xs
xsm
sm
md
lg

ดันทุรังเดินหน้าเลือกตั้ง 2 ก.พ. “ราดน้ำมัน” ดับไฟใต้?! / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
 
ในขณะที่กรุงเทพฯ กำลังกลายเป็นสมรภูมิของการก่อการร้าย มีการใช้ระเบิด และการซุ่มโจมตีด้วยอาวุธปืนก่อเหตุร้ายแทบจะรายวัน จนทำให้ข่าวการขับเคลื่อนเพื่อล้มรัฐบาลของ กปปส.ที่มี สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำกลายเป็นข่าวใหญ่มาโดยตลอดในเวลากว่า 2 เดือนที่ผ่านมา
 
จนทำให้ข่าวความรุนแรงจากการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้หลุดหายไปจากพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ และหน้าจอทีวี ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ ซึ่งดำเนินมาเป็นเวลา 10 ปี ยังคงดำรงอยู่ โดยที่เหตุร้ายที่เกิดจากระเบิดแสวงเครื่อง และการซุ่มโจมตีด้วยอาวุธปืนยังเกิดขึ้นรายวัน และมีเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งตำรวจ ทหารและประชาชนตกเป็นเหยื่อมาอย่างต่อเนื่อง
 
งานหลักของผู้นำหน่วยทั้งตำรวจ ทหาร และ ศอ.บต.คือ การรดน้ำศพ วางหรีดหน้าหีบศพ และจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ครอบครัวผู้เคราะห์ร้าย?!
 
สิ่งที่น่าสนใจคือ ตั้งแต่วันที่ 1 เดือน ม.ค.2557 เป็นต้นมา สถานการณ์ความรุนแรงที่แนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ได้นำมาปฏิบัติการอีกครั้งคือ การยิง “ชาวไทยพุทธ” เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ จ.ปัตตานี จ.ยะลา และที่ จ.สงขลา “ครู” ที่เริ่มรู้สึกว่าจะมีความปลอดภัยมากขึ้น กลับเริ่มกลายเป็นเหยื่อของแนวร่วม โดยมีชาวไทยพุทธเสียชีวิตแล้วในเดือน ม.ค.จำนวน 4 ราย และอาจจะมีรายที่ 5 และ 6 ตามมาอีกก็เป็นไปได้
 
อีกสิ่งที่น่าสนใจคือ “ความคาดหวัง” ของคนในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อ “การพูดคุยสันติภาพ” ระหว่างรัฐไทยกับผู้มีความเห็นต่าง หรือกลุ่มก้อนของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งมี “กลุ่มบีอาร์เอ็น” เป็นผู้นำ ซึ่งเริ่มมีการพูดคุยกันระหว่างบีอาร์เอ็นกับ สมช.โดยมีตัวแทนของประเทศมาเลเซียเป็นผู้ประสานงานที่เริ่มมาตั้งแต่เดือน ก.พ.2556 เป็นต้นมานั้น
 
บัดนี้ความหวังของคนใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้พังพาบลงอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นความ “หมดหวัง” เพราะหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมือง จนมีการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.ปิดกรุงเทพมหานคร และรัฐบาลกลายเป็นรัฐบาลรักษาการ สมช.ก็ไม่มีการสานต่อนโยบายการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่าง
 
ทั้งที่ก่อนหน้าที่จะมีการยุบสภา กลุ่มขบวนการผู้เห็นต่างที่นอกเหนือจากบีอาร์เอ็นไม่ว่าจะเป็น “พูโล” และ “บีไอพีพี” ตลอดจนกลุ่มอื่นๆ ต่างตกปากรับคำว่าจะเข้าร่วมในเวทีการพูดคุยกับ สมช.ด้วย!!
 
แต่วันนี้เวทีการพูดคุยต้องถือว่าได้ยุติลงแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นการชั่วคราว ก่อนที่จะมีรัฐบาลชุดใหม่ โดยยังมองไม่เห็นว่าจะมีหรือไม่ หรืออาจจะเป็นการยุติอย่างถาวร เพราะค่อนข้างจะมีข้อมูลที่ชัดเจนว่า การพูดคุยสันติภาพที่เกิดขึ้นระหว่างบีอาร์เอ็น กับ สมช.นั้น ไม่ใช่ความต้องการของแกนนำบีอาร์เอ็นที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ แต่เป็นความต้องการของมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้ที่ให้หลังพิงแก่ขบวนการบีอาร์เอ็น รวมถึงขบวนการอื่นๆ ที่ต้องการให้กลุ่มแบ่งแยกดินแดนเหล่านี้พูดคุยกับ สมช. เนื่องจากต้องการยุติปัญหาการใช้อาวุธก่อการร้ายเพื่อแบ่งแยกดินแดน
 
