xs
xsm
sm
md
lg

คิดดีแล้วหรือ?? กับไอเดียเซ้งอุทยานเปิดป่าหากิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ช้างป่าในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี
ช่วงนี้หลายๆ คนกำลังตื่นตัวกับกระแสอนุรักษ์ธรรมชาติ หลังจากที่เพิ่งมีกรณีศึกษาที่คนเกือบทั้งเมืองลุกมาคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ไปหมาดๆ แต่ก็น่าแปลกใจที่รัฐบาลก็ยังสรรหาโครงการรุกรานธรรมชาติออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล เขื่อนแม่แจ่ม เขื่อนแม่ขาน จ.เชียงใหม่ ฯลฯ

และเมื่อเร็วๆ นี้ก็เพิ่งมีอีกหนึ่งโครงการนำป่ามาหากินอีกครั้ง เมื่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จะดำเนินการพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวใหม่ในพื้นที่อุทยานฯ โดยเมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่ผ่านมา ทส. ได้ส่งหนังสือถึงส่วนราชการในสังกัด เรื่องโครงการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและท่องเที่ยว ที่มีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยได้มีการประชุมร่วมกับนายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสมศักดิ์ ภูรีศรีศักดิ์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ในการประชุมนั้น ที่ประชุมมีมติให้กรมอุทยานฯ ดำเนินการพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวใหม่ ในพื้นที่อุทยานฯ โดยให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการอุทยานฯ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงแรมที่พัก สิ่งอำนวยความสะดวก ร้านขายของที่ระลึก และได้เลือกอุทยานแห่งชาติเพื่อนำร่องในการดำเนินการ 2 แห่ง คืออุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และอุทยานแห่งชาติตะรุเตา จ.สตูล
ฝูงกระทิงออกหากินในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี
ทั้งนี้ นายปลอดประสพกล่าวว่า โครงการดังกล่าว (กุยบุรี) เป็นโครงการสืบเนื่องจากการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปิ๊งไอเดียจากการเดินทางไปยังประเทศแทนซาเนียและเคนยา ได้เห็นรูปแบบการจัดการท่องเที่ยวในอุทยานฯ จึงอยากให้ไทยมีการดำเนินการในลักษณะดังกล่าว ในส่วนของอุทยานแห่งชาติตะรุเตา มาจากการที่นายกรัฐมนตรีได้เยือนมัลดีฟส์ และได้เห็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเล มีการก่อสร้างอาคารที่พักในทะเล ทำให้นักท่องเที่ยวได้ใกล้ชิดธรรมชาติ จึงมอบหมายให้หน่วยงานศึกษาความเป็นไปได้ในประเทศไทย

เหล้าเก่า...ในขวดใหม่

สำหรับแนวคิดที่จะให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการอุทยานแห่งชาตินี้ไม่ใช่แนวคิดใหม่แต่อย่างใด แต่มีมาหลายครั้งแล้ว อย่างในครั้งล่าสุดเมื่อปี 2551 ทส. ได้ประกาศเปิดอุทยานแห่งชาติ 10 แห่ง นำร่องให้เอกชนเข้ามาบริหารพื้นที่จัดการบริการ ในครั้งนั้นมีการเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และเครือข่ายคนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็ได้ไปรวมตัวกันให้ความเห็นคัดค้านจนต้องสุดท้ายโครงการก็ต้องพับไป จนมาในวันนี้ โครงการเดิมๆ กลับมาอีกครั้ง

คมฉาน ตะวันฉาย คอลัมนิสต์ นักเดินทาง และประธานชมรม OK Nature Club ผู้ที่เคยเข้าร่วมอภิปรายในเวทีสาธารณะในการเปิดสัมปทานอุทยานแห่งชาติให้เอกชนเช่าเมื่อปี 2551 มาในครั้งนี้ คมฉานยังคงมีแนวคิดไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้เช่นเดิม โดยกล่าวว่า

