xs
xsm
sm
md
lg

ดับไฟใต้ให้ได้ต้องพูดคุยกับ “แก่นแกนในพื้นที่” / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วันกาเดร์ เจะมาน อดีตประธานขบวนการเบอร์ซาตู (ภาพจากสำนักข่าวอิศรา)
 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
 
ในที่สุด “ครู” ก็ยังคงเป็นเหยื่อของสถานการณ์ความรุนแรง สถานการณ์การสู้รบในสภาวะของ “สงครามประชาชน” ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยที่ตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์รายล่าสุดถือเป็นลำดับที่ 170 คือ “ครูศุภกฤษ แซ่ลุ่ง” ครูโรงเรียนบ้านนิบง อ.กาบัง จ.ยะลา ซึ่งถูกแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนประกบยิงขณะที่ขับรถกลับบ้านที่ ต.นาจะแหน อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา
 
โดยครูศุภฤกษเสียชีวิตก่อนที่จะถึง “วันครู” เพียง 2 วัน
 
ไม่ต้องหาพยานหลักฐาน หรือเสาะหาดีเอ็นเออะไรก็ฟันธงได้ในทันที่ว่า ครูศุภกฤษ เสียชีวิตจากปฏิบัติการของแนวร่วมในพื้นที่ โดยมีวัตถุประสงค์ให้สถานการณ์เกิดความรุนแรง และยืนยันว่าขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ในพื้นที่ไม่สนใจในเรื่องการ “พูดคุยเพื่อสันติภาพ” ระหว่างรัฐไทยกับบีอาร์เอ็นฯ ที่ประเทศมาเลเซีย และแนวร่วมในพื้นที่ยังยืนยันที่จะใช้วิธีสร้างความรุนแรงเพื่อไปสู่สิ่งที่ต้องการ
 
และหลังจากนั้นเพียง 1 วัน เจ้าหน้าที่รัฐคนที่ 2 ที่ถูกแนวร่วมประกบยิงได้รับบาดเจ็บคือ นายนูรดี อับดุลราฮิม ปลัดอำเภอสายบุรี จ.ปัตตานี ขณะที่เดินทางกลับบ้าน
 
ทั้ง 2 รายที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่เสียชีวิต และบาดเจ็บ ต่างถูกกระทำในห้วงเวลาขณะ “เดินทางกลับบ้าน” อันแสดงให้เห็นว่าปฏิบัติการของแนวร่วมยังอยู่ในรูปแบบเดิมๆ คือ ฉวยโอกาสที่เจ้าหน้าที่เดินทางกลับบ้าน ลงมือปฏิบัติการ ซึ่งคงจะชี้ให้เจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยเห็นว่า การรักษาความปลอดภัย การ รปภ.เส้นทางยังมีช่องว่างให้แนวร่วมปฏิบัติการต่อเป้าหมาย
 
นี่คือ “จุดอ่อน” ที่หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องดำเนินการแก้ปัญหาให้ได้เร็วที่สุด
 
นอกจากจะเกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่รัฐทั้ง 2 รายแล้ว ยังมีเหตุการณ์รายวันคือ การซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจเกิดขึ้นตลอดเวลา มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต หรือบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง แต่ที่น่าสังเกตจะพบว่าเป้าหมายหลักในการปฏิบัติการซุ่มโจมตีด้วยระเบิดแสวงเครื่อง และการซุ่มยิง ได้แก่ กองกำลังของ “ทหารพราน” ในพื้นที่
 
เหตุผลที่ทหารพรานตกเป็นเป้าของการโจมตีมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการปรับโครงสร้างของ “กองทัพภาค 4” ของ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ที่มีการบรรจุทหารพรานแทนที่ทหารหลักมากยิ่งขึ้น
 
