สตูล - รัฐบาลผุดไอเดีย ให้เอกชนร่วมสร้างที่พักในอุทยานฯ นำร่องที่ อช. ตะรุเตา และ อช.กุยบุรี ยกระดับดึงดูดการท่องเที่ยวไทย ด้านผู้ประกอบการท่องเที่ยวสตูล หวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม
วันนี้ (12 พ.ย.) นายปณพล ชีวะเสรีชล หัวหน้าอุทนายแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา ยอมรับว่า ทางรัฐบาล และทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการส่งหนังสือถึงส่วนราชการในสังกัด เรื่อง โครงการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และท่องเที่ยว ที่มีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยที่ประชุมมีมติให้กรมอุทยานฯ ดำเนินการพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวใหม่ โดยให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการอุทยานฯ เช่น การสร้างโรงแรมที่พัก ร้านขายของที่ระลึก และงานด้านบริการ มีสิ่งอำนวยความสะดวกในเรื่องการจัดหาเครื่องบิน รถยนต์ รถโดยสาร และการท่องเที่ยวอื่นๆ อีกทั้งให้ชาวบ้านเข้าร่วมในทุกกิจกรรม เช่น การแสดงวิถีชีวิตวัฒนธรรม การขับรถนำเที่ยว โดยให้เลือกอุทยานแห่งชาติเพื่อนำร่องในการดำเนินการ 2 แห่ง ได้แก่ อุทยานฯ ทางบก คือ อุทยานฯ กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และอุทยานฯ ทางทะเล คือ อุทยานฯ ตะรุเตา จ.สตูล
นายปณพล ชีวะเสรีชล หัวหน้าอุทนายแห่งชาติหมู่เกาะตุรุเตา กล่าวว่า ในส่วนของอุทยานฯ ตะรุเตา จากการที่นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการในประเทศไทย โดยให้ดำเนินการพัฒนาเพิ่มศักยภาพในการท่องเที่ยวปรับปรุงรูปแบบการท่องเที่ยว พัฒนาที่พัก และบริการ โดยสนับสนุนภาคเอกชนทำหน้าที่ด้านบริการ เน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับสูง (ไฮเอนด์) และมีระยะเวลาในการพักผ่อนยาวนาน
หัวหน้าอุทนายแห่งชาติหมู่เกาะตุรุเตา กล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการสืบเนื่องจากการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปเยือนต่างประเทศได้เห็นรูปแบบการจัดการท่องเที่ยวในอุทยานฯ จึงอยากให้ไทยมีการดำเนินการในลักษณะดังกล่าว ซึ่งในต่างประเทศมีการให้ภาคเอกชนสร้างโรงแรมที่พักในพื้นที่อุทยานฯ และเขตรักษาพันธุ์ฯ ได้เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่ของเมืองไทยทำไม่ได้ สภาพทุกวันนี้คือ พักได้ 10-20 คน และต้องจองล่วงหน้า 3-4 เดือน ดังนั้น จึงน่าจะมีการให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการในพื้นที่อุทยานฯ ตะรุเตากับกุยบุรีให้เป็นพื้นที่นำร่อง ซึ่งถือว่าขณะนี้ยังอยู่ในการแต่งตั้งคณะกรรมการเสร็จแล้ว และรอนำคณะกรรมการลงสำรวจศึกษาความเป็นไปได้ เพื่อที่จะดูว่าผลกระทบเป็นอย่างไร มีคนสตูลคัดค้านเห็นด้วยหรือไม่ และกระแสสังคมตอบรับมีไหม
นายอติพล ดำพิลา ผู้ประกอบการท่องเที่ยวทัวร์ใน จ.สตูล กล่าวว่า เรื่องที่ทางรัฐบาลจะขยายให้เอกชนเข้ามาบริหารการท่องเที่ยวใน จ.สตูล ก็ถือว่าเป็นแนวคิดที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว แต่เมื่อทางเอกชนมาดูแลจัดการเรื่องที่พัก ที่จัดอาหารหลายๆ เรื่องบนพื้นที่ทางอุทยานฯ ที่ตนเองมีสิทธิหากรัฐบาลเปิดโอกาสให้ และให้ทางอุทยานเป็นเพียงคนดูแลรอบนอก ก็หวั่นว่าพื้นที่ทางอุทยานฯ ที่ทางเอกชนเข้ามาดูแลจะเข้าไปทำลายต่อเติมของเก่าๆ สูญหาย และพังไป และตนเองก็อยากให้เป็นเหมือนเดิม หากทำเป็นพื้นที่นำร่องก็ควรจัดสรรงบประมาณให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐดูแลให้เต็มที่มากกว่าเดิม เพราะทางเจ้าหน้าที่รัฐถือกฎหมายอยู่ก็จะเข้าดูแลได้ดีกว่าเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่เอกชนบางรายมักจะทำงานเห็นแก่ตัว มักจะมีส่วนน้อยที่เห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติเพื่อประเทศไทย