“หน่วยงานที่ดูแลรักษาป่ามองตัวเองว่าเป็นเจ้าของป่า อยากจะให้ใครมาทำอะไรในพื้นที่ป่าก็ได้ แต่จริงๆ ไม่ใช่ ป่าเป็นของคนไทยทั้งหมด คนที่เป็นข้าราชการมีหน้าที่ในการเข้าไปดูแลรักษาป่าแทนคนไทยทั้งประเทศ คุณไม่มีสิทธิ์เอาป่าไปให้ใครทำอะไรก็ได้ ตอนนี้ราชการไทยหลงทาง คิดว่าธรรมชาติอุทยานแห่งชาติเป็นของราชการ ไม่ใช่ของประชาชน ซึ่งมันไม่ใช่”
นักท่องเที่ยวบางคนเลือกจะมาส่องสัตว์ในช่วงเย็น แล้วกลับไปนอนในตัวเมืองหัวหินหรือปราณบุรี
“ลำพังแค่ทางราชการเป็นผู้บริหาร อุทยานแห่งชาติก็ยังออกไปผิดรูปผิดแนว แล้วยิ่งถ้าเอกชนเข้ามาบริหาร หลักการของเอกชนคือมองผลกำไรขาดทุน เรื่องการอนุรักษ์จะเป็นเรื่องรอง ถ้าเป็นส่วนราชการเขาอาจจะฟังเสียงชาวบ้านบ้าง แต่ถ้าเป็นเอกชนได้สัมปทานเขาอาจจะไม่ฟังเสียงชาวบ้านในการแสดงความคิดเห็น” คมฉานกล่าว

เป้าประสงค์อุทยานฯ เพื่ออนุรักษ์หรือเพื่อความสบาย??

อีกเหตุผลหนึ่งที่นายปลอดประสพอยากให้เอกชนเข้ามาสร้างโรงแรมที่พักเนื่องจากมองว่าที่พักของอุทยานฯ ทุกวันนี้มีไม่เพียงพอ โดยนายปลอดประสพกล่าวว่า สภาพทุกวันนี้พักได้ 10-20 คน และต้องจองล่วงหน้า 3-4 เดือน ดังนั้นจึงน่าจะมีการให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการในพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะที่ อช.ตะรุเตาที่ต้องการจะสร้างที่พักเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวระดับไฮเอนด์เลยทีเดียว แต่จริงๆ แล้วจำนวนที่พักในอุทยานทั้งสองแห่งนั้นไม่เพียงพอจริงหรือไม่?

เมื่อดูข้อมูลจากเว็บไซต์ของอุทยานแห่งชาติกุยบุรี พบว่ามีบ้านพักของอุทยานฯ จำนวน 2 หลัง พักได้ 6 คน/หลัง รวมเป็น 12 คน นอกจากนั้นทางอุทยานฯ ยังมีสถานที่กางเต็นท์และเต็นท์ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว แต่ทั้งนี้ ที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติกุยบุรีอยู่ห่างจาก อ.หัวหิน และ อ.ปราณบุรี ไม่มากนัก สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ในเวลาประมาณไม่เกิน 2 ชม. โดยทั้งที่หัวหินและปราณบุรีมีที่พักให้เลือกมากมายตั้งแต่ระดับเกสต์เฮ้าส์ราคาถูกไปจนถึงโรงแรมรีสอร์ทหรู 5 ดาว
น้ำใสๆ ที่หาดพัทยา เกาะหลีเป๊ะ ในอุทยานแห่งชาติตะรุเตา
ส่วนที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ข้อมูลจากเว็บไซต์ของอุทยานฯ แสดงให้เห็นว่ามีที่พักของอุทยานฯ บนเกาะตะรุเตาและเกาะอาดังมากถึง 88 ห้อง รับนักท่องเที่ยวได้ทั้งหมด 300 คน รวมทั้งยังมีสถานที่กางเต็นท์ให้บริการแก่นักท่องเที่ยว และยังไม่นับรวมที่พักโรงแรมรีสอร์ทของเอกชนบนเกาะหลีเป๊ะที่มีให้เลือกอีกหลายแห่ง

ส่วนเรื่องการจองที่พักที่ต้องจองล่วงหน้า 3-4 เดือนนั้น หากเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวก็เป็นธรรมดาที่ที่พักจะถูกจองเต็ม ไม่ว่าโรงแรมที่ใดๆ ก็ต้องจองล่วงหน้าเหมือนกันหมด

