วย”

ฉะนั้น ประชาชนหมดทางเลือกเลย ประชาชนบางคนเข้าใจว่าการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ทางกฎหมาย ประชาชนมีหน้าที่ไปเลือกตั้ง ซึ่งถ้าประชาชนที่เข้าใจดีก็จะรู้ว่าหน้าที่คือ การรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย รักษาไว้ซึ่งอำนาจของประชาชน แต่ถ้าไปเลือกแล้วเป็นการส่งเสริมให้อำนาจของประชาชนสูญเสียไป หมายถึงไม่ใช่หน้าที่ของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ฉะนั้นการที่ใครที่เข้าใจว่าต้องไปเลือกซึ่งเป็นหน้าที่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย แสดงว่า คนนั้นไม่เข้าใจประชาธิปไตย นพ.อนันต์ กล่าว


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น