โดยมาเลเซียมีความต้องการให้มีการเจรจาระหว่างขบวนการแบ่งแยกดินแดนกับรัฐบาลไทย เพื่อให้บรรลุถึงสิ่งที่มาเลเซียต้องการ นั่นคือ “เขตปกครองพิเศษ” ซึ่งหากมีการจัดตั้งขึ้นได้จริงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย นั่นจะเป็น “รัฐกันชน” ที่ให้ประโยชน์แก่มาเลเซียเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในด้านความมั่นคง การเมือง และเศรษฐกิจ
 
เพราะมาเลเซียมีความมั่นใจว่า ผู้นำในเขตปกครองพิเศษในภาคใต้ของไทยพร้อมที่จะเชื่อ และทำตามนโยบายของมาเลเซีย มากกว่าที่จะเลือกเชื่อฟัง และทำตามรัฐบาลกลางที่ถืออำนาจรัฐไทยอย่างแน่นอน?!
 
ดังนั้น เมื่อเวทีแห่งการพูดคุยเพื่อสันติภาพหยุดลงอย่างที่เป็นอยู่ เท่ากับความหวังของ “ชาวไทยมุสลิม” ที่เป็น “สังคมใหญ่” ในพื้นที่ก็หมดสิ้นลงไปด้วย จึงเท่ากับว่า ณ ขณะนี้สถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงกลับสู่สภาพเดิม หรือเกมเดิมๆ
 
นั่นคือฝ่ายแนวร่วมใช้ปฏิบัติการสร้างความรุนแรง ทั้งจากการใช้ระเบิดแสวงเครื่อง การซุ่มโจมตีด้วยอาวุธสงคราม การวางเพลิง การฆ่าครู พระภิกษุ และประชาชนผู้บริสุทธิ์ อันเป็นรูปแบบที่เคยใช้ในพื้นที่มาโดยตลอด ในขณะที่ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ก็ใช้ยุทธการเดิมๆ คือ การติดตาม ตรวจสอบ ตรวจค้น จับกุม และวิสามัญแนวร่วม ซึ่งเมื่อแนวร่วม หรือแกนนำขบวนการเสียชีวิตก็จะมีการตอบโต้ด้วยการเอาคืนต่อเจ้าหน้าที่ และหากทำไม่ได้ก็จะเอาคืนต่อครู และชาวไทยพุทธผู้บริสุทธิ์นั่นเอง
 
แม้ว่าล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. และรอง ผอ.กอ.รมน. ซึ่งเดินทางมาติดตามคืบหน้าของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะกล่าวว่ากองทัพโดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มีการปรับนโยบายการดับไฟใต้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น นโยบายพาคนกลับบ้านในส่วนของผู้ที่ต้องการเลิกเป็นแนวร่วม หรือแกนนำที่ไม่มีคดีอาญา ส่วนผู้มีคดีอาญากองทัพก็จะได้ให้การช่วยเหลือเพื่อให้สามารถกลับคืนสู่บ้านเกิดได้ในที่สุด
 
หรือการที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มีแผนการในการบูรณาการกับ 17 กระทรวงหลัก 66 หน่วยงานในพื้นที่ เพื่อให้ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาได้ ทั้งด้านความมั่นคง และการพัฒนา เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพราะลำพังกองทัพไม่สามารถยุติปัญหาที่เกิดขึ้นได้
 
แน่นอนว่า สิ่งที่กองทัพคิด และทำนั้นเป็นเรื่องที่ดี โดยกองทัพเห็นว่าถูกต้อง แต่กองทัพน่าจะลืมคิดไปเรื่องหนึ่งว่า 17 กระทรวงหลัก กับ 66 หน่วยงานในพื้นที่เห็นด้วยหรือไม่ ในการที่จะเป็นผู้ที่ต้องอยู่ใต้ “โครงสร้าง” ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า??
 
หรือการที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ใช้คำว่า “บูรณาการ” กับหน่วยงานในพื้นที่นั้น เป็นความต้องการ และเห็นด้วยจากหน่วยงานเหล่านั้นหรือไม่??
 
ท่ามกลางการบูรณาการที่ “ไม่บูรณาการ” ระหว่างกองทัพ กับ 17 กระทรวงหลักนั้น สิ่งที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องป้องกันนั่นคือ “ข่าว” ที่หน่วยข่าวความมั่นคงระบุว่า ในวันที่ 2 ก.พ.ที่จะมีการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไปนั้น แกนนำขบวนการได้สั่งการให้แนวร่วมสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรง เพื่อทำลายอำนาจรัฐในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
และนี่คือปัญหาเร่งด่วนของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น?!?!
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น