“ถ้ามองว่าต้องการอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว อยากให้กลับไปมองวัตถุประสงค์ของการแต่งตั้งอุทยานแห่งชาติ ว่ามีเพื่ออนุรักษ์พื้นที่ป่าของชาติ หรือเพื่อการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งวัตถุประสงค์หลักคือการการสงวนพื้นที่ธรรมชาติ ส่วนการท่องเที่ยวเป็นเรื่องรอง ดังนั้นถ้าคุณต้องการที่จะรักษาพื้นที่ธรรมชาติเป็นหลัก คุณต้องไม่ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวมากจนเกินไป และสิ่งที่ควรทำคือให้ประชาชนเรียนรู้ธรรมชาติในเรื่องของความเป็นธรรมชาติจริงๆ ไม่ใช่หมายความว่าคุณจะเข้าไปสัมผัสธรรมชาติโดยการเข้าไปนอนในโรงแรมที่อยู่ในป่า” คมฉานกล่าว และว่า

“กฎระเบียบคุณมันขัดแย้งกันเอง ถ้าต้องการสงวนรักษาธรรมชาติไว้ก็ต้องไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปในพื้นที่มากจนเกินไป เอาปริมาณเท่าที่ธรรมชาติรองรับได้ ไม่ได้หมายความว่านักท่องเที่ยวเยอะต้องสร้างโรงแรมให้พอกับนักท่องเที่ยว นั่นไม่ใช่ปัญหาของอุทยาน เรามีที่พักอยู่เท่านี้ ถ้านักท่องเที่ยวอยากจะเข้ามาก็จำเป็นที่จะต้องจองคิวหรือรอ หรือมากางเต็นท์นอน แต่ถ้าเราอยากให้คนเข้าไปเรียนรู้ธรรมชาติ เราต้องไม่เอาสิ่งอำนวยความสะดวกเข้าไปในพื้นที่ธรรมชาติมากจนเกินไป สิ่งที่เราต้องการคือสร้างป่าในเขตเมืองหรือเขตชุมชนด้วยซ้ำ เราอย่าเอาเมืองเข้าไปในป่า”
เกาะรอกลอย หนึ่งในหมู่เกาะของอุทยานแห่งชาติตะรุเตา
“คนที่เข้าไปในอุทยานแห่งชาติเขาเตรียมใจไว้แล้วว่าจะต้องเจอแบบไหน เขาไม่ได้กะว่าจะไปนอนโรงแรมดีๆ หรูๆ ถามหน่อยว่าทำไมต้องเอาโรงแรมไปสร้างในกุยบุรี ทั้งที่มันห่างจากหัวหินไม่เท่าไร ทุกวันนี้นักท่องเที่ยวก็ไปเที่ยวตอนเย็น ดูช้างดูกระทิงเสร็จก็กลับมานอนในเมือง เขาทำอย่างนั้นกันอยู่แล้ว คุณยังต้องเอาโรงแรมไปไว้ในป่าเพื่ออะไร และทำไมอุทยานต้องส่งเสริมเฉพาะกลุ่มไฮเอนด์ด้วย คนทั่วไปมีสิทธิ์ในอุทยานแห่งชาติเหมือนกันไหม ถ้าคุณเห็นว่าการบริหารจัดการในอุทยานมันไม่ทันสมัย ก็ต้องอบรมพนักงาน ต้องกระตุ้นจิตสำนึกในการบริหารพื้นที่ขึ้นมา มากกว่าจะทำแบบนี้” คมฉาน กล่าว

“สิ่งที่น่าจะทำตอนนี้ก็คือการให้ความสนใจกับเรื่องสวัสดิการ เรื่องความเป็นอยู่ของบรรดาลูกจ้างในอุทยานแห่งชาติ ที่เขาไปออกลาดตระเวนในป่า ที่เขาไปถูกยิงตายที่ทุ่งใหญ่ตะวันออก ที่เขาเสียชีวิตในการลาดตระเวนรักษาป่า โดยที่รับเงินเดือนแค่ 7,200 บาท โดยที่ไม่มีสวัสดิการใดๆ รัฐควรกลับมาสนใจลูกจ้างพวกนี้เพื่อให้เขามีกำลังใจ เพื่อให้เขามีจุดมุ่งหวังในชีวิตว่าถ้าเขาเป็นอะไรไป ลูกเมียเขาก็ไม่เดือดร้อน เพื่อให้เจ้าหน้าที่เหล่านี้ทุ่มเทสติปัญญาและมีขวัญกำลังใจในการรักษาป่า รักษาทรัพย์สมบัติของชาติ ไม่ใช่เอาป่ามาเป็นช่องทางในการทำมาหากิน” คมฉาน กล่าวปิดท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น