ดังนั้น ในพื้นที่จึงมี “ทหารดำ” มากขึ้น จึงกลายเป็นเป้าของการโจมตีง่ายขึ้น
 
ในขณะเดียวกัน ทหารพราน หรือทหารดำ เป็นหน่วยงานที่มี “ต้นทุนทางสังคมต่ำ” ในทัศนคติของคนในพื้นที่ ดังนั้น การที่ทหารพรานถูกฆ่า ถูกทำร้าย จึงไม่ได้รับการปกป้องจากประชาชนในพื้นที่
 
สิ่งที่น่าสังเกตสำหรับสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ แม้ว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะมีตัวเลขยืนยันถึงผลสัมฤทธิ์ในการปฏิบัติการของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าว่า 3 เดือนก่อนที่จะสิ้นปี 2556 สถานการณ์ก่อความไม่สงบดีขึ้น เพราะมีตัวเลขที่ชี้ชัดว่าการก่อเหตุร้ายลดลง คนตาย และบาดเจ็บลดลงกว่าปี 2555
 
แต่ข้อเท็จจริงที่น่าเป็นห่วงคือ สถานการณ์การก่อการร้ายในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา เพิ่มมากขึ้น และมีพื้นที่ อ.สะเดา จ.สงขลา ที่ไม่เคยมีการก่อเหตุร้ายเลยตั้งแต่ปี 2547 กลายเป็นพื้นที่การก่อการร้ายด้วยคาร์บอมบ์ 3 จุดพร้อมกันเมื่อปลายเดือน ธ.ค.2556 ที่ผ่านมา
 
นี่คงจะแสดงให้เห็นว่า นับตั้งแต่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ส่งคืนพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลาให้แก่ฝ่ายปกครอง และตำรวจเป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่ต้นปี 2556 เป็นต้นมานั้น ฝ่ายปกครอง และตำรวจยังไม่มีความพร้อม และไม่มีประสิทธิภาพในการทำให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ปลอดภัย
 
และหลังจากที่กำลังของทหารออกจากพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้กลายเป็นที่ “ซ่องสุม” กำลังของแนวร่วมให้มีความเข้มแข็งจนสามารถออกปฏิบัติการก่อการร้ายได้อย่างเดิม
 
มีเหตุผลที่รองรับได้คือ มีปฏิบัติการวางระเบิด ซุ่มโจมตี วางเพลิง เกิดขึ้นทั้งใน อ.เทพา อ.นาทวี อ.จะนะ มีการวางระเบิดและยิงครูที่ อ.สะบ้าย้อย จากข้อมูลล่าสุดกลุ่มแนวร่วมที่วางระเบิดคาร์บอมบ์ และ จยย.บอมบ์ที่ อ.สะเดาใน 3 จุดเป็นแนวร่วมในพื้นที่ อ.เทพา และเป็นแนวร่วมชุดเดียวกับที่วางระเบิดคาร์บอมบ์ที่ใต้ถุนลานจอดรถยนต์ของโรงแรมลีการ์เดนส์ พลาซ่า หาดใหญ่ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว
 
จึงแสดงให้เห็นว่า สถานการณ์ความไม่ปลอดภัยในพื้นที่ จ.สงขลานั้น ตกอยู่ในสภาวะที่ “ล่อแหลม” ต่ออันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น และจะมีการขยายพื้นที่ก่อการร้ายเข้าสู่ อ.สะเดา อ.หาดใหญ่ และ อ.เมืองสงขลา ซึ่งเป็น 3 พื้นที่เศรษฐกิจ การลงทุน การท่องเที่ยว และการศึกษาสำคัญยิ่ง
 
เพราะเมื่อ 4 อำเภอที่เป็นพื้นที่ “สีแดง” คือ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย อันเป็นพื้นที่ซ่องสุมกำลังของแนวร่วมมีความเข้มแข็ง มีความมั่นคง การส่งแนวร่วมเข้าปฏิบัติการยังพื้นที่ เศรษฐกิจที่อยู่ติดกันจึงทำได้ไม่ยากนัก
 
ณ วันนี้ในพื้นที่ทั้ง 3 อำเภอดังกล่าวคือ อ.สะเดา อ.หาดใหญ่ และ อ.เมืองสงขลา มีประชากรแฝงจากพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงคือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เข้าไปอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และประชากรแฝงส่วนหนึ่งเข้ามาเพื่อดำเนินการธุรกิจผิดกฎหมาย เช่น การค้ายาเสพติด และการค้าน้ำมันเถื่อน
 
ซึ่งทั้ง 2 อาชีพคือ สมาชิกของ “อาร์เคเค” รวมทั้ง “เม็ดเงิน” จากการค้าสิ่งของผิดกฎหมายส่วนหนึ่งนำไปใช้เพื่อก่อการร้าย
 
ดังนั้น สถานการณ์ของ จ.สงขลา จึงเป็นสถานการณ์ที่ล่อแหลมต่อการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ 3 อำเภอดังกล่าว เพื่อเป็นการ “ต่อยอด” ในการขยายพื้นที่ปฏิบัติการของบีอาร์เอ็นฯ ซึ่ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะต้องมีแผนในการป้องกัน และแผนเชิงรุกกับแนวร่วมใน 4 อำเภอของ จ.สงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ซ่องสุมกำลัง และใช้เคลื่อนไหวเพื่อก่อการร้าย
 
การปล่อยให้ฝ่ายปกครองกับตำรวจรับผิดชอบอย่างเดิม คงจะไม่ทำให้สถานการณ์ของ จ.สงขลาดีขึ้น
 
สุดท้ายสิ่งที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศอ.บต. รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ ที่มีหน้าที่ต้องเร่งดำเนินการคือ การพูดคุยกับ “แกนนำภายในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้” ให้มากกว่าจะพูดคุยกับ “แกนนำที่อยู่นอกประเทศ” ไม่ว่าจะในมาเลเซีย สวีเดน และประเทศอื่นๆ
 
อย่างที่ “วันกาเดร์ เจะมาน” อดีตประธานขบวนการเบอร์ซาตู ได้บรรยายในหลายสถานที่ว่า การแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐต้องให้ความสำคัญในการพูดคุยกับแกนนำหรือผู้สั่งการในพื้นที่ ให้มากกว่าแกนนำ หรือองค์กรในต่างประเทศ
 
อีกทั้งอย่าหวังพึ่งพาประเทศมาเลเซียเป็นหลักในการยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้น เหตุผลเพราะ“ องค์กรนำ” ในพื้นที่ไม่สามารถควบคุมหรือสั่งการ “แกนนำ” ในพื้นที่ได้ และในขณะเดียวกันมาเลเซียก็มี “นัย” ที่แอบแฝงอยู่หลายประการ
 
ต้นทุนทางสังคมของ “วันกาเดร์ เจะมาน” ที่เคยสูง วันนี้อาจจะต่ำลงบ้าง เพราะการกลับสู่บ้านเกิดที่ จ.ปัตตานี ถูกมองว่า กอ.รมน.อยู่เบื้องหลังตามโครงการพาคนกลับบ้านของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
 
แต่หลายเรื่องที่ “วันกาเดร์ เจะมาน” ได้พูดถึงล้วนเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการเปิดพื้นที่พูดคุยกับแกนนำในพื้นที่
 
ทั้งนี้ “ผู้เขียน” ได้เขียนถึง และเรียกร้องให้หน่วยงานความมั่นคงดำเนินการพูดคุยกับแกนนำในพื้นที่มากว่า 2 ปี แต่ยังไม่เห็นหน่วยงานไหนที่ทำกันอย่างจริงจัง
 
ทั้งที่นี่คือ “ทางออก” ที่ดีที่สุดสำหรับสถานการณ์ความรุนแรงของไฟใต้ที่เกิดขึ้